Lifestyle

ตำนานพระกริ่งจากปุษยคีรีชมพูทวีปสู่เขาทำเทียม สุวรรณทวีป(จบ)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  ตามรอย...ตำนานแผ่นดิน  โดย...  เอก อัคคี (facebook.com/ake.akeakkee) 

 

 

 

          การเดินทางไปอินเดียเพื่อศึกษาแก่นแท้พุทธศาสนาของพระถังซัมจั๋งในพุทธศตวรรษที่ 12 ท่านได้บันทึกสิ่งที่พบเห็นตลอดการเดินทางในช่วงเวลานั้นไว้อย่างละเอียด บันทึกการเดินทางเล่มนั้นมีความสำคัญยิ่งยวดต่อการศึกษาประวัติศาสตร์และหลักฐานทางโบราณคดีของพุทธศาสนาในอินเดียมาจนทุกวันนี้ เมื่อพระถังซัมจั๋งได้เดินทางมาถึงแคว้นอุฑร (Udra) ก็ได้บันทึกไว้ว่า

 

 

          "...มีสถูปกว่า 10 องค์ เป็นสถานที่ที่พระตถาคตเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนา พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างไว้"


          "ในหุบเขาอันเป็นพรมแดนด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ (แคว้นอุฑร) มีอารามชื่อปุษปคีรีสังฆาราม (Puspagiri) สถูปหินในอารามศักดิ์สิทธิ์มาก ในวันอุโบสถมักจะเปล่งรัศมีโชติช่วง พุทธศาสนิกชนทั้งใกล้และไกล มักจะมาชุมนุมกันที่วัดนี้..."

 

 

 

ตำนานพระกริ่งจากปุษยคีรีชมพูทวีปสู่เขาทำเทียม สุวรรณทวีป(จบ)

พระกริ่งอู่ทองรุ่นแรกที่สร้างไว้เป็นหมุดหมายสำคัญ

 


          แคว้นอุฑร ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของรัฐโอริสสา (Orissa) หรือแคว้นกลิงคะโบราณ (Ancient Kalinga) อยู่ติดชายฝั่งตะวันออกค่อนไปทางเหนือของอินเดีย นับตั้งแต่กองโบราณคดีอินเดียขุดสำรวจแหล่งโบราณสถานในรัฐโอริสสา พวกเขาได้พบซากพุทธสถานโบราณจำนวนมากมายหลายยุคสมัย แต่กลับไม่เคยพบพุทธสถาน หรือสถูปใดที่สร้างในสมัยพระเจ้าอโศกเลย ยกเว้นการพบจารึกหิน (Rock Edicts) ที่พระเจ้าอโศกให้จารึกธรรม และบทบัญญัติต่างๆ ไว้สอนชาวบ้านชาวเมือง


          จนกระทั่ง ในปี พ.ศ.2539-2544 นักโบราณคดีจากสถาบันศึกษาทางทะเลและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งโอริสสา (The Orissan Institute of Maritime and South-east Asian Studies) ได้สำรวจพบพุทธสถานโบราณ ที่เนินเขาลังกุฎี (Langudi Hill) ในรัฐโอริสสา พวกเขาขุดพบหลักฐานและจารึกมากมายที่ยืนยันได้ว่าบริเวณนี้คือ ปุษปคีรีมหาวิหาร หรือสังฆารามที่พระถังซัมจั๋งได้กล่าวไว้ในบันทึก และแน่นอน สถูปที่พวกเขาพบนั้นสร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

 

 

 

 

ตำนานพระกริ่งจากปุษยคีรีชมพูทวีปสู่เขาทำเทียม สุวรรณทวีป(จบ)

ฐานโบสถ์โบราณของ วัดเขาทำเทียม ที่กรมศิลปากร มาบูรณะใหม่

 


