Lifestyle

5G กับการพลิกโฉมอาเซียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยิ่งเวลาขยับเข้าใกล้ปี 2563 ความคึกคักของแต่ละประเทศในการโหมโรงนำพาประเทศเข้าสู่เวทีเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายยุคที่ 5 หรือ 5G ก็ยิ่งชัดเจนยิ่งขึ้น

          โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งได้รับการจับตามองว่าจะเป็นตลาด 5G ที่พัฒนาเติบโตได้อย่างรวดเร็วเป็นอันดับรองจากประเทศจีนเลยทีเดียว เนื่องด้วยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญคือ จำนวนประชากรรวมกันมากกว่า 600 ล้านคน ที่จะกลายเป็นทั้งผู้สร้างและผู้บริโภค “ข้อมูล” หนึ่งในผลพลอยได้ที่จะกลายมาเป็นตัวขับเคลื่อนนวัตกรรมและบริการรูปแบบใหม่ๆ ที่เป็นผลิตผลจากความสามารถของเทคโนโลยี 5G และเร่งความแรงของเศรษฐกิจดิจิทัล

          เมื่อไม่นานนี้มีบทความน่าสนใจจากเว็บไซต์ดิอาเซียนโพสต์ https://theaseanpost.com เรื่อง “5G กับการสร้างความเปลี่ยนแปลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (How 5G can transform Southeast Asia)” วิเคราะห์สถานะของภูมิภาคนี้ในยุคของอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีว่า ช่วง 5 ปีมานี้ได้กลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางที่เติบโตเร็วสุดในแง่การเป็นผู้นำที่ติดตั้งใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้แก่ บล็อกเชน ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) หุ่นยนต์ คลาวด์คอมพิวติ้ง และฟินเทค 

          อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ยังทำได้ไม่เต็มที่ เพราะติดข้อจำกัดด้านความเร็วของอินเทอร์เน็ตที่ยังให้บริการอยู่บนโครงข่าย 3G และ 4G ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมใครๆ จึงพากันเฝ้ารอการมาถึงของ 5G เพราะเทคโนโลยีล่าสุดนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยทลายข้อจำกัดเดิมๆ ด้วยความเร็วที่สูงขึ้นจากแบนด์วิธที่สามารถรองรับปริมาณข้อมูลมหาศาลยิ่งขึ้น และลดความหน่วง ดังนั้น การสื่อสารข้อมูลระหว่างกันในโครงข่ายจะทำได้เร็วขึ้น เสถียรขึ้น ใช้พลังงานต่ำลง และประหยัดต้นทุนกว่าเดิม

 

5G กับการพลิกโฉมอาเซียน

 

 

 ใครเป็นใครในสนามทดสอบ 5G อาเซียน 

 

          ปัจจุบันมีสมาชิกอาเซียนหลายประเทศประกาศเดินหน้าการทดสอบ 5G แล้ว (ระหว่างรอการประกาศคลื่นความถี่ 5G อย่างเป็นทางการในปี 2563 จากคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐ หรือ FCC) ทั้งประเทศมาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม และไทย ขณะที่