มกร-มอมสัตว์จินตการเฝ้าพุทธสถาน
มกร-มอมสัตว์จินตการเฝ้าพุทธสถาน : ท่องไปในแดนธรรม โดย เรื่อง / ภาพ เอกพงศ์ ประดิษฐ์พงษ์ สำนักข่าวเนชั่น 0
มกร (อ่านว่า มะ-กอน หรือ มะ-กะ-ระ) เป็นสัตว์ที่อยู่ในจินตนาการ นัยว่าเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ ลักษณะจะผสมกันระหว่างจระเข้กับพญานาค กล่าวคือ มีลำตัวยาวเหยียดคล้าย กับพญานาค แต่มีขายื่นออกมาจากลำตัว และส่วนหัวที่คายพญานาคออกมานั้นเป็นปากจระเข้ คนโบราณจึงมักนำไปเฝ้าอยู่ตามเชิงบันไดวัด ภาคกลางเป็นราวบันไดนาค แต่ทางเหนือส่วนใหญ่จะเป็นราวบันไดรูป "มกรคายนาค"
บางแห่งเป็นรูปเทวบุตรเหยียบบนตัวมอม ซึ่งล้วนแล้วแต่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป ที่สำคัญคือยังมีคนจำนวนไม่น้อยสับสนคิดว่า ตัวมอม เป็น สัตว์ชนิดเดียวกับตัวมกร หรือ เหรา ที่เฝ้าอยู่ตรงราวบันไดศาสนสถาน โดยเฉพาะในเชียงใหม่ เช่น ที่วิหาร และหอมณเฑียรธรรม วัดบุพพาราม หน้าวิหารด้านหลังองค์พระธาตุ วัดพระธาตุดอยสุเทพ รวมทั้งบนลายปิดทอง ล่องชาดของวิหารลายคำ วัดพระสิงห์
อาจารย์ราม วัชรประดิษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ อธิบายว่า ตัวมกรนี้ยังพบใน เขมร ลาว พม่า ก็มี เขาเรียกว่า "ตัวสำรอก" ก็คือ ตัวที่คายอะไรต่อมิอะไรออกมา ดังนั้นเวลาไปเที่ยววัดให้สังเกตบันได พญานาคให้ดี ว่าเป็น บันไดนาค หรือ เป็น บันไดมกรคายนาคกันแน่ วิธีสังเกตก็ให้ดูที่ คอพญานาค ว่ามีหน้าสัตว์คล้ายๆ จระเข้ อ้าปากอยู่หรือเปล่า ถ้ามี ก็ใช่เลย แล้วจะเป็น ตีน ของเจ้าตัว มกร ซ่อนอยู่ตามเกล็ด พญานาคด้วย
ในความเป็นจริงแล้ว มกร มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งซึ่งมีมาแต่โบราณว่า "เหรา" (อ่านว่า เห-รา) เหรา นี่ไม่ใช่หมายถึงแมงดาทะเล แต่เป็นสัตว์ในจินตนาการ มีหน้าที่เฝ้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อาทิ พระ ธาตุ โบสถ์ วิหาร ที่สื่อว่าเป็น เขาพระสุเมรุ ตามคติ จักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ ดังนั้นจึงต้องมีสัตว์ในป่าหิมพานต์เฝ้าอยู่เชิงเขาพระสุเมรุ ไม่ให้คนขึ้นไปรบกวนทวยเทพ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนสวรรค์ ส่วนคำว่า "มกร" นั้น เข้าใจว่าคงได้รับอิทธิพลมาจาก "มังกร" ของจีน เพราะเราเคยเห็นแต่พญานาคที่ไม่มีขา พอมาเห็นตัวที่มีหัวเป็นพญานาคหรือสำรอกพญานาค และมีขาด้วยก็เลยเรียกตามจีนไป
"ทำไม มกร ต้อง คาย นาค อาจวิเคราะห์ได้ในแง่ของประวัติศาสตร์ศิลปะคือ พญา นาค จะเป็นตัวแทนของ กลุ่มเมือง หรือชนเผ่าทางตอนเหนือ ที่เรียกว่า "โยนก" มีตำนานเกี่ยวพันกับพญานาค มาสร้างเมืองชื่อ โยนกนาคพันธ์สิงหนวัติ หรือ โยนกนาคนคร และเมื่อเมืองนี้ล่มจมหายก็เพราะผู้คนพากัน กินปลาไหลเผือกซึ่งเชื่อว่าเป็นตัวแทนของพญานาคนั่นเอง ส่วนสัตว์น่ากลัวเช่น จระเข้ เหรา จะเป็นตัวแทน ของพวก พยู หรือพุกามอันได้แก่พม่า การที่พบศิลปะ แบบมกรคายนาคในแถบภาคเหนือ พอจะอนุมานได้ว่า เป็นการแสดงออกถึง การหลุดพ้นจากอิทธิพลของงานศิลปะ และการเมืองของพุกามหรือพม่าที่ ครอบงำ ล้านนาอยู่ถึง ๒๐๐ ปี" อ. รามกล่าว
ส่วนตัว "มอม" นั้น อ.ราม บอกว่าเป็น สัตว์ประเภทหนึ่งที่คอยเฝ้าอยู่หน้าวิหาร หรือ ศาสนสถาน โดยเฉพาะทาง ภาคเหนือ มีลักษณะแปลกตา ไม่ใคร่ได้เห็นกันบ่อยนัก มัก ปั้นจากปูน หรือแกะด้วยไม้ บางครั้งยังพบเป็น ภาพจิตรกรรมตามฝาผนัง หรือทำเป็นลายปูนปั้นในวัดบางแห่ง บางแห่งทำเป็นรูปแมวผสมสิงโต บางที่ทำหน้าตาคล้ายสุนัขพันธ์ปักกิ่ง หรือมีกระทั่งหางเป็นปลาโลมา ลำตัวเป็นเกล็ดตะปุ่มตะป่ำคล้ายหนังกิ้งก่า
"มอม เป็นสัตว์ในจินตนาการซึ่งผสมจากสัตว์ต่างๆ มี สี่ขา เข้าใจว่าได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะจากจีน ก่อนที่จะมาผสม ผสานกับศิลปะพื้นเมือง พจนานุกรมล้านนาบางฉบับให้ความหมายไว้ว่า มอมเป็นสัตว์ผสมระหว่าง สิงโตกับลิง มีแขนยาวคล้ายค่าง บางทีเรียกเสือดำ ซึ่งเสือดำนั้นเข้าใจว่าเป็นสัตว์ต่างชนิดกันกับ มอม ที่เฝ้าวัด" อ.รามกล่าวสรุป
ชาวล้านนาใช้ "มอม" ขอฝน
ครูบาน้อย เตชปัญโญ วัดศรีดอนมูล อ.สารภี จ.เชียงใหม่ อธิบายว่า ชาวล้านนามีประเพณีขอฝน โดยนำตัวมอมที่แกะสลักจากไม้นำขึ้นเสลี่ยงแห่ขอฝนแล้วใช้น้ำสาดให้ตัวมอมเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ สมัยก่อนตามวัดทางเหนือจะแกะตัวมอมจากไม้ตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึง ขนาดเท่าแมว แล้วลงรักทาด้วยชาดแดงอย่างสวยงาม ซึ่งการแห่มอมดังกล่าวอาจเป็นต้นเค้าของ การแห่นางแมว เนื่องจาก แมวมีลักษณะใกล้เคียงกับมอมมากและภายหลังก็หามอมที่แกะเพื่อใช้ในพิธีขอฝนยากขึ้นทุกทีเพราะคนไม่ค่อยรู้จัก
ในตำนานทางเหนือเกี่ยวกับการขอฝน ตัว "มอม" จะเป็นพาหนะของเทพปัชชุนนะ เทวบุตร เจ้าแห่งเมฆและฝน ในคัมภีร์มหาสมัยสูตร ระบุว่าเป็นเทพในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา โดยเป็นเท วะบริวารของพระวรุณ ในคราวที่แคว้นโกศลเกิดความกันดาร พระพุทธองค์ทรงเปล่งพุทธโองการให้ ปรชันยะ เทวบุตร หรือ ปัชชุนนะเทวบุตร นำฝนให้มาตก หรือในมัจฉาชาดก เมื่อพระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นมัจฉาเทพองค์นี้ก็มีบทบาททำให้ฝนตกลงมา แม้แต่องค์อัครสาวก พระอานนท์ ยังเคยเสวยชาติเป็น ปัชชุนเทวบุตร
เมื่อลงมายังมนุษยโลกก็แสดงอำนาจไปทั่ว กิเลสดังกล่าวทำให้ มอมไม่สามารถกลับขึ้นไปยังสวรรค์ อันเป็นที่สถิตของเทวบุตร ได้ เทพปัชชุนนะ จึงสั่งให้มาเฝ้าพุทธสถานเพื่อรับฟังพระธรรมคำสอนเป็นเนืองนิจ จนกว่าจะละกิเลสคือความทระนงตน และเข้าใจในพระธรรมจึงจะกลับไปสถิตเป็นเทพพาหนะบนวิมาน ชั้นฟ้าต่อไป ขณะที่อยู่ในโลกมนุษย์ มอม ก็พยายามสร้างประโยชน์สุขให้กับมนุษยโลกเพื่อเพิ่มบุญเพิ่มกุศล โดยเป็นตัวกลางเพื่อขอให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล
นอกจากนี้แล้ว ตัวมอมนั้น ยังปรากฏในลายสักตามต้นขาและท้องของกลุ่มลาวพุงดำที่กระจายตัวอยู่ทางตอนเหนือของไทย โดยเชื่อว่าจะทำให้เกิดความน่าเกรงขามแก่ผู้อื่น และยังปรากฏเป็นงานปั้นปูนในภาคอีสาน โดยคนอีสานจะเรียกว่า "สิงห์มอม" โดยมีความเชื่อว่า มอม เป็นสัตว์ที่ทรงฤทธานุภาพ แข็งแรง ทรงกำลัง มหาศาล เป็นเหตุให้ลืมตัว