ไลฟ์สไตล์

'หอยบุษราคัม'ชนิดใหม่-ชื่อพระราชทาน

'หอยบุษราคัม'ชนิดใหม่-ชื่อพระราชทาน

09 ก.ย. 2558

พบหอยต้นไม้ชนิดใหม่ของโลกที่เกาะกระ สมเด็จพระเทพฯ พระราชทานชื่อ 'หอยบุษราคัม' อีกชนิด 'หอยนกเหลืองแม่สอด' ปลื้ม ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ

 
                      9 ก.ย. 58  ที่โรงแรมศุโกศล  คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แถลงข่าว การค้นพบ 'หอยต้นไม้ชนิดใหม่ของโลก' สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อ 'หอยบุษราคัม' พร้อมเปิดเผยการค้นพบหอยทากสวยงามอีก 1 ชนิด โดยมี ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทย์ฯ จุฬาฯ ในฐานะหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยซิสเทมาติกส์ของสัตว์ พร้อมด้วย ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมในการแถลงข่าว
 
 
\'หอยบุษราคัม\'ชนิดใหม่-ชื่อพระราชทาน
 
 
                      โดย ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าวว่า จากการศึกษาความหลากหลายของสปีชีส์หอยทากบกในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 30 ปี ประมาณการได้ว่า ประเทศไทยมีหอยทากบกทั้งสิ้น 1,000 - 1,500 ชนิด ขณะเดียวกันยังค้นพบหอยทากชนิดใหม่ของโลก ประมาณ 100 ชนิด โดยเฉพาะหอยต้นไม้ หรือ หอยนก ซึ่งมีสีสันสวยงามได้รับการขนานนามว่า 'อัญมณีแห่งพงไพร' หรือ 'Gems of the forest' ทั้งนี้ ในปี 2558 ผลงานการค้นพบหอยต้นไม้ของคณะวิจัยได้ถูกนำไปตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ 'ZooKeys 2015' ถึง 2 ชนิด โดยชนิดแรกตนและคณะวิจัยได้เก็บตัวอย่างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 จากการลงสำรวจพื้นที่เกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืนอันเนื่องจากมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้ค้นพบหอยต้นไม้สวยงามชนิดใหม่มีสีเหลืองสดใส ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระราชทานชื่อหอยว่า 'หอยบุษราคัม' ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amphidromus principalis Sutcharit & Panha, 2015 (แอมฟิโดรมัส พรินซิพาลิส) ทั้งนี้ คำว่า 'principalis' เป็นภาษาละติน มีความหมายว่า 'of the princess' อันหมายถึงองค์สมเด็จพระเทพฯ
 
 
\'หอยบุษราคัม\'ชนิดใหม่-ชื่อพระราชทาน
 
 
                      "สำหรับคุณลักษณะของหอยบุษราคัมนั้น เปลือกมีสีเหลืองแวววาวเปรียบดั่งพลอยบุษราคัมล้ำค่า และมีลายเส้นสีเหลืองเข้มพาดตั้งฉากกับแนววงเปลือก เปลือกวงสุดท้ายมีสีเหลืองเข้มกว่าวงเปลือกด้านบน ขนาดเปลือกสูง 2.5 - 3.6 เซนติเมตร (ซม.) กว้าง 1.5 - 2.0 ซม. ส่วนลำตัวสีขาวนวลถึงสีครีมไม่มีลวดลาย ชอบอาศัยอยู่บนต้นไม้ในป่าดิบชื้นตามเกาะในอ่าวไทย บริโภคสาหร่ายและไลเคนบนผิวต้นไม้ ดำรงชีวิตบนต้นไม้ตลอดชีวิต มีเปลือกเวียนทางด้านซ้ายทุกตัวทั้งประชากร ศัตรูธรรมชาติ คือนกหลายชนิดและหนู มีการผลิตเมือกจากเท้าและแมนเทิลที่ทำสีขาวใส ช่วยเคลือบผิวลำตัวให้ขาวมันแวววาว มีสารที่เป็นประโยชน์ต่อการบำรุงผิวพรรณที่ละเอียดอ่อน มีศักยภาพไปสู่อุตสาหกรรมเวชสำอางได้อีกด้วย โดยปัจจุบันพบหอยบุษราคัม ที่เกาะกระ เพียงแห่งเดียว จึงถือเป็นทรัพยากรสำคัญและมีมูลค่าแก่การอนุรักษ์บนผืนป่าในหมู่เกาะแห่งท้องทะเลไทย"
 
 
\'หอยบุษราคัม\'ชนิดใหม่-ชื่อพระราชทาน
 
 
                      ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับหอยต้นไม้ชนิดที่สองที่ค้นพบใหม่ คือ 'หอยนกเหลืองแม่สอด' หรือ หอยนกขมิ้นขอบวงน้ำตาล Amphidromus globonevilli Sutcharit & Panha, 2015 (แอมฟิโดรมัส โกลโบเนวิลไล) พบที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก หอยชนิดนี้อาศัยเฉพาะถิ่นบนต้นไม้ตลอดชีวิต เปลือกมีสีเหลืองและใต้ขอบวงมีแถบสีน้ำตาล เปลือกวงสุดท้ายมีแถบสีน้ำตาลสองแถบตามแนววงเปลือกใกล้กับปากเปลือก ขนาดเปลือกสูง 1.8 - 2.3 ซม. กว้าง 1.2 - 1.5 ซม. ลำตัวหอยสีขาวนวลถึงสีครีม หรือน้ำตาลอ่อน
 
 
\'หอยบุษราคัม\'ชนิดใหม่-ชื่อพระราชทาน
 
 
                      "การค้นพบหอยต้นไม้ทั้ง 2 ชนิดนี้ นับเป็นทรัพยากรชีวภาพที่ใช้เป็นดัชนีความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ และได้เห็นธรรมชาติของหอยอันเป็นปรากฏการณ์ที่นำไปสู่การนำหอยมาเป็นดัชนีการอนุรักษ์ป่า การนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ และสร้างมูลค่าเพิ่มสู่อุตสาหกรรมความงามได้ และที่น่ายินดีก็คือ หอยบุษราคัม และ หอยนกเหลืองแม่สอด ได้รับตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ 'ZooKeys 2015' เป็นการเผยแพร่ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยแก่สาธารณชน และสร้างความตระหนักให้แก่คนไทยให้เห็นความสำคัญและช่วยกันอนุรักษ์ดูแล" ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหอยต้นไม้สกุล Amphidromus ในประเทศไทยมีรายงานมากกว่า 20 ชนิด และสามารถพบได้ในแหล่งที่อยู่ธรรมชาติทั่วภูมิภาค ซึ่งหอยต้นไม้เหล่านี้ล้วนมีลวดลายและสีสันของเปลือกหอยที่แปลกตาแตกต่างกันไป