ไลฟ์สไตล์

ฟื้นข้าวเหนียว 'เขี้ยวงู' พันธุ์แท้ เพิ่มทางเลือกชาวนา

ฟื้นข้าวเหนียว 'เขี้ยวงู' พันธุ์แท้ เพิ่มทางเลือกชาวนา

07 ส.ค. 2557

ทำมาหากิน : ฟื้นข้าวเหนียว 'เขี้ยวงู' พันธุ์แท้ เพิ่มทางเลือกชาวนาเชียงราย : โดย...ดลมนัส กาเจ

 
                           กว่า 37 ปี "ข้าวเหนียวเขี้ยวงู" พันธุ์แท้ที่มีแหล่งเพาะปลูกในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน หลังจากที่ข้าวเหนียวพันธุ์ กข 6 มาแทนที่ตั้งแต่ปี 2520  แต่กระนั้นยังมีแม่ค้าบางรายที่ขายข้าวเหนียวมูน เอาชื่อข้าวเหนียวเขี้ยวงูมาแอบอ้าง ที่แท้เป็นการนำข้าวเหนียว กข 6 ที่ผ่านกรรมวิธีของโรงสี จนล่าสุดกรมการข้าวได้ปัดฝุ่น หันมาฟื้นข้าวเหนียวพันธุ์เขี้ยวงู และจะเริ่มส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกใน จ.เชียงรายอย่างจริงจังในปี 2558 นี้ เบื้องต้น ป้อนให้องค์การตลาดเพื่อการเกษตรปีละ 50 ตัน
 
                           ชาญพิทยา ฉิมพาลี อธิบดีกรมการข้าว บอกว่า ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเป็นข้าวที่ชาวบ้านภาคเหนือตอนบนทั้งที่ จ.เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ปลูกกันมานานแล้ว ส่วนใหญ่นอกจากจะนำไปบริโภคประจำวันแล้ว ยังสามารถแปรรูปทำเป็นอาหารหวานได้หลายชนิดที่นิยมมากที่สุดเป็นข้าวเหนียวมูน แต่ตอนหลังเกษตรกรหันมาปลูกข้าวเหนียว กข 6 ของกรมการข้าว ทำให้การปลูกข้าวเหนียวเขี้ยวงูเงียบหายไป แต่เนื่องจากข้าวเขี้ยวงูมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ อร่อย นุ่ม ทางกรมการข้าวจึงหันฟื้นใหม่ โดยให้ศูนย์วิจัยข้าวเชียงรายเป็นผู้รับผิดชอบ และจากการที่นำผลผลิตให้หลายฝ่ายลองชิม ต่างเห็นว่าควรจะมีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะที่ จ.เชียงราย 
 
                           "ผมได้รับรายงานว่า หลังจากที่เรานำไปทดลองปลูก มีเกษตรกรที่ จ.พะเยา นำไปปลูกด้วย แปรรูปทำเป็นข้าวสารขายถุงละกว่า 100 บาท ตรงนี้ถือเป็นทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรในยุคที่ราคาถูก ล่าสุดกรมการข้าวได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน หรือเอ็มโอยูกับองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในฤดูกาลปี 2558 โดย อ.ต.ก.จะเป็นผู้ซื้อในเบื้องต้นปีละ 50 ตันในราคาที่แปรรูปบรรจุถุงในราคาประมาณ กก.ละ 38 บาท ต่อไปจะมีการขยายหาตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต" ชาญพิชญา กล่าว 
 
                           ด้าน ปิยะพันธ์ ศรีคุ้ม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย บอกว่า เกษตรกรไม่ได้ปลูกข้าวเหนียวเขี้ยวงูมาตั้งแต่ปี 2520 แล้ว หลังจากที่รัฐบาลส่งเสริมให้ปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ กข 6 โดยรัฐบาลยุคนั้นมีนโยบายให้นำข้าวเหนียวพันธุ์เก่ามาแลกกับพันธุ์ กข 6 นับแต่นั้นมาข้าวเหนียวเขี้ยวงูก็ค่อยหายไป เพราะชาวนาหันไปปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตและรายได้สูงกว่า แต่กระนั้นยังมีการอ้างข้าวเหนียวเขี้ยวงูมูนที่วางขายในพื้นที่บางแห่ง ทั้งที่ความจริงโรงสีนำข้าว กข 6 ไปสีหลายรอบ จากปกติสีแค่ครั้งเดียว เปลี่ยนมาขัดสี 3 รอบ ให้เมล็ดข้าวเล็กเรียวใกล้เคียงข้าวเหนียวเขี้ยวงูของแท้เท่านั้นเอง 
 
                           ในปี 2548  ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย สมัยยังเป็นศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตเชียงราย อ.พาน ไปขอเชื้อพันธุ์ข้าวเหนียวเขี้ยวงูจากศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ อ.ธัญบุรี จ.ปุทมธานี เพื่อทดลองพัฒนาพันธุ์ 28 สายพันธุ์ จากนั้นมาปลูกเพื่อคัดเลือกพันธุ์  โดยพายัพภูเบศวร์ มากกูล นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ และในปี 2549-2551เริ่มทำการคัดเลือกพันธุ์บริสุทธิ์ โดยใช้วิธีการคัดเลือกแบบหมู่ จนได้สายพันธุ์บริสุทธิ์ทั้ง 3 สายพันธุ์ รวมทั้งบันทึกลักษณะประจำพันธุ์ไว้ทั้งหมด ปี 2549-2554 ทดสอบปฏิกิริยาต่อโรค แมลง การตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจน วิเคราะห์คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและเคมี องค์ประกอบทางเคมี คุณค่าทางโภชนาการและปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ  
 
                           จนปี 2552-2554 นำข้าวเหนียวเขี้ยวงูดังกล่าวเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานีที่ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย และในนาเกษตรกร 5 แปลง  ที่ อ.เมือง แม่จัน และ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย จนได้สายพันธุ์แนะนำ G.S.No.8974  ซึ่งเป็นข้าวเหนียวเขี้ยวงูที่มีลักษณะเหมาะสมที่สุด พบว่าการปลูกให้ผลผลิตเฉลี่ยตกไร่ละ  573 กก.และจะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอย่างจริงในฤดูกาลเพาะปลูกปี 2558/2559
 
 
 
 
 
 
-------------------------------
 
(ทำมาหากิน : ฟื้นข้าวเหนียว 'เขี้ยวงู' พันธุ์แท้ เพิ่มทางเลือกชาวนาเชียงราย : โดย...ดลมนัส กาเจ)