Lifestyle

เหรียญรุ่นแรก 'หลวงปู่บุญใหญ่'วัดเจดีย์คีรีวิหาร พ.ศ.๒๔๘๐

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ต้น อ้อมน้อย 

 


          "เพชรน้ำเอกแห่งอำเภอลับแล" พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญฺโญ) อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์คีรีวิหาร และเจ้าคณะแขวงเอกเมืองพิชัย ชาติภูมิ นามเดิม บุญ พุฒเนียม เกิดเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๔๑๕ โยมบิดาชื่อ หม่อม โยมมารดาชื่อ แก้ว มีพี่น้องร่วมอุทรเดียวกัน ๓ คน คือ ๑.นางแตะ พุฒเนียม ๒.นางคำ สุขวุ่น และ ๓.หลวงปู่บุญใหญ่

 


          ในสมัยเด็กท่านมีความสนใจใฝ่ศึกษาในทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เมื่ออายุ ๑๒ ปี โยมบิดามารดานำไปฝากเป็นศิษย์ หลวงพ่อน้อย วัดป่ายาง ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและอักขระสมัยจนมีความรู้แตกฉาน และได้บรรพชาเป็นสามเณร พออายุครบ ๒๐ ปี ท่านได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์โดยมี หลวงพ่อน้อย วัดป่ายาง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายาทางธรรมว่า "อินทปญฺโญ"

 

เหรียญรุ่นแรก 'หลวงปู่บุญใหญ่'วัดเจดีย์คีรีวิหาร พ.ศ.๒๔๘๐

 


          เมื่อดำรงอยู่ในสมณเพศแล้วท่านได้อยู่ปรนนิบัติหลวงพ่อน้อย พระอุปัชฌาย์ ตามธรรมเนียม ศึกษาพระปริยัติธรรมและปฏิบัติธรรมควบคู่กันไป ต่อมาได้กราบลาพระอุปัชฌาย์ไปจำพรรษาที่วัดทุ่งเอี้ยง เพื่อจะได้อยู่ใกล้โยมบิดามารดา


          ในปี ๒๔๕๓ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ วัดราชบพิธ เสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ ประทับที่วัดทุ่งเอี้ยง ได้ทอดพระเนตรเห็นเจดีย์เก่าองค์หนึ่งซึ่งชาวบ้านแถวนั้นเรียกกันว่า วัดป่าแก้ว ตรัสถามหลวงปู่ว่า “นั่นเป็นวัดหรืออย่างไร เห็นเจดีย์เก่าแก่อยู่”


          หลวงปู่ได้กราบทูลว่า “เป็นวัดร้างมานานแล้ว ชาวบ้านเรียกว่าวัดป่าแก้ว”


          สมเด็จพระสังฆราชเจ้าจึงตรัสถามหลวงปู่บุญใหญ่อีกว่า “วัดร้างนั้นอยู่ในทำเลที่ดี อยู่บนเนินที่สูงไม่มากนัก อีกทั้งเจดีย์เก่าอยู่ ข้าพเจ้าว่าคงเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง น่าจะบูรณะซ่อมแซม และไปอยู่ที่นั่น ถ้าท่านจะไปบูรณะและไปอยู่จริงข้าพเจ้าจะตั้งชื่อให้ใหม่ว่า วัดเจดีย์คีรีวิหาร”


          ในปีถัดมาหลวงปู่บุญใหญ่พร้อมด้วยชาวบ้านได้ช่วยบูรณะซ่อมแซมเจดีย์ อุโบสถและสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ขึ้นใหม่ เมื่อแล้วเสร็จจึงได้ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดเจดีย์คีรีวิหาร โดยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ "พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร" เจ้าคณะแขวงเอกเมืองพิชัย มณฑลพิษณุโลก สืบต่อตามลำดับ


          สำหรับวัตถุมงคลที่ลงในคอลัมน์นี้เป็น เหรียญรุ่นแรก ที่สร้างขึ้นในคราวฉลองตราตั้งอุปัชฌาย์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐ ลักษณะเหรียญทรงกลม ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่บุญใหญ่ครึ่งองค์ ด้านหลังเป็นยันต์ “นะโมพุทธายะ” และ “มะอะอุ” บรรจุในตาราง เป็นเหรียญเนื้อทองแดง สนนราคาในปัจจุบันอยู่ที่หลักหมื่นต้นๆ นับเป็นอีกหนึ่งเหรียญที่หาชมยากของจังหวัดอุตรดิตถ์

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