ไลฟ์สไตล์

รู้จักชามตราไก่ ผ่านพิพิธภัณฑ์เซรามิกธนบดี

รู้จักชามตราไก่ ผ่านพิพิธภัณฑ์เซรามิกธนบดี

17 ส.ค. 2557

ถิ่นไทยงาม : รู้จักชามตราไก่ ผ่านพิพิธภัณฑ์เซรามิกธนบดี

 
                           "ชามตราไก่" อยู่คู่กับครัวไทยมาช้านาน แต่ปัจจุบัน รูปร่างหน้าตาของถ้วยชามแม้จะเปลี่ยนไปไม่มากนัก แต่ลวดลายของจานและชามเปลี่ยนไปตามสมัยนิยม 
 
                           เมื่อก่อน ชามตราไก่ถือเป็นภาชนะหรูบนโต๊ะอาหาร แต่ปัจจุบัน เขาหาว่าเชย จนมาถึงยุคโหยหาอดีตนี่แหละ ที่ทำให้ผู้คนสนใจเครื่องใช้สมัยเก่าขึ้นมาอีกครั้ง
 
                           ชามตราไก่ ถือเป็นต้นตำรับของถ้วยชามสมัยนี้ก็ว่าได้ แหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่ จ.ลำปาง เนื่องจากมี "ดินขาว" หรือ "เกาลิน" คือดินที่มีสีขาวหรือสีซีจาง ทั้งในสภาพที่ยังไม่ได้เผาและเผาแล้ว คำว่า เกาลิน มาจากภาษาจีนหมายถึงภูเขาสูงที่เป็นแหล่งเกิดดินขาวในประเทศจีน ดินขาวลำปางมีแหล่งสำคัญอยู่ที่ อ.แจ้ห่ม เป็นดินที่เกิดจากการสลายตัวของหินฟันม้า ซึ่งสามารถนำมาทำเนื้อเซรามิกได้ทันทีโดยไม่ต้องเติมวัตถุดิบอื่นลงไปอีก ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ออกมาว่า ดินขาวลำปางอยู่ในตระกูลเดียวกับหินโทเซกิ ของญี่ปุ่น ในกลุ่มอุตสาหกรรมเซารามิกเรียกกันว่า ไชน่า สโตน เมื่อเผาที่อุณหภูมิสูงภถึง 1,300 องศาเซลเซียส จะได้เนื้อผลิตภัณฑ์พอร์ซเลนสีขาว แกร่ง ทนไฟสูง เหมาะแก่การทำถ้วยชามต่างๆ
 
                           คนค้นพบดินขาว ที่นำมาทำถ้วยชาม ก็คือ อาปาอี้ (ซิมหยู) แซ่ฉิน ซึ่งอพยพหนีความยากจนจากจีนมา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยไปอยู่กับพี่ชายที่เวียดนาม ก่อนจะอพยพมาอยู่ที่ธนบุรี ในปี 2490 อยู่ได้ 3 ปี ก็ย้ายตามเพื่อนขึ้นมาทำสวนผักอยู่เชียงใหม่ ด้วยความที่ที่บ้านเกิดในมณฑลกวางตุ้งก็ทำเซรามิกและทำไร่อยู่แล้ว พอไปเห็นหินลับมีดที่ชาวบ้านนำมาขาย ก็ดูออกว่าเป็นแร่ดินขาว สอบถามคนที่นำมาขายถึงได้รู้ว่ามาจาก อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง
 
                           อาปาอี้ จึงปั่นจักรยานคู่ใจไปตามหาแหล่งแร่ดินขาว พบที่ บ้านปางค่า อ.แจ้ห่ม จากนั้นได้จ้างเกวียนบรรทุกแร่ดินขาวออกมา แล้วนำขึ้นรถไฟกลับมาบ้าน ทดลองปั้นถ้วยชาม ปรากฏว่าดินที่ได้มาเป็นเนื้อดินขาวคุณภาพดี เผาที่อุณหภูมิสูงไม่มาก เหมาะสำหรับการปั้นถ้วยชาม ต่อมาก็ได้ชักชวนเพื่อนชาวจีนก่อตั้งโรงงานเครื่องปั้นดินเผาแห่งแรกขึ้นที่จ.ลำปาง คือ โรงงานร่วมสามัคคี เมื่อปี 2500  
 
                           ช่วงที่ผลิตชามไก่ช่วงแรกๆ ซึ่งไม่ได้มีเครื่องจักรอะไร ทุกอย่างต้องใช้แรงคนหมด รวมถึงใช้เตาเผามังกร เป็นเตาเผาแบบยาว ซึ่งเผาชามไก่ได้ถึง 5,000-8,000 ใบต่อเตา และเผาถ้วยขนมและถ้วยตะไลได้ถึง 2 หมื่นใบต่อเตา แม้โรงงานร่วมสามัคคีจะเลิกกิจการไป แต่งานเครื่องปั้นดินเผาของอาปาอี้ สืบทอดสู่ทายาทรุ่นที่ 2 ภายใต้ชื่อโรงงานธนบดีสกุล 
 
                           ยุคนั้นชามไก่ขายดีมากๆ ส่วนใหญ่ขนาด 5-6 นิ้ว จะใช้กันตามบ้านหรือขึ้นโต๊ะข้าวต้มผู้ดี ส่วนชามไซส์ใหญ่ขึ้น คือ 7-8 นิ้ว มักจะเป็นชามที่พวกใช้แรงงานนิยมใช้เพราะกินจุ แต่มาถึงสมัยนี้ รูปแบบของถ้วยชาม ตลอดจนลวดลายมีการพัฒนาไปมาก มีมากมายหลายขนาด รวมถึงการใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยผลิตถ้วยชาม นอกจากผลิตเพื่อเป็นภาชนะในครัวเรือนแล้ว ยังใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง ไปจนถึงของสะสมได้อีกด้วย
 
                           วันนี้โรงงานธนบดีได้ เปิดตัวเป็นพิพิธภัณฑ์เซรามิกธนบดี เก็บรวบรวมเรื่องราวความเป็นมาของชามไก่ ประวัติศาสตร์แห่งความภาคภูมิใจให้ผู้คนทั่วไปได้เข้ามาศึกษา ตั้งแต่ขั้นตอนแรก จนจบกระบวนการ เราจะได้เห็นชามไก่สมัยโบราณ ชามไก่ทอง ไปจนถึงชามจิ๋วที่มีขนาดเล็กกว่าข้าวเปลือก โดยที่มีลวดลายครบถ้วน เผลอๆ อาจได้ลงมือวาดลวดลายบนชามด้วยพู่กัน เก็บเป็นของที่ระลึกชิ้นเดียวในโลกด้วย