"งามจากด้านใน"หัวใจเซน"ของ"พระอาจารย์ชุนโด อาโอยาม่า"
สตรีบ้างนั่ง บ้างเคลื่อนไหวไปมา บ้างแก่ชรา บ้างยังเยาว์วัย
สาวแรกรุ่นงดงามผุดผ่อง
ทว่าสตรีมีอายุงามสง่าเหนือสตรีผู้ยังอ่อนวัย
บทกวีของกวีชาวอเมริกันนาม "วอลต์ วิทแมน"
ในช่วงชีวิตของทุกๆ คนต่างต้องประสบกับความเศร้าโศกเสียใจ ความทุกข์ยากลำบาก หรือสิ่งที่ไม่อยากพบเจอมากมาย ต้องเจอทั้งความรุ่งเรืองและตกต่ำต่างๆ นานาในชีวิต ผมหงอกและรอยเหี่ยวย่นแต่ละเส้นๆ นั้นต่างทอรัศมีสะท้อนภาพชีวิตที่ผ่านมาว่าเขาเหล่านั้นยอมรับ หยัดยืน และก้าวผ่านความรุ่งเรืองและตกต่ำเหล่านั้นมาได้อย่างไร เป็นความงามของบุคลิกภาพภายนอกที่ทอประกายออกมาจากภายใน นี้คือความหมายของ “ทว่าสตรีมีอายุงามสง่าเหนือสตรีผู้ยังอ่อนวัย” ข้าพเจ้าก็ปรารถนาจะจารึกอายุของข้าพเจ้าในแบบเดียวกันนี้เช่นกัน เราสามารถเรียนรู้ว่าเราควรดำรงชีวิตของเราอย่างไร จากคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
หากเราตระหนักถึงคุณค่าอันประเสริฐของชีวิตแล้ว เราจะพบด้วยตัวของเราเองว่าควรดำเนินชีวิตต่อไปในทิศทางใด
แล้วเราจะได้รับคำตอบด้วยตัวของเราเองว่า ชีวิตนี้ได้มาและดำรงอยู่ได้เพราะสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ดังนั้น เราควรมีชีวิตอยู่ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ โดยคำนึงถึงทุกสิ่งทุกอย่างอยู่เสมอ ไม่คิดจากมุมมองที่แคบและเห็นแก่ตัว เรามักคิดเห็นแก่ตัว คิดว่าอยากทำเช่นนั้น อยากทำเช่นนี้ และเมื่อสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นไปตามที่คิดไว้แล้ว ก็จะอาละวาด หรือท้อแท้หมดกำลังใจ บางครั้งก็รู้สึกอยากตาย หากเราตระหนักได้ว่าความคิดและพฤติกรรมเหล่านั้นล้วนเป็นพลังงานที่ได้รับมาจากจักรวาลทั้งหมด หรือได้มาจากโลกนี้ทั้งหมด เราจะไม่สามารถคิดหรือแสดงพฤติกรรมที่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางเช่นนั้นได้เลย ไม่ใช่เพราะไม่กล้าทำ หากแต่ไม่สามารถทำได้นั่นเอง
ข้าพเจ้าจึงขอยกตัวอย่างสักเล็กน้อยเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า เราควรมีแนวทางการดำเนินชีวิตของเราในขณะนี้อย่างไร
?
เพื่อนสนิทของข้าพเจ้าคนหนึ่ง ซึ่งเป็นซิสเตอร์ในนิกายคาทอลิก เธอชื่อว่า คาซึโกะ วาตานาเบะ เคยดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยสตรีนอเทรอดาม ประเทศญี่ปุ่น ในสมัยที่อาจารย์คาซึโกะ ยังเป็นซิสเตอร์ฝึกหัดอยู่ที่อเมริกา อาจารย์คาซึโกะได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นคนจัดเตรียมอาหาร ในขณะที่จัดเรียงจาน ก็คิดอยู่ในใจว่า “มันช่างเป็นงานที่แสนน่าเบื่ออะไรเช่นนี้” ในตอนนั้น มีเสียงทักของหัวหน้าซิสเตอร์ว่า “ซิสเตอร์ คุณเรียงจานเหล่านั้นด้วยความรู้สึกเช่นไร” แม้ว่าอาจารย์จะตอบกลับไปว่า “ไม่เลย ไม่รู้สึกอะไรเป็นพิเศษ” หัวหน้าซิสเตอร์จึงตักเตือนเธอว่า “ซิสเตอร์ คุณใช้เวลาให้ผ่านไปอย่างไร้ประโยชน์ การเรียงจานก็เช่นกัน ทำไมคุณไม่เรียงจานเหล่านั้น ด้วยใจที่ภาวนาขอให้คนที่จะมานั่งที่โต๊ะนั้นมีความสุขละ”
?
กลายเป็นว่าเราได้ใช้เวลาที่ผ่านมาด้วยความรู้สึกที่ซังกะตายและทำงานโดยคิดแค่ว่าขอให้มันผ่านพ้นไปเท่านั้น หากเราทำงานเช่นเดียวกับหุ่นยนต์แล้ว ก็เท่ากับว่าเราใช้เวลาที่มีอยู่อย่างสูญเปล่าและไร้ค่า แต่หากเราจัดเรียงจานโดยอธิษฐานว่า “ขอให้ท่านจงมีความสุข จงมีความสุข” เท่ากับว่าเราใช้เวลานั้นไปเพื่อความรักและการอธิษฐานขอพร โดยไม่ต้องสนใจว่าสิ่งที่เราอธิษฐานนั้นจะส่งถึงผู้ที่จะมานั่งที่โต๊ะนั้นหรือไม่ก็ตาม
จานถูกเรียงให้เป็นระเบียบขึ้นได้ ไม่ว่าผู้เรียงจะเรียงจานนั้นด้วยความรู้สึกเช่นไร แต่วิธีการใช้เวลาของแต่ละคนจะแตกต่างกันไปตามความใส่ใจในการจัดเรียงจานเหล่านั้น อาจารย์กล่าวว่า “ใช้เวลาเช่นไร ก็ใช้ชีวิตเช่นนั้น หมายความว่าเราใช้เวลา 1 ชั่วโมงที่ผ่านอย่างไร ก็เท่ากับว่าเราใช้ชีวิตใน 1 ชั่วโมงที่ผ่านมาเช่นนั้นนั่นเอง”
พระพุทธองค์ตรัสว่าในโลกนี้มีบุคคล 4 ประเภท คือ ผู้ที่มามืดไปมืด, ผู้ที่มามืดไปสว่าง, ผู้ที่มาสว่างไปมืด และผู้ที่มาสว่างไปสว่าง อาจแทนความมืดและสว่างด้วยความทุกข์และความสุขในชีวิต สมมติว่าในตอนแรกมีความมืดเพียงเล็กน้อย แต่เกิดความยึดมั่นถือมั่นในความมืดนั้น ไม่ยอมปล่อยวาง ชีวิตซึ่งมีความมืดจากแค่สองสามก็เพิ่มทวีเป็นหนึ่งร้อยสองร้อยขึ้นมาได้ คนเหล่านี้เรียกว่า ผู้ที่มามืดไปมืด คนที่เปลี่ยนความมืดให้เป็นบวก และเปลี่ยนความมืดนั้นเป็นสปริงบอร์ดเพื่อเป็นแรงผลักให้ยิ่งสูงขึ้นและแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม คนเหล่านี้คือ ผู้ที่มามืดไปสว่าง
และสิ่งเราได้เรียนรู้อีกสิ่งหนึ่ง คือ คนสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ใครอื่น หากแต่เป็นตัวของเราเอง แต่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราใช้ชีวิตในขณะนี้อย่างไร เรามักพึ่งพาพ่อแม่, พี่น้อง, สามีภรรยาของเรา และสิ่งอื่นๆ เช่น พึ่งพาโดยการทำแทนผู้อื่นหรือให้ผู้อื่นทำแทน สอนผู้อื่นหรือให้ผู้อื่นสอนเรา แต่ชีวิตของเราไม่มีใครมาทำแทนหรือสอนแทนได้ ชีวิตของเราเองก็ต้องเดินไปข้างหน้าด้วยขาของเราเอง
ชีวิตคือเวลาเพียงชั่วขณะที่เกิดขึ้นในขณะนี้เท่านั้น เมื่อเราพูดว่า “เดี๋ยวนี้” นั่นหมายความว่า “เดี๋ยวนี้” ได้กลายเป็นอดีตที่ไม่มีวันกลับมาอีกแล้ว ความมืดจะกลับกลายเป็นความสว่าง หรือความสว่างจะกลับกลายเป็นความมืดนั้น ขึ้นอยู่ว่าเราใช้ชีวิตในขณะนี้ เดี๋ยวนี้อย่างไร
ข้าพเจ้ากล่าวย้ำหลายครั้งว่า ไม่ว่าเราจะพอใจหรือไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ หรือไม่ก็ตาม จงอย่าหนี อย่าไล่ตาม อย่าถอย แต่จงเผชิญหน้ากับมันอย่างถูกต้องตามจริง
จงอย่าอาลัยถึงอดีตผ่านไปแล้ว
จงอย่าคิดถึงอนาคตที่ยังไม่มาถึง
อดีตเป็นสิ่งที่ผ่านพ้นไปแล้ว
อนาคตก็ยังไม่มาถึง
จงทำสิ่งที่อยู่เฉพาะหน้าอย่างขันแข็ง
ไม่มีใครู้ว่าความตายจะมาถึงตนเมื่อไร (มัชฌิมนิกาย)
จะมาเมื่อไร
"พระอาจารย์อาโอยาม่า"
ได้รับเมลจาก ประชา หุตานุวัตร ว่าจะจัดปาฐกถาเซน เรื่อง "งามจากด้านใน : วิถีฝึกฝนตนแบบเซนโดยพระอาจารย์อาโอยาม่า" ขึ้นในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ เวลา 17.00 น. ถึง 20.00 น. ที่สวนโมกข์ กรุงเทพฯ
พระอาจารย์ชุนโด อาโอยาม่า เป็นภิกษุณีอาวุโส ท่านศึกษาธรรมตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ปัจจุบันเป็นเจ้าอธิการ สถาบันฝึกนักบวชหญิง ไอชิ เซ็มมง นิโซโด มีหนังสือของท่านแปลเป็นภาษาไทยชื่อ งามอย่างเซน ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เสมสิกขาลัย
เรื่องที่ท่านจะพูดคราวนี้ ว่าด้วยกระบวนการฝึกฝนตนเอง เพื่อให้คนเราเข้าถึงความงามที่แท้จากภายใน อันเป็นเหตุให้เราสามารถมีชีวิตอย่างงามสง่าได้โดยไม่ขึ้นกับอายุและเงื่อนไขทางด้านกายภาพใดๆ เป็นขั้นตอนที่ทุกคนสามารถนำไปปฏิบัติได้ในชีวิตจริง
แต่ก่อนที่จะได้ไปฟังเทศน์ดีๆ อยากให้ทุกท่านที่เป็นแฟนๆ หน้า 20 "เวทีสาระ" มาทำความรู้จักกับภิกษุณีท่านนี้ก่อน เป็นบทความที่ท่านเขียนเอง ขออนุญาตย่นย่อความมาให้อ่านกัน
และหากจะแสดงความคิดเห็น หรืออยากอ่านบทความดีๆ ของใคร, เกี่ยวกับอะไร ส่งมาได้ที่ [email protected] ค่ะ