ข่าว

ธุรกิจทำนาสไตล์'ซึโมตุ มิยาโกชิ'เกษตรกรมือชีพแดนอาทิตย์อุทัย

ธุรกิจทำนาสไตล์'ซึโมตุ มิยาโกชิ'เกษตรกรมือชีพแดนอาทิตย์อุทัย

13 ส.ค. 2559

ธุรกิจทำนาสไตล์'ซึโมตุ มิยาโกชิ'เกษตรกรมือชีพแดนอาทิตย์อุทัย : คมคิดธุรกิจนิวเจน โดยดลมนัส กาเจ

            หากจับประเด็นการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์สองครั้งสองครา ทั้งที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ ลาดพร้าว และบนเวทีสัมมนา “โลกเปลี่ยนไว ชาวนาไทยต้องปรับ” ณ ห้องคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ ของชาวนามืออาชีพที่ประสบผลสำเร็จจากแดนอาทิตย์อุทัย “ซึโมตุ มิยาโกชิ” ที่ปรึกษาเชี่ยวชาญ (ข้าว) บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด จาก ต.ฮิงะชิ อ.คุบิกิ จ.นีกะตะ ประเทศญี่ปุ่น สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการที่จะประสบผลสำเร็จในอาชีพการทำนานั้น อย่ามองเพียงว่าผู้ที่มีอาชีพทำนาคือเกษตรกร หากแต่ต้องคิดเสมอว่า “เรากำลังทำธุรกิจทำนา” ที่จะต้องมีการวางแผนระบบบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ของอาชีพการทำนา ตั้งแต่การเตรียมก่อนปลูกยันถึงการแปรรูป และหาตลาดจำหน่ายที่ชาวนาต้องเป็นผู้กำหนดราคาเอง ขณะที่รัฐบาลต้องมีนโยบายการส่งเสริมภาคการเกษตรที่ชัดเจน

            ซึโมตุ มิยาโกชิ ย้อนเมื่อหลายทศวรรษก่อนว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายด้านภาคการเกษตรคล้ายกับไทยในปัจจุบัน ทำให้ภาคการเกษตรของญี่ปุ่นก็ประสบปัญหาเช่นกัน ในที่สุดรัฐบาลของประเทศญี่ปุ่นกำหนดนโยบายด้านการเกษตรที่เป็นหัวใจและมีความสำคัญ 4 ด้านด้วยกันเพื่อให้การเกษตรของญี่ปุ่นมีประสิทธิผล โดยเฉพาะการทำนาประกอบด้วย 1.การขยายความต้องการของตลาดทั้งภายในและตลาดต่างประเทศ จากเดิมรัฐบาลญี่ปุ่นไม่มีนโยบายที่จะส่งออกพืชผลทางการเกษตร แต่ปัจจุบันเริ่มให้ความสนใจตลาดส่งออกผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้น

            2.การเพิ่มมูลค่าอย่างทวีคูณของพืชผลทางการเกษตร รัฐบาลประเทศญี่ปุ่นมองว่าการทำเกษตรเป็นการทำงานขั้นที่หนึ่ง แล้วนำผลผลิตไปแปรรูปถือเป็นขั้นที่สองสอง จากนั้นการตลาดและการจำหน่ายไปสู่ผู้บริโภคเป็นขั้นที่สาม ถ้านำทั้ง 3 ขั้นตอนมารวมกันจะเป็นการเพิ่มมูลค่าอย่างทวีคูณ และสิ่งเหล่านี้คือยุทธศาสตร์ที่นอกจากปลูกพืชผลทางการเกษตรได้ผลผลิตแล้วจะต้องนำผลผลิตไปแปรรูป มีการตลาดและช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสม เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าเป็นทวีคูณ 3.สร้างความแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มเกษตรกร และ 4.การจัดสรรงบประมาณท้องถิ่นของรัฐบาล

            ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่น ซึโมตุ บอกว่า ประสบปัญหาเรื่องผลผลิตข้าวที่ล้นตลาด ทำให้รัฐบาลมีนโยบายจำกัดการปลูกข้าวเพื่อไม่ให้มีผลิตผลมากเกินไป ขณะที่การบริโภคข้าวลดลงจากเดิมคนญี่ปุ่นจะบริโภคข้าวคนละ 60 กก. เหลือ 50 กก.ต่อปี รัฐบาลมองเห็นว่าแต่ละปีญี่ปุ่ต้องที่นำเข้าข้าวโพดเพื่อเป็นอาหารสัตว์ถึง 5 ล้านตัน ในปี 2558 จึงมีนโยบายให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการปลูกข้าวเพื่อรับประทานมาเป็นการปลูกข้าวเป็นอาหารสัตว์ทดแทนการนำเข้าอาหารสัตว์ โดยรัฐบาลจะให้การสนับสนุนไร่ 66,100 บาทต่อไร่ แต่ถ้าเกษตรกรปลูกพืชอื่น เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี หรือผักผลไม้จะได้เงินสนับสนุนไร่ละ 11,200- 22,400 บาท เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้

