พระเครื่อง

ปรากฏการณ์ระบบนิเวศเชิงพุทธศตวรรษที่๒๑

ปรากฏการณ์ระบบนิเวศเชิงพุทธศตวรรษที่๒๑

21 มิ.ย. 2555

ปรากฏการณ์ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมเชิงพุทธในศตวรรษที่ ๒๑ : มองนอกดูใน โดยแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต www.sdsweb.org

              เมื่อได้รับคำเชิญให้ไปร่วมประชุมเรื่อง ปรากฏการณ์ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมเชิงพุทธในศตวรรษที่ ๒๑ (21st Century Buddhist Ecological Environment Phenomenon) ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ ๒๖ ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก และการจัดการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๑๗ ของยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (โดยเป็นการฉลองครบรอบ ๔๐ ปีของพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก) ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๖  มิถุนายน ๒๕๕๕ ที่สาธารณรัฐเกาหลี ข้าพเจ้าก็หวนระลึกถึง ภิกษุณีเมียว ซอง (Ven.Myong Sung sunim) อดีตประธานภิกษุณีเกาหลี ซึ่งเคยมาร่วมการประชุมนานาชาติศากยธิดา ครั้งที่ ๑๒ ที่เสถียรธรรมสถาน เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๔

               ข้าพเจ้าจึงประสานไปยังองค์กรภิกษุณีเกาหลีเพื่อไปเยี่ยมเยียน ท่านเมียว ซอง ดังที่ท่านได้เคยเมตตาเชื้อเชิญไว้ เมื่อไปถึงในวันที่ ๑๑ มิถุนายน ท่านเมียว ซอง ได้ส่งนักเรียนพุทธนานาชาติมาดูแล และพาไปพักค้าง ณ วัดอุนมุน ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโซล ๓ ชั่วโมง

               วัดอุนมุน ตั้งอยู่ในหุบเขา กว้างใหญ่กินพื้นที่ภูเขาถึง ๓-๔ ลูก เป็นวัดที่เก่าแก่ถึงกว่า ๑,๔๐๐ ปี เดิมมีเพียงศาลาโบราณหนึ่งหลัง แต่เมื่อท่านเมียว ซอง เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการพัฒนา จนมีอาคารแบบเกาหลีโบราณอีกเกือบสิบหลัง และทำให้วัดเป็นที่ศึกษาของผู้หญิงที่ต้องการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในวิถีของภิกษุณี โดยต้องเรียน ๔ ปี เพื่อการเป็นภิกษุณีที่สมบูรณ์

               วัดอุนมุนถือเป็นวัดที่ให้การศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลี ปัจจุบันมีนักเรียน ๑๕๐ ท่าน คณะของเราได้เรียนรู้วิถีชีวิตนักบวชหญิงในวัฒนธรรมพุทธเกาหลีในหลากหลายแง่มุม อาทิ วินัยที่เข้มงวด โดยวิถีชีวิตเริ่มต้นตอนตี ๓, เรียน ๒ ชั่วโมงต่อวัน เป็นการให้การศึกษานักบวชโดยให้เรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเอง ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ห้องเรียน-ห้องฉัน-ห้องนอน...ห้องเดียวกัน ปลูกพืชผักรับประทานเอง และในเย็นวันที่ ๑๒ ท่านเมียว ซอง ได้เดินทางมาร่วมพิธีเปิดการประชุมที่เมืองโยสุพร้อมกับข้าพเจ้าด้วย การเปิดการประชุมในวันที่ ๑๒ มิถุนายน มีบุคคลสำคัญมาร่วมแสดงทัศนะที่น่าสนใจมากมาย อาทิ

               “พวกเราหวังที่จะพัฒนาโลกให้เดินทางสู่ดินแดนอันบริสุทธิ์ (Pure Land) ซึ่งเต็มไปด้วยสันติภาพ อิสรภาพ และความสุข ดังนั้นเราจึงต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อยุติปัญหาต่างๆ ที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ เราคงต้องช่วยกันทำให้การบริโภคที่มากเกินไปของสังคมโลกกลับเข้าสู่หนทางที่ถูกต้องในศตวรรษที่ ๒๑ นี้” พระอาจารย์จินเจ สังฆราชขององค์กรโจงเกของพุทธศาสนาในสาธารณรัฐเกาหลี

               “ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเตรียมการด้วยความรักของชาวเกาหลีเพื่อให้พวกท่านได้รับประสบการณ์ที่งดงามในท่ามกลางสภาพแวดล้อมของวิถีชีวิตนักบวชในวัฒนธรรมพุทธเกาหลี จะทำให้พวกท่านได้มีความเข้าใจในประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการสื่อสารของชาวเกาหลีมากขึ้น และ เกิดความเข้าใจกันได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น” พระอาจารย์จาซุง ประธานองค์กรโจงเกของพุทธศาสนาของสาธารณรัฐเกาหลี

               “พวกเราอยู่ในช่วงเวลาที่โลกต้องการความเป็นหนึ่งเดียว ความกรุณา และความเข้าใจ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือกันของมนุษยชาติ ดังนั้นผมจึงขอขอบคุณทุกท่านที่มีหน้าที่เผยแผ่พระธรรมไปทั่วทุกมุมโลกที่มาร่วมงานในครั้งนี้” ท่านแผน วรรณเมธี ประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก 
 
               “ข้าพเจ้าหวังว่า ทุกท่านจะเปิดใจกว้าง และมีโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างการประชุมสัมมนาที่เต็มไปด้วยสาระและประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ” ดร. ยู จอง คิม ประธานสมาคมฆราวาสชาวพุทธขององค์กรโจงเกของพุทธศาสนาในสาธารณรัฐเกาหลี
 
               “คำสอนที่สำคัญของพระพุทธเจ้า เรื่องความกรุณาที่พระองค์ได้ตรัสรู้มาเมื่อ ๒,๕๐๐ ปีที่แล้ว  ทำให้ผู้คนมากมายได้พ้นทุกข์ ทำให้เกิดสันติภาพบนโลก…ในขณะที่ยังคงมีความขัดแย้ง ความทุกข์ภายใน รวมทั้งการหลงทางของผู้คนบนโลก ดังนั้น นี่อาจเป็นเวลาที่ดีที่สุดที่จะนำคำสอนของพระพุทธเจ้าออกมาเผยแผ่ให้เกิดสันติภาพ และการอยู่ร่วมกันอย่างที่พระองค์แสดงให้เห็น เปรียบราวกับการที่น้ำพวยพุ่งออกเป็นน้ำพุที่เย็นฉ่ำ ทำให้สรรพสิ่งสดชื่น” ลี มยอง บัค  ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐเกาหลี  

               การประชุม ปรากฏการณ์ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมเชิงพุทธในศตวรรษที่ ๒๑ นั้นเป็นการสัมมนาทางวิชาการ และสัมมนาทางธุรกิจ โดยมีตัวแทนนักวิชาการและนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงมากมายมาร่วมนำเสนอทางเลือกในมุมมองพุทธศาสนาในประเด็นที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในโลก โดยงานในครั้งนี้เป็นการจัดการประชุมครั้งที่ ๓ ของการสัมมนาธุรกิจของชาวพุทธ ทั้งยังเป็นการพบปะกันครั้งที่ ๙ ของคณะกรรมการมหาวิทยาลัยพุทธโลก...(อ่านเพิ่มเติมได้จากนิตยสาร ‘ธรรมสวัสดี’ ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๕)
  
       ธรรมสวัสดี