ไลฟ์สไตล์

มือถือเก่าไป เครื่องมือแพทย์ใหม่มา

มือถือเก่าไป เครื่องมือแพทย์ใหม่มา

10 ม.ค. 2561

รับบริจาคโทรศัพท์มือถือเก่าทุกยี่ห้อ ทุกประเภท ทุกสภาพ นำไปรีไซเคิลแปลงเป็นเงินมอบให้องค์กรเพื่อสังคม

      รู้มั้ย! คนไทยมีโทรศัพท์มือถือมากถึง 200 ล้านเครื่องในครัวเรือน ลองคิดเล่นๆ ว่าจำนวนนี้จะกลายเป็นขยะจำนวนเท่าไรแต่ละปี ที่สำคัญเป็น “ขยะอิเล็กทรอนิกส์มีพิษ” ที่ยังจัดการไม่ได้ นำมาซึ่งโครงการ “มือถือเก่าไป ชีวิตใหม่มา” โดย ธะเร ศรีแสงสุข นักธุรกิจด้านการบริหารจัดการขยะ เดินหน้ารับบริจาคโทรศัพท์มือถือเก่าทุกยี่ห้อ ทุกประเภท ทุกสภาพ นำไปรีไซเคิลแปลงเป็นเงินมอบให้องค์กรเพื่อสังคม โดยจัดงานแถลงข่าวความสำเร็จเฟสแรก พร้อมต่อยอดเฟส 2 ในแนวคิด “มือถือเก่าไป เครื่องมือแพทย์ใหม่มา” ตั้งเป้ารับบริจาคให้ได้ 5 ล้านเครื่อง ช่วยซื้อเครื่องมือแพทย์ใหม่ให้โรงพยาบาล 30 แห่งทั่วประเทศ ที่สโมสรโรงงานยาสูบ เมื่อวันก่อน

มือถือเก่าไป เครื่องมือแพทย์ใหม่มา

ศ.ดร.กุณฑลี รื่นรมย์

      ศ.ดร.กุณฑลี รื่นรมย์ ที่ปรึกษาโครงการ เปิดเผยถึงภาพรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ รวมถึงโทรศัพท์มือถือเมื่อถูกทิ้งแล้วจะมีสารเคมีที่เป็นพิษถ้าระบบการจัดการไม่ถูกต้อง จากงานวิจัยระบุว่าเราทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่เป็นที่ มีทั้งเก็บไว้เฉยๆ กับทิ้งลงขยะรวมกับขยะทั่วไป นอกจากนี้หลายคนไม่รู้ว่าชิ้นส่วนข้างในโทรศัพท์เป็นพิษ

      “ทำอย่างไรจึงจะกระตุ้นการรักษ์สิ่งแวดล้อม การรับบริจาคมือถือเก่าเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมปีที่แล้ว ตอนเปิดตัวโครงการได้รับบริจาคมา 1.7 ล้านเครื่อง คิดเป็นเงินมูลค่า 3.62 ล้านบาท บริจาคให้มูลนิธิรามาธิบดี สมทบทุนสร้างอาคารสถาบันการแพทย์, ศิริราชมูลนิธิ สร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา, มูลนิธิเดอะวอยซ์ ช่วยเหลือชีวิตสัตว์ และกลุ่มพหุชนคนอาสา สนับสนุนการทำงานจิตอาสาช่วยเหลือสังคมจังหวัดชายแดนใต้  จริงๆ แล้วอยากให้ครูที่โรงเรียนสอนเด็กเรื่องนี้ ขยะโทรศัพท์จะไปทิ้งรวมกับขยะอื่นๆ ไม่ได้ ต้องมีจุดรับโดยเฉพาะ คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าทิ้งกัน เพราะกลัวข้อมูลส่วนตัวจะหลุด ต้องคิดใหม่ว่าถ้าจะทิ้งให้นึกถึงมือถือเก่าไปได้ชีวิตใหม่มา” ที่ปรึกษาโครงการกล่าวพร้อมเสริมว่า คนไทยเปลี่ยนมือถือบ่อยมากถึง 2 ปีต่อครั้ง ด้วยเหตุผลความเก่า หลงโปรโมชั่นใหม่ๆ และตามกระแสแฟชั่น นำมาซึ่งขยะโดยไม่จำเป็น 

มือถือเก่าไป เครื่องมือแพทย์ใหม่มา

สายฝน อภิธนัง

     ด้าน สายฝน อภิธนัง หัวหน้าประชาสัมพันธ์โครงการ แจงขั้นตอนการกำจัดขยะมือถือว่าในโทรศัพท์มีส่วนประกอบเป็นพลาสติก 45 เปอร์เซ็นเตอร์ ทองคำ 0.02 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นทองแดง ทองคำขาว และแพลตตินัม เมื่อได้รับบริจาคมาแล้วก็จะมีการรวบรวมใส่ถุงที่มีความเหนียวเป็นพิเศษแล้วขนย้ายโดยบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จากนั้นส่งไปชลบุรีเพืิ่อลำเลียงทางเรือไปแยกธาตุต่างๆ ที่เมืองซัวเถา ประเทศจีน เนื่องจากเมืิองไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพราะกระบวนการคัดแยกยุ่งยาก โดยเฉพาะแบตเตอรี่จะเกิดมลพิษมาก ที่เมืองจีนจะนำไปหลอมแล้วกลับมาใช้ใหม่ ถือเป็นการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้มาก 

มือถือเก่าไป เครื่องมือแพทย์ใหม่มา

   ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถนำมือถือเก่าไปบริจาคได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 มกราคม ที่สถานีอนามัยทั่วประเทศ, ศูนย์ทสม.ประจำตำบล, ที่ทำการไปรษณีย์, ร้านเจมาร์ท ทุกสาขา, จิตอาสาโครงการ 2 หมื่นคนทั่วประเทศ ติดตามรายละเอียดโครงการที่ www.facebook.com/recycleandreduce/มือถือเก่าไป ชีวิตใหม่มา