            กระนั้นเพื่อความอยู่รอดของชาวนาในยุคสินค้าข้าวในประเทศญี่ปุ่นล้นตลาด มีการแข่งขันด้านตลาดค่อนข้างสูง เกษตรกรต้องผลิตข้าวที่มีคุณภาพดีเป็นเกรดพรีเมียมออกมา แปรรูป ทำตลาดเอง กำหนดราคาเองด้วย โดยรัฐบาลญี่ปุ่นมีการก่อตั้งหน่วยงานเจจีเอพี เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกี่ยวกับพืชผลทางการเกษตรทุกชนิดและดูแลให้มีคุณภาพดี ข้าวญี่ปุ่นและสินค้าทางการเกษตรจะมีบาร์โค้ดอยู่ที่ถุงเพื่อให้การตรวจสอบสามารถทำได้เป็นอย่างดี ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลการผลิตได้อย่างชัดเจน ผู้ซื้อสามารถใช้สมาร์ทโฟนสแกนบาร์โค้ดจะสามารถทราบข้อมูลทั้งหมดได้ทันที และยังแก้ปัญหาการปลอมแปลงข้าวได้อีกด้วย

            ซึโมตุ เล่าว่า ปัจจุบันปัญหาภาคการเกษตรโดยเฉพาะการทำนาในประเทศญี่ปุ่นต่างกับประเทศไทย ซึ่งที่ญี่ปุ่นนั้นอยู่ในสังคมผู้สูงอายุและมีแนวโน้มว่าจำนวนเกษตรกรลดลงเรื่อยๆ เฉลี่ยอายุชาวนาญี่ปุ่นอยู่ที่ 66.3 ปี ในจำนวนนี้กว่า 65.3% อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป เทียบกับของไทยในขณะนี้ยังมีวัยหนุ่มสาวอยู่มากเป็นเรื่องที่น่าดีใจ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลญี่ปุ่นจึงส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยให้รวมกลุ่มเพื่อแบ่งปันความรู้และเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกัน ตรงนี้ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อย่างชัดเจน รัฐบาลจะช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ อาทิ ให้เงินสนับสนุน 30-50% ในการสร้างโรงเรือนหรือซื้ออุปกรณ์ทำการเกษตร ให้เงินสนับสนุนด้านสินเชื่อผ่านสหกรณ์การเกษตรอีก 50% และสนับสนุนด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร

            “มีการคำนวณด้านรายได้ของเกษตรกรรายย่อยในญี่ปุ่นมีรายได้จากภาคการเกษตรรายละ 0.1 ล้านบาท เมื่อรวมกลุ่มแล้วรายได้เพิ่มเป็น 4.1 ล้านบาทต่อปี เพิ่มขึ้น 41 เท่าตัว เนื่องจากการรวมกลุ่มทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงจากการใช้เครื่องจักรร่วมกัน ร่วมกันบริหารจัดการแบบครบวงจร การรวมกลุ่มของเกษตรกรญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ รูปแบบบริษัทได้รับความนิยมมากที่สุด กับรวมกลุ่มเป็นนิติบุคคลแต่ยังไม่จดทะเบียนเป็นบริษัท ลักษณะรวมกลุ่มของชุมชนวิสาหกิจชุมชน เวลารัฐบาลช่วยเหลือจะผ่านกลุ่ม โดยจะไม่ช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยครับ” ซึโมตุ กล่าว

            อย่างไรก็ตามในส่วนของเกษตรกรเองต้องมีการปรับตัว เมื่อสินค้าล้นตลาดเกษตรกรต้องหันมาปรับระบบบริหารจัดการในแปลงนาของตัวเอง โดยภายใน 1 -2 ปีจะสามารถปลูกพืชหมุนเวียนได้สามชนิด คือเริ่มจากทำนาก่อนราวเดือนกันยายน พอเก็บเกี่ยวเสร็จจะปลูกข้าวสาลี เก็บเกี่ยวในเดือนมิถุนายน ตามด้วยปลูกถั่วเหลือ ซึ่งการปลูกพืชหมุนเวียนเช่นนี้รัฐบาลจะช่วยเหลือด้านต้นทุนด้วย

            การปลูกข้าวจะให้คุณภาพดี ซึโมตุ แนะนำว่าต้องรักษาฟางข้าวเพื่อสร้างไนโตเจนในดิน ห้ามเผา ชาวนาจะใช้วิธีการไถกลบ ฟางข้าวเมื่อไถกลบจะให้ไนโตเจนในดินอย่างน้อย 20% ตรงนี้เราลดค่าปุ๋ยได้แล้ว เนื่องจากในประเทศญี่ปุ่นมีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรขนาดใหญ่ทำให้สภาพดินแข็ง ฉะนั้นต้องมีการไถระเบิดดินดานทุกๆ 3 ปี ให้ลึก 15 ซม.เพื่อให้รากข้าวมีความแข็งแรง ทนทานต่อสภาวะแล้งได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ต้องให้ปุ๋ยคอกบำรุงดินสร้างอัตราความชุ่มชื้นและสมบูรณ์เพิ่มขึ้น พร้อมกับปุ๋ยเคมีที่จำเป็นบ้างเพื่อความงอกงามและให้ผลผลิตสูง เพราะถ้าไนโตรเจนมากไปบางครั้งผลผลิตอาจไม่ได้คุณภาพ ต้องมีการจัดการน้ำให้มีระบายน้ำเข้าออกในแปลงในช่วงเวลาที่เหมาะสม ส่วนเมล็ดพันธุ์ต้องมีคุณภาพในอัตรา 4.4 หมื่นเมล็ดต่อพื้นที่ 1 ไร่

            ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวจากประเทศญี่ปุ่น อธิบายศาสตร์แห่งการทำนาในยุคที่โลกเปลี่ยนด้วยว่า บางครั้งเกษตรกรเข้าใจผิดว่าข้าวต้องการน้ำตลอด แต่จริงๆ แล้วต้นข้าวต้องการเพียง 25 วันหลังการดำนา จากนั้นก็สามารถถ่ายน้ำไปสู่แปลงเกษตรอย่างอื่น การใช้น้ำต้องประหยัดพอสมควร และที่สำคัญอีกประการหนึ่งในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลง ภาคการเกษตรขาดแคลนแรงงาน เทคโนโยลีและนวัตกรรมใหม่ๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่เกษตรกรต้องนำมาเพื่อทดแทนแรงงานคนและลดต้นทุนการผลิต การทำนาทุกขั้นตอนจะต้องบันทึกข้อมูลทุกช่วง กำหนดเป้าหมายการติดดอก ติดรวง การทำข้อมูลโดยละเอียดต้องแยกตามสายพันธุ์ทุกท้องถิ่นเพื่อเป็นคู่มือแจกให้เกษตรกรใช้เป็นแนวทาง

            การเก็บข้อมูลนั้นเกษตรกรยุคใหม่ใช้นวัตกรรมด้วยการนำเครื่องบอกตำแหน่งและพิกัดของพื้นเป้าหมายทางการเกษตร หรือจีพีเอส เครื่องวัดระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์เพื่อเก็บข้อมูลและบอกตำแหน่งในพื้นที่กว้างสำหรับแปลงเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ หรือจีไอเอส ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ผ่านสัญญาณดาวเทียมสำหรับติดตั้งบนเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้

            “บางครั้งเกษตรกรยุคใหม่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในแปลงเพาะปลูกเสมอ อาจนั่งในออฟฟิศ ควบคุมการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ แม้แต่การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรไม่จำเป็นต้องมีคนขับก็ได้ เพราะคิดเสมอว่าการทำนาคือธุรกิจทำนา เกษตรกรจึงไม่จน อย่างของผมมีที่นา 25 ไร่ มีรายได้อย่างน้อย 8 ล้านเยน (2.8 ล้านบาท) และยังมีรายได้จากการปลูกพืชหมุนเวียนอีก โดยที่รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้ประกันราคาข้าวนานกว่า 28 ปีแล้ว สิ่งเหล่านี้ผมจะฝากให้เกษตรกรไทยซึ่งเป็นประเทศที่ปลูกข้าวได้เป็นแชมป์ของโลกต้องรักษาแชมป์ต่อไปด้วยการวางแผนที่ทดีและลงมือปฏิบัติที่ดีจะทำให้เราประสบความสำเร็จและไม่เกิดความพ่ายแพ้อีก” มิยาโกชิ กล่าวทิ้งท้ายให้คิด

            นี่เป็นแนวทางที่ทำให้เกษตรกรญี่ปุ่น ประสบผลสำเร็จในอาชีพการทำในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งประเทศไทยประสบปัญหาเช่นกัน น่าจะนำมาเป็นแบบอย่างที่เป็นทางเลือกได้เพื่อสู่ความสำเร็จด้านอาชีพการเกษตรในอนาคต