ไลฟ์สไตล์

ตำนานพระกริ่งอู่ทอง (๓)

ตำนานพระกริ่งอู่ทอง (๓)

27 เม.ย. 2562

คอลัมน์...  ตามรอย...ตำนานแผ่นดิน/  โดย...  เอก อัคคี (facebook.com/ake.akeakkee) 

 

 

          วัดเขาทำเทียม ตั้งอยู่ตำบลอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เป็นวัดเก่าแก่มาแต่โบราณ สันนิษฐานว่าจะเป็นวัดแห่งแรกในประเทศไทย หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 300 ปี พระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระ ได้สังคายนา ครั้งที่ 3 โดยมีพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นองค์อุปถัมภ์ ณ เมืองปาฏลีบุตร และได้ส่งสมณทูตพระอรหันต์ปัญจวคคีย์ ได้แก่ พระสณะ พระมุนียเถระ พระฌานีเถระ พระภูริยเถระและพระอุตตรเถระ ออกเผยแพร่พระพุทธศาสนายังเมืองสุวรรณภูมิ และได้จารึกภาษาสันสกฤตโบราณไว้ว่าปุษยคิริ หรือปุษยคีรีแปลว่า ภูเขา ดอกไม้ เนื่องจากบนภูเขามีดอกไม้ที่สวยงาม ประกอบด้วย ดอกสุพรรณิกา (สมอฝ้าย) ดอกงิ้วป่าสามสี เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่ชื่อ ปุษยคิริ ไปพ้องกับภูเขาปุษยคีรีสังฆาราม ในเมืองสาญจี รัฐโอริสสา

 

 

          วัดเขาทำเทียมมีชื่อเรียกหลายชื่อ วัดเขาธรรมเธียร วัดเขาคำเทียม วัดเขาถ้ำเทียมสวรรค์ วัดเขาทำเทียม ชื่อเขาธรรมเธียร แปลว่าที่อยู่ของนักปราชญ์ผู้ฉลาดในธรรม และเขาคำเทียม ปรากฏในหนังสือรายงานตรวจราชการของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ร.ศ.122 (พ.ศ.2446) อยู่ด้านทิศตะวันตกของเมืองอู่ทอง

 

 

ตำนานพระกริ่งอู่ทอง (๓)

 


          เขาถ้ำเทียมสวรรค์ หมายถึง เพิงผาหน้าถ้ำของวัดอยู่บนที่สูง ก็เลยได้ชื่อว่าถ้ำเทียมสวรรค์ และชื่อว่าวัดเขาทำเทียมนั้น น่าจะหมายถึงวัดที่สร้างขึ้นคู่กับวัดเขาพระ คำว่า เทียม หมายถึงคู่กัน จึงมักมีคนพูดว่าวัดเมียหลวง เมียน้อย ได้ขออนุญาตสร้างวัดพร้อมกันกับวัดเขาพระ เมื่อปีพุทธศักราช 2460 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปีพุทธศักราช 2471 เนื่องจากวัดเขาทำเทียมชุมชนไม่หนาแน่น การพัฒนาเกี่ยวกับศาสนวัตถุ ค่อนข้างลำบาก ล่าช้า

 

 

          ศาสนวัตถุที่อยู่ในบริเวณวัดประกอบด้วยพระอุโบสถเก่า สร้างในสมัยต้นๆ กรุงศรีอยุธยา และเจดีย์หมายเลข 12 ฐานเจดีย์สร้างในสมัยอยุธยา พระพุทธรูปเก่าๆ ที่พบที่วัดเขาทำเทียมนั้น ปัจจุบันนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ และเสมาธรรมจักรที่สมบูรณ์ที่สุด สวยงามที่สุด ขุดค้นพบในในปี พ.ศ.2519 โดย นายธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้น


 

 

 

ตำนานพระกริ่งอู่ทอง (๓)

 

 


          หลักฐานที่สนับสนุนว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดแห่งแรกในประเทศไทยก็คือ บันทึกของนักโบราณคดีอินเดียระบุว่า การเดินทางไปอินเดียเพื่อศึกษาแก่นแท้พระพุทธศาสนาของหลวงจีนเหี้ยนจังหรือสำเนียงกลางว่าเสวียนจั้ง玄奘(พระถังซำจั๋ง) ในพุทธศตวรรษที่ 12 ท่านได้บันทึกสิ่งที่พบเห็นตลอดการเดินทางในช่วงเวลานั้นไว้อย่างละเอียด เมื่อพระถังซำจั๋งได้เดินทางมาถึงแคว้นอุฑร ก็ได้บันทึกไว้ว่ามีสถูปกว่า 10 องค์ เป็นสถานที่ที่พระตถาคตเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนา “พระเจ้าอโศกมหาราช” ทรงสร้างไว้ในหุบเขาอันเป็นพรมแดนด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ (แคว้นอุฑร) มีอารามชื่อ “ปุษปคีรีฆาราม” สถูปหินในอารามศักดิ์สิทธิ์มาก
จนกระทั่งในปี พ.ศ.2539-2544 นักโบราณคดีได้สำรวจพบพุทธสถานโบราณที่เนินเขาลังกุฏี ในรัฐโอริสสา อินเดีย พวกเขาขุดพบหลักฐานและจารึกมากมายที่ยืนยันได้ว่าบริเวณนี้คือ “ปุษปคีรีมหาวิหาร” หรือ "ภูเขาปุษยคีรี” สังฆารามที่พระถังซำจั๋งได้กล่าวไว้ในบันทึกหลักฐานสำคัญที่พบที่เนินเขาลังกุฏี ชี้ชัดว่าสร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช คือซากปรักหักพังของพระสถูปหินทรงโอคว่ำ สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษที่พบในบริเวณพระสถูปเป็นจารึกหินชิ้นหนึ่งที่สลักพระนามพระเจ้าอโศกมหาราชไว้ถอดความได้ว่า “chhi karena ranja asokhena” หรือราชาอโศก และพระรูปพระเจ้าอโศกมหาราชแกะด้วยหินคอนดาไลด์พระรูปแกะสลักพระเจ้าอโศกที่ขุดพบครั้งนี้สร้างความตื่นเต้นให้นักโบราณคดีอินเดียเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการพบพระรูปเดี่ยวของพระเจ้าอโศกมหาราชในอินเดียเป็นครั้งแรก พร้อมกับจารึกหินระบุพระนามในบริเวณเดียวกัน

 

 

 

ตำนานพระกริ่งอู่ทอง (๓)

 


          เมื่อพิจารณาถึงชื่อเสียงของพระสถูปที่ปุษยคีรีสังฆารามในสมัยที่พระถังซำจั๋ง (พุทธศตวรรษที่ 12) ก็อาจให้คิดต่อไปได้ว่าพระสถูปและวิหารที่แคว้นกลิงคะ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น (ราวพุทธศตวรรษที่ 3) คงจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในหมู่พุทธศาสนิกชนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งพ่อค้านักบวชที่เดินทางจากเมืองท่าทางทะเลที่แคว้นกลิงคะไปค้าขาย และเผยแผ่ศาสนายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือสุวรรณภูมิ เนื่องจากเมืองท่ากลิงคะเป็นหนึ่งในเมืองท่าโบราณสำคัญที่ชาวอินเดียใช้เดินเรือไปมาหาสู่กับเมืองท่าสำคัญในสุวรรณภูมิสมัยพุทธศตวรรษที่ 3-4 ซึ่งได้แก่เมืองท่าตักโกลา (คลองท่อม) ที่ ังหวัดกระบี่ เมืองสะเทิม เมืองออกแอวในเวียดนาม และเมืองอู่ทองในจังหวัดสุพรรณบุรี


          จึงเป็นไปได้ว่าชื่อปุษยคีรีสังฆาราม แห่งแคว้นกลิงคะ จะมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับชื่อเขาปุษยคีรี หรือเขาทำเทียมในเมืองเก่าอู่ทอง ซึ่งเป็นสถานที่เล่าขานว่า “พระโสณะ” และ “พระอุตระ” สมณทูตสมัยพระเจ้าอโศก ได้เดินทางมาพำนักอยู่เมื่อครั้งที่เข้ามาเผยแพร่พุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิ


          และที่เมืองเก่าอู่ทองเช่นกันที่นักโบราณคดีได้พบจารึกสันสกฤตบนแผ่นศิลา ปรากฏคำว่า “ปุษยคีรี” เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเผยแพร่พุทธศาสนาสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช แผ่ขยายมาถึงบริเวณเมืองเก่าอู่ทองนั่นเอง และจารึกหินก้อนนี้ ปัจจุบันกรมศิลปากรเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง
..........................
(ติดตามอ่านต่อต่อไป)