          หลักฐานสำคัญที่พบที่เนินเขาลังกุฎี ชี้ชัดว่าสร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช คือซากปรักหักพังของพระสถูปหินทรงโอคว่ำเส้นผ่านศูนย์กลาง 60 ฟุต ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม สถูปมีรั้วหิน หรือ เวทิกา (Vedika or Railing) ล้อมอยู่ทั้งสี่ทิศ รั้วหินทั้ง 26 ชิ้นที่ขุดพบ มีเพียง 2 ชิ้นที่สลักลวดลาย ส่วน 24 ชิ้นนั้นเป็นหินเรียบ ซึ่งเป็นรูปแบบการก่อสร้างในสมัยพระเจ้าอโศก สันนิษฐานว่ารั้วหิน 2 ชิ้นที่แกะสลักลายดอกบัวน่าจะสร้างเพิ่มเติมภายหลังในสมัยศุงคะ นอกจากนี้ ยังได้พบรูปดินเผา เช่น ฉัตร ที่ใช้ประดับยอดพระสถูปสมัยพระเจ้าอโศก รูปพระพุทธบาท สัญลักษณ์ที่ใช้แทนการปรากฏองค์ของพระพุทธเจ้า ก่อนที่จะมีการสร้างพระพุทธรูปขึ้น เหมือนกับภาพแกะสลักรอยพระบาทที่พบที่พระสถูปสาญจีในรัฐมัธยมประเทศ ซึ่งสร้างในสมัยพระเจ้าอโศกเช่นกัน


          แต่การสำรวจพระสถูปในครั้งนั้น พวกเขาไม่พบพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ภายในพระสถูป พวกเขาพบเพียงฝาผอบ จึงสันนิษฐานกันว่ากษัตริย์ในสมัยหลังอาจโยกย้ายพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุไว้ในพระสถูปที่สร้างขึ้นใหม่ที่ยังไม่ได้ขุดสำรวจ เพราะทั่วบริเวณเนินเขาลังกุฎีนั้นปรากฏร่องรอยพุทธสถาน รูปพระพุทธปฏิมาดินเผา และภาพจำหลักหินพระพุทธรูปในคติพุทธมหายานอีกมากมาย ที่สามารถยืนยันความรุ่งเรืองของพุทธสถานที่ลังกุฎีมาอย่างต่อเนื่องทั้งพุทธผ่ายเถรวาทสมัยพระเจ้าอโศก ฝ่ายมหายาน และวัชรยาน ตั้งแต่สมัยคุปตะตอนต้น ล่วงมาถึงคุปตะตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ 14

 

 

ตำนานพระกริ่งจากปุษยคีรีชมพูทวีปสู่เขาทำเทียม สุวรรณทวีป(จบ)

เขาทำเทียมที่ตั้งของวัดแห่งแรกของไทยในพระพุทธศาสนา

 


          เนินเขาลังกุฎี ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของปุษปคีรีสังฆารามนี้ มีพิกัดทางภูมิศาสตร์อยู่ที่เส้นละติจูด 20 องศา 12 ลิปดาเหนือ เส้นลองติจูด 86 องศา 43 ลิปดาตะวันออก ตั้งอยู่ใกล้กับหมู่บ้านสาลีปุระ (Salipur) ทางฝั่งขวาของแม่น้ำเคลัว (Kelua) ในเขตจาจปุระ (Jajpur) และอยู่ห่างจากเมืองภูพเนศวร (Bhubaneshwar) เมืองหลวงของรัฐโอริสสา 80 กิโลเมตร


          เมื่อพิจารณาถึงชื่อเสียงของพระสถูปที่ปุษปคีรีสังฆารามในสมัยที่พระถังซัมจั๋ง (พุทธศตวรรษที่ 12) มาพบนั้นยังเป็นที่เลื่องลือในความศักดิ์สิทธิ์ จนชาวพุทธทั้งใกล้ไกลจะต้องเดินทางมาชุมนุมกันในวันอุโบสถ


          จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า พระสถูปและวิหารที่แคว้นกลิงคะ (ปัจจุบันคือรัฐโอริสสา)ที่มีมา ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น (ราวพุทธศตวรรษที่ 3) คงจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของบรรดาพุทธศาสนิกชนมาอย่างต่อเนื่อง


          และเป็นไปได้หรือไม่ว่าชื่อปุษปคีรีสังฆารามแห่งแคว้นกลิงคะ จะมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับ ชื่อเขาปุษยคีรี หรือเขาทำเทียมในเมืองเก่าอู่ทอง ซึ่งเป็นสถานที่เล่าขานว่าพระโสณะและพระอุตระ สมณทูตสมัยพระเจ้าอโศก ได้เดินทางมาพำนักอยู่ เมื่อครั้งที่เข้ามาเผยแผ่พุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิ และที่เมืองเก่าอู่ทองเช่นกัน

 

 

 

ตำนานพระกริ่งจากปุษยคีรีชมพูทวีปสู่เขาทำเทียม สุวรรณทวีป(จบ)

แท่งหินแกะสลักจำลองคำว่า ปุษยคีรี

 


          เพราะนักโบราณคดีได้พบจารึกสันสกฤตบนแผ่นศิลา ปรากฏคำว่า “ปุษยคีรี” และพบรูปปั้นดินเผาและรูปจำหลักนางกษัตริย์ประทับนั่งเหนือดอกบัว มีช้างสองเชือกชูงวงจับเต้าน้ำสรงเทลงเหนือพระเศียร เป็นสัญลักษณ์ปางประสูติเช่นเดียวกับรูปจำหลักที่พระสถูปสาญจีในอินเดีย และพระสถูปอื่นที่สร้างในสมัยพระเจ้าอโศกที่ใช้สัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้าในการเล่าพุทธประวัติ เช่น ช้าง ดอกบัว ธรรมจักร ฉัตร รอยพระพุทธบาท ความสอดคล้องของการใช้รูปสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้า ยังได้สะท้อนถึงการเผยแพร่แนวคิดและคติพุทธในการสร้างศิลปวัตถุในพุทธศาสนาสมัยพระเจ้าอโศก ในบริเวณเมืองเก่าอู่ทองในช่วงเวลาหนึ่ง


          เมืองอู่ทอง....จึงเป็นหัวใจแห่งสุวรรณภูมิ เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาของโลก ได้ส่งสมณทูตไปเผยแพร่ในภูมิภาคต่างๆ ทั้งทางบกทางทะเล และหนึ่งในสมณทูตเหล่านั้น คือ พระโสณะและพระอุตระ ที่เข้ามาสุวรรณภูมิทางทะเล ซึ่งบริเวณที่เข้ามานั้น จากหลักฐานทางโบราณคดีและตำแหน่งภูมิศาสตร์น่าจะอยู่บริเวณที่เรียกว่า แหลมทอง ที่ตั้งอยู่ในคาบสมุทรไทยต่อคาบสมุทรมลายู ซึ่งก็คือ บริเวณตอนเหนือของคาบสมุทรมลายู ตั้งแต่จังหวัดปัตตานีขึ้นมาจนถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาของไทยนั่นเอง


          เพราะฉะนั้นการจัดสร้างพระกริ่งอู่ทองรุ่นแรกของวัดเขาทำเทียม อันเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาบนดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้ จึงนับว่าเป็น หมุดหมายสำคัญต่อไปในอนาคตที่ให้อนุชนรุ่นหลังได้รับทราบถึงที่มาที่ไปว่า กว่าจะมาเป็นพระไภษัชคุรุอู่ทองรุ่นแรกนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไรและการเชื่อมโยงผสมผสานกันทางศิลปวัฒนธรรมระหว่างยุคสมัยนั้นเป็นอย่างไร?


          ผมเชื่อว่าสำหรับผู้ที่ติดตามอ่านบทความชุดตำนานพระกริ่ง จากปุษยคีรี ชมพูทวีป สู่เขาทำเทียม สุวรรณทวีป คงจะได้สาระความรู้ไม่มากก็น้อย


          เพราะไม่ว่าเราจะสนใจศึกษาสะสมวัตถุมงคลใดหรืออยากรู้เรื่องใด-เราต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน อย่าเชื่อตามคนอื่นเขาโดยปราศจากองค์ความรู้โดยเด็ดขาด !!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