ชีวิตออกแบบธุรกิจ “วรกุล สกุลวัฒนะ”
โดย - สุรัตน์ อัตตะ
“ครอบครัวเรา เราออกแบบได้ว่าจะให้อนาคตเขาเป็นยังไง แต่ทำได้เพียงแค่ครึ่งเดียว ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของเขาแล้วล่ะ” มุมมองของอำนวย สกุลวัฒนะ นักธุรกิจระดับพันล้าน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ปุ๋ยอินทรีย์ เกษตรไทย หรือเคทีเอฟ จำกัด และเจ้าของออแกนิกแลนด์ ริม ถ.กำแพงแสน-พระแท่น อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี พูดถึงการวางแผนอนาคตให้บรรดาลูกๆ ทั้ง 3 คน “นิ่ม” สาธนี สกุลวัฒนะ พี่สาวคนโต “หม่อน” วรกุล สกลุวัฒนะ น้องชายคนรอง และ “เม่น” จิรพัฒน์ สกลุวัฒนะ น้องคนสุดท้อง ที่ถูกออกแบบให้เป็นเจ้าของกิจการมาตั้งแต่เด็ก เริ่มจากส่งทายาททั้งสามเข้าสู่รั้วอัสสัมชัญธนบุรี เนื่องจากมองว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งสร้างแนวคิดบ่มเพาะมุมมองทางธุรกิจให้นักเรียนมาตั้งแต่เยาว์วัย ก่อนให้ตัดสินใจด้วยตัวเองหลังจบมัธยมปลายว่าจะวางอนาคตไปในทิศทางใด
ด้วยพื้นฐานและประสบการณ์การทำธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์มาหลายสิบปี ทำให้มองเห็นอนาคตของธุรกิจที่สามารถต่อยอดไปได้ในหลากหลายช่องทาง โดยอาศัยธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์เป็นพื้นฐานไว้สำหรับรองรับทายาททั้ง 3 คน จึงไม่แปลกใจทำไมวันนี้แต่ละคนกำลังสาละวนอยู่กับธุรกิจของตัวเองอย่างหนักหน่วงและเข้มข้นโดยมีผู้เป็นบิดาคอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด
“เด็กพอจบ ม.ปลายแล้ว เขาก็จะรู้แล้วว่าเขาชอบไหน ถนัดเรื่องอะไร เราก็ให้เขาตัดสินใจเอง ไม่บังคับ ให้เขาเรียนไป เพียงแต่เราเตรียมวางแผนทางธุรกิจไว้รองรับเมื่อเขาจบออกมาก็จะสามารถดำเนินการได้ทันที อย่างคนโตนี่จบเภสัช ก็ให้ดูแลผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรและการตลาดเพราะเขาชอบด้านนี้ ส่วนคนรองจบด้านอุตสาหกรรมเกษตร เกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ ก็มาเน้นเรื่องการแปรรูป การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ส่วนคนสุดท้องตอนนี้กำลังเรียนวิศวะเครื่องกลที่ลาดกระบังปีสุดท้าย คนนี้ตั้งใจจะให้มาดูโรงงานการผลิตปุ๋ยทั้งหมด” อำนวยกล่าวถึงเส้นทางการศึกษาและอนาคตของทายาททั้งสามคน
แม้แต่ละคนจะถูกมอบหมายงานรับผิดชอบแตกต่างกันไป แต่วรกุล สกุลวัฒนะ หรือหม่อน ทายาทคนที่สองวัยใกล้เบญจเพส ดูเหมือนจะรับภาระค่อนข้างสูงกว่าพี่น้องคนอื่นๆ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าสาขาความรู้ที่ร่ำเรียนมาสามารถนำมาต่อยอดได้ในทุกกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การตรวจวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์แล้วนำไปส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ที่สนใจการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อทำฟาร์มออแกนิก จากนั้นก็รับซื้อผลผลิตจากสวนของเกษตรกรนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ พร้อมด้วยการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ดูสวยงามก่อนจำหน่ายให้ลูกค้าต่อไป
“ครอบครัวเราทำธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์เป็นฐานอยู่แล้ว เป็นการง่ายในการต่อยอดทางธุรกิจ ยิ่งเทรนด์ของโลกมาเน้นในเรื่องสุขภาพมากขึ้น อาหารการกินทุกอย่างต้องปลอดภัย เรามีปุ๋ยอินทรีย์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การก้าวไปสู่ผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัยคงไม่ใช่เรื่องยากนัก” วรกุล กล่าวถึงเส้นทางชีวิตที่มุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจการแปรรูปอาหารสู่ผลิตภัณฑ์ออแกนิกคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันเขาให้เวลาส่วนใหญ่ในการสร้างไอเดียใหม่ๆ การพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์และการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อให้โดนใจคนทุกเพศทุกวัย เช่นผลิตภัณฑ์กล้วยฉาบไส้มะขาม แม้จะดูเป็นผลิตภัณฑ์ง่ายๆ ไม่ต่างจากสินค้าโอท็อปทั่วไป แต่หากดูกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอนแล้วต้องยอมรับในความแตกต่าง เช่นเดียวกับผลไม้อบแห้งอื่นๆ ที่มาจากพื้นฐานเดียวกัน คือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตมาจากสวนของเกษตรกรที่เราเข้าไปส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ โดยผลผลิตเราจะรับซื้อมาทั้งหมด แต่หากเกษตรกรต้องการแปรรูปเอง เราก็จะเข้าไปส่งเสริม พร้อมช่วยในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ด้วย
“อย่างกล้วยฉาบไส้มะขาม เป็นสินค้าที่ขายดีที่สุด ของเราจะใช้กล้วยไข่ เพราะจะกรอบและหอมกว่าใช้กล้วยชนิดอื่น ส่วนวิธีการทำเริ่มจากการนำกล้วยไข่ที่แก่จัดล้างทำความสะอาดแล้วปอกเปลือก จากนั้นนำมาฝานสไลด์บางๆ แล้วอบด้วยอุณหภูมิที่ 120 องศาเซลเซียสแล้วค่อยๆ ลดระดับลงมาใช้เวลาประมาณ 20-30 นาทีเพื่อให้กรอบนอกนุ่มใน จากนั้นก็นำไปคลุกแป้งทอด ก่อนที่จะนำมะขามสุกบดมาแปะเสร็จแล้วบรรจุในขวดอัดไนโตรเจนลงไปไม่ให้เกิดออกซิเดชั่นป้องกันเหม็นหืนง่าย ทำให้สามารถเก็บไว้ได้นาน” วรกุล บอกตัวอย่างการแปรรูปผลิตภัณฑ์เด่นพร้อมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานเพื่อให้สามารถเก็บไว้ได้นาน โดยคุณภาพสินค้าไม่เปลี่ยนแปลง
แนวคิดทางธุรกิจของวรกุลวันนี้ไม่ได้เริ่มต้นหลังสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญา หากแต่เขาเริ่มฉายแววไอเดียทางธุรกิจเมื่อครั้งยังศึกษาอยู่ในรั้วอัสสัมชัญธนบุรี โดยถอดแบบแนวคิดจากผู้เป็นบิดาในฐานะไอดอลของเขาที่เป็นต้นแบบในการทำธุรกิจ ที่มองว่าไม่น่าจะมีแค่ธุรกิจปุ๋ย แต่น่าจะมีอะไรมากกว่านั้นที่สามารถต่อยอดไปได้ จากนั้นจึงได้ปรึกษาผู้เป็นบิดาถึงอนาคตการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยหลังสำเร็จการศึกษาแล้วจะสามารถต่อยอดทางธุรกิจได้ในทันที จนในที่สุดก็มาลงเอยที่การออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
“หม่อนอยากเรียนอะไรที่ออกมาทำธุรกิจด้วยกันกับพ่อได้ ที่คิดแบบนี้คือมีความคิดว่าพ่อเก่ง อยากเป็นนักธุรกิจแบบพ่อ สุดท้ายแล้วอยากทำด้วยกัน หม่อนมองว่าปุ๋ยซึ่งเป็นต้นน้ำที่ดี สามารถเอามาส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกโน่นปลูกนี่แล้วส่งผลผลิตกลับมาให้เราแล้วเราสามารถเอาผลผลิตนั้นไปทำได้หลายอย่าง ตัวหม่อนเองก็ปรึกษาพ่อ พ่อบอกว่าลองไปดูเรื่องอาหารสิ อาหารเพื่อสุขภาพกำลังเป็นเทรนด์ของโลกก็เลยลองดู พอดูไปดูมาเจอคณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.เกษตรฯ ก็เลยเข้าทางพอดี”
ใช้เวลา 4 ปีในการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ระหว่างนี้ก็ยังเจียดเวลาช่วยธุรกิจทางบ้านบ้างเป็นครั้งคราว ก่อนจะเข้ารับผิดชอบอย่างเต็มตัวหลังสำเร็จการศึกษา โดยจะดูแลเรื่องการจัดหาวัตถุดิบมาป้อนโรงงานผลิตปุ๋ยและกระบวนการผลิตทั้งหมด เมื่อเรียนรู้การผลิตปุ๋ยอินทรีย์อย่างละเอียดในทุกขั้นตอนการผลิตแล้วจากนั้นจึงมีแนวคิดที่จะขยายต่อยอดธุรกิจเพิ่มจากปุ๋ยอินทรีย์ โดยนำไปส่งเสริมชาวบ้านปลูกไม้ผลภาคตะวันออก นาข้าวในภาคกลาง อีสาน ปลูกกาแฟบนดอยทางภาคเหนือ ในหลายพื้นที่ โดยลงไปคลุกคลีอยู่กับชาวบ้านนานเป็นเดือนเพื่อให้รู้วิธีการปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต พร้อมทั้งได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชาวบ้าน โดยเราให้คำแนะนำวิธีการใช้ปุ๋ย ส่วนเราก็จะเรียนรู้จากชาวบ้านถึงวิธีการปลูกพืชแต่ละชนิดด้วย
“หม่อน จบปี 2558 เริ่มจากดูแลโรงงานปุ๋ยประมาณ 2-3 เดือน พ่อก็เริ่มขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น จากมีปุ๋ยก็ไปส่งเสริมชาวบ้านปลูกกาแฟ ทำสวนผลไม้อินทรีย์ เราก็จะมาดูแลการแปรรูปผลไม้แห้ง หม่อนไปอยู่เชียงใหม่ 6-7 เดือนไปดูไร่กาแฟ กินนอนกับชาวบ้านบนดอยหลายแห่ง ไปดูของจริงให้เห็นกับตา พอไปดูเสร็จก็นำมาลองทำดู ตอนนี้ผลิตภัณฑ์อบแห้งที่นำมาจัดกระเช้าปีใหม่ส่งลูกค้าก็มาจากไอเดียของหม่อนเกือบทั้งหมด” วรกุลเผย พร้อมชี้ให้ดูผลิตภัณฑ์แปรรูปที่จัดขึ้นมาอย่างหลากหลาย
แม้วันนี้ วรกุล สกุลวัฒนะ จะเริ่มสวมหมวกนักธุรกิจรุ่นใหม่ด้วยการต่อยอดธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์ของครอบครัว นับเป็นความสำเร็จอีกก้าวแต่ก็ยังมีหนทางอีกยาวไกลในการสั่งสมประสบการณ์เพื่อความแข็งแกร่งในเชิงชั้นวงการธุรกิจที่ถูกออกแบบมาจากผู้เป็นบิดา
...............................................................
มุมมองจากบิดา “อำนวย สกุลวัฒนะ”
อำนวย สกุลวัฒนะ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จได้ให้มุมมองแนวคิดเชิงธุรกิจและตัวตนของลูกชายคนนี้ไว้ว่า “ลูกผมคนนี้เขาเป็นเด็กที่ฉลาดมีความเป็นตัวตนสูง แต่เป็นคนค่อนข้างเงียบๆ ถ้าอะไรที่เขาไม่อยากทำเขาก็ไม่ทำ แต่อะไรที่เขาเข้าใจ เขาจะตั้งใจทำและทำได้ดีด้วย หม่อนเป็นคนที่ศึกษาหาความรู้ มีอะไรมาก็มาปรึกษาอยู่เรื่อย เช่น เราจะบอกเขาว่าอันนี้เป็นแบบนี้นะ เขาจะไปหาข้อมูลมาว่ามันไม่ใช่ เขาก็จะบอกว่าเป็นยังไง แต่เป็นเด็กที่หาข้อยุติในเรื่องการพูดคุยดี ก็คือหลังจากที่สรุปกันไปแล้วว่าเป็นอย่างไรเขาจะยึดถือสิ่งเหล่านั้นแล้วไปทำทันที นี่คือคือความเป็นตัวตนเขา ส่วนในการทำธุรกิจมองว่าเขายังเด็ก เด็กทุกคนเขามองว่าอยากทำงานน้อยๆ ได้เงินมากๆ ก็คิดเหมือนกันในเด็กทุกคน เดี๋ยวนี้ผมว่าเขาเริ่มเข้าใจว่าทำงานน้อยๆ ได้เงินมากๆ มันไม่มีจริง เขาก็เริ่มเดินกลับมาสู่สิ่งซึ่งสมเหตุสมผลแล้วเขาจะต้องทำงานอย่างไรเพื่อให้ได้เงินตามที่เขาต้องการ ผมไม่ได้คาดหวังกับลูกในเชิงธุรกิจนะ คือทุกวันนี้เขามีชีวิตที่มีความสุข ถ้าเผอิญเขาทำในสิ่งที่ผมตั้งต้นไว้ให้แล้วเขาทำต่อไปได้ดี แน่นอนว่าคนเป็นพ่อก็ย่อมดีใจเป็นธรรมดา ลูกผมทุกคนแทบจะไม่ต่างกัน เพราะทุกคนรู้หน้าที่ตัวเองแล้วก็ รู้บทบาทตัวเอง บทบาทไหนก็ไม่ต่างกัน ทุกคนก็ช่วยกันโดยที่เขารู้ว่าบางงานไม่ใช่งานเขา แต่เขายินดีลงไปช่วย ผมว่าลึกๆ แล้วเขาแข่งกันในพี่น้องด้วยกัน แข่งในเชิงสร้างสรรค์นะ ไม่ใช่ทำลาย”