พระเครื่อง

๓นิกายสติเดียว

๓นิกายสติเดียว

03 ก.พ. 2556

๓นิกายสติเดียว : วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยพระชาย วรธัมโม

              อาจารย์คนแรกที่สอนผู้เขียนให้รู้จัก "สติ" เป็นพระธรรมดา ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไร ท่านชื่อพระอาจารย์มหาดี ติสสเทโว ตอนที่ผู้เขียนบวชได้สองเดือนอาจารย์ดีได้ย้ายมาสอนบาลีในวัดที่ผู้เขียนบวชอยู่ วันที่อาจารย์ย้ายมาช่วงนั้นผู้เขียนไปธุระที่อื่น พอกลับมาถึงวัด พี่สาวซึ่งบวชเป็นแม่ชีบอกว่าพระอาจารย์ดีฝากบอกว่า ผู้เขียนจิตใจเหม่อลอยไม่ค่อยมีสติ มีอาการน่าเป็นห่วง หากมีเวลาว่างให้ไปพบท่านด้วย จึงหาเวลาไปสนทนาธรรมกับท่านที่กุฏิ พบว่าท่านเป็นพระที่มีอัธยาศัยดีถึงแม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อนแต่ก็เหมือนกับเรารู้จักกันมานาน ท่านรู้ว่าผู้เขียนไม่มีสติตั้งแต่ยังไม่รู้จักหน้าค่ากันด้วยซ้ำ เมื่อสนทนากันจึงถามท่านว่าแล้วความมีสติคืออะไร ต้องปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะเป็นคนมีสติ อาจารย์ดีตอบสั้นๆ ง่ายๆ ว่า "ทำอะไรก็ให้รู้ลมหายใจเข้า-รู้ลมหายใจออกแค่นั้นก็พอ"

              ได้ฟังแค่นั้นก็เข้าใจทันทีว่าอาจารย์ดีหมายความว่าให้เรามีการระลึกรู้ตัวตลอดเวลานั่นเองโดยใช้ "ลมหายใจ" เป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกฝนให้ตัวเรามีสติรู้ตัวต่อเนื่องตลอดเวลา

              ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาผู้เขียนก็เฝ้าปฏิบัติตนให้มีการระลึกรู้ตัวตลอดเวลาไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน ซักผ้า เข้าห้องน้ำ สรงน้ำ เดินไปโน่นมานี่ และรู้สึกสนุกที่ตัวเองได้เฝ้าระวังจับจ้องตัวเองให้มีสติตื่นรู้อยู่ตลอดเวลามิได้ขาดจนอาจารย์ดีต้องมาเตือนว่า "ท่านตั้งใจมากเกินไปแล้ว พอสติหายไปท่านก็พยายามจับจ้องให้มีมันอยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องการให้มันหายไปไหน" ได้ฟังแค่นั้นก็เข้าใจทันทีว่าตัวเองกำลังปฏิบัติผิด

              เมื่อไรที่ "การระลึกรู้" หายไป เราก็เฝ้ากำหนดจับจ้องให้มันคงอยู่กับเราไม่ให้คลาดสายตาไปไหน พอสติหายไปเราก็ผิดหวังจนรู้สึกเกร็งไม่เป็นไปตามธรรมชาติเพราะพยายามจับจ้องให้มันคงอยู่กับเราไปนานๆ ซึ่งแท้จริงแล้วสติหรือการระลึกรู้ของเราในฐานะที่เป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาสามารถสูญหายลืมเลือนไปได้ซึ่งเป็นเรื่องปกติ การพยายามจับจ้องและเฝ้าระวังไม่ให้สติหายไปจึงเป็นเรื่องผิดปกติและเป็นการปฏิบัติที่ตึงเกินไป

              อาจารย์ดีแนะนำว่า "ท่านไม่ต้องเฝ้าจับจ้องจนมากเกินไปขนาดนั้น เมื่อไรที่สติหรือการระลึกรู้หายไปก็กำหนดให้เกิดขึ้นมาใหม่แค่นั้นเอง" เมื่อนั้นผู้เขียนจึงเข้าใจวิธีการเจริญสติมากขึ้นว่าเราไม่ต้องคาดหวังให้มันอยู่กับเราไปตลอดหรือหมกมุ่นกับมันมากจนเกินไป ถ้ามันหายไปก็กำหนดมันขึ้นมาใหม่แค่นั้นเอง

              นั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผู้เขียนได้รู้จักกับคำว่า "สติ" เพราะเท่าที่ผ่านมาเรารู้จักคำว่าสติแต่ไม่เคยรู้เลยว่าสติคือ "ความระลึกได้" แค่เราระลึกได้ว่าเรากำลังทำอะไรในปัจจุบันก็คือสติอย่างแท้จริง ผู้เขียนโชคดีที่ได้รู้จักกับครูบาอาจารย์ที่มีเมตตาช่วยแนะนำการเจริญสติให้หลังจากที่บวชได้ไม่นาน ทำให้ทราบแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเจริญสติ

              โดยปกติผู้เขียนเป็นคนชอบฝันกลางวันปล่อยให้ความคิดล่องลอยฟุ้งกระจายไปในอากาศโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะหยุดความฟุ้งซ่านฟุ้งกระจายนั้นได้อย่างไร บังเอิญอาจารย์ดีเป็นพระที่รู้ใจ รู้ว่าจะสอนผู้เขียนให้มีสติและรู้ว่าจะแนะนำผู้เขียนให้ปฏิบัติอยู่ในทางสายกลางได้อย่างไร หากอาจารย์ดีไม่แนะนำผู้เขียนก็คงตั้งใจที่จะมีสติมากจนเกินไปและไม่รู้ว่าจะหลุดออกจากการยึดติดในสตินั้นได้อย่างไร

              อาจารย์ดียังแนะนำเพิ่มเติมว่าขณะสวดมนต์ก็ให้สติอยู่กับลิ้นหรือริมฝีปาก แต่ละวันที่ผ่านไปก็พยายามอย่าให้จิตคิดถึงเรื่องที่ไกลจากตัวเราเกินกว่าหนึ่งเมตร นั่นเป็นคำสอนของอาจารย์ดีที่ผู้เขียนยังจำได้ ท่านอยู่วัดเดียวกับผู้เขียนเพียงแค่ปีเดียวเมื่อท่านย้ายไปเราก็ไม่เคยพบท่านอีกเลย

              ๓ ปีต่อมาผู้เขียนได้พบกับลามะในสายวัชรยานท่านหนึ่งโดยบังเอิญ ท่านชื่อ สมันตา ท่านบวชมาจากเนปาลเป็นนิกาย "เกลุกปะ" หรือนิกายหมวกเหลือง ย้อนหลังกลับไปประมาณ ๒๐ ปีที่แล้วคนไทยยังรู้จักพุทธศาสนานิกายวัชรยานกันน้อย แม้ปัจจุบันพุทธศาสนานิกายวัชรยานก็ยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก การได้สนทนาธรรมกับท่านสมันตาเป็นการเปิดโลกทัศน์ทำให้รู้จักพุทธศาสนานิกายวัชรยานมากขึ้น

              พุทธศาสนานิกายวัชรยานมีถิ่นกำเนิดอยู่บนเทือกเขาหิมาลัยในประเทศทิเบต นิกายนี้มีความเชื่อว่าลามะคือพระโพธิสัตว์ที่กลับชาติมาเกิดเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากวัฏสงสาร ทุกวันนี้ประเทศทิเบตถูกจีนยึดครองทำให้ชาวทิเบตและลามะจำนวนมากต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ ดาไลลามะผู้นำทิเบตยังต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศอินเดีย ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนาแบบทิเบตจึงกระจายออกไปเจริญเติบโตนอกประเทศทิเบต คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยหันมาให้ความสนใจพุทธศาสนาแบบทิเบตและเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นชาวพุทธหลังจากได้ปฏิบัติภาวนากับลามะที่เข้าไปเผยแผ่พุทธศาสนาในอเมริกา คนอเมริกันจึงรู้จักพุทธศาสนานิกายวัชรยานมากกว่านิกายอื่นๆ

              ผู้เขียนมีโอกาสถามท่านสมันตาว่าแนวทางการปฏิบัติธรรมของท่านเป็นอย่างไร ท่านตอบว่าแนวทางการปฏิบัติของท่านคือการเจริญสติ รู้สึกตัวตลอดเวลาหรือบางครั้งก็กำหนดให้จิตอยู่กับจิต ไม่ให้จิตฟุ้งซ่านไปไหน นั่นเป็นครั้งที่สองที่มีโอกาสพบกับครูบาอาจารย์ที่สอนการปฏิบัติในแนวทางการเจริญสติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นครูบาอาจารย์ที่มาจากนิกายวัชรยาน ซึ่งเป็นนิกายที่มาจากเทือกเขาหิมาลัยอันแสนไกล ผู้เขียนรู้สึกประหลาดใจถึงแม้เราจะมาจากคนละนิกายที่อยู่ห่างไกลกันแต่เราก็มีแนวทางการปฏิบัติแบบเดียวกันคือ "การเจริญสติ"
  
              ราวปี ๒๕๔๗ หรือประมาณสิบปีถัดมาคณะสงฆ์จากหมู่บ้านพลัม ซึ่งเป็นสายของท่านติช นัท ฮันห์ เป็นพุทธศาสนาสายมหายานจากประเทศเวียดนามที่ไปเจริญเติบโตอยู่ในประเทศฝรั่งเศสได้เดินทางมาจัดงานภาวนาในเมืองไทย นำโดย ภิกษุณีนิรามิสา งานภาวนาครั้งนั้นจัดที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งใน จ.นครราชสีมา ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมภาวนาครั้งนั้นด้วย รู้สึกประหลาดใจอีกครั้งเมื่อพบว่าวิถีการปฏิบัติของหมู่บ้านพลัมใช้การเจริญสติที่ลมหายใจเข้า-ออกเป็นเครื่องมือระลึกรู้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นวิธีเดียวกันกับที่อาจารย์ดีเคยสอนผู้เขียนเมื่อหลายปีก่อน พร้อมกับรู้สึกทึ่งเมื่อค้นพบว่าพุทธศาสนาทั้ง ๓ นิกาย คือ เถรวาท มหายาน และวัชรยาน ต่างมีวิถีการปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน คือ การมีสติระลึกรู้อยู่ในปัจจุบัน

              สิ่งที่น่าสนใจก็คือพุทธศาสนาได้ผ่านการเดินทางมาแล้วกว่า ๒,๕๐๐ ปี มีการแตกออกเป็นนิกายใหญ่ๆ ๓ นิกาย คือ เถรวาท มหายาน และวัชรยาน แต่ละนิกายได้เดินทางแผ่กระจายไปตามจุดต่างๆ ของโลก แทรกซึมอยู่ในดินแดนที่แตกต่างกันทั้งภาษา วัฒนธรรม ประเพณี มีชื่อเรียกนิกายที่ไม่เหมือนกัน เมื่อดูจากภายนอกเราแตกต่างกันมาก

              ถึงแม้เราจะดูแตกต่างกันอย่างไร การปฏิบัติที่เป็นเอกลักษณ์ทำให้เรามีความเหมือนกันทั้งสามนิกายก็คือ "การมีสติระลึกรู้อยู่ในปัจจุบัน"  นั่นเอง
ล้อมกรอบ  

              ขอเชิญฝึกเจริญสติ สมาธิ วิปัสสนากรรมฐาน โดยพระ ดร.อนิล ธมมสากิโย (ศากยะ) ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร แสดงปาฐกถาธรรมหัวข้อ “A Meditation on Gratitude: Dedication to Her Serene Highness Princess Poon Pismai Diskul” (เป็นภาษาอังกฤษ) บ่ายวันนี้ (อาทิตย์ที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖ ) เวลา ๑๔.๐๐-๑๗.๐๐ น. ณ องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก สำนักงานใหญ่ ในอุทยานเบญจสิริ ระหว่างซอยสุขุมวิท 22-24 กรุงเทพฯ โทร.๐-๒๖๖๑-๑๒๘๔-๗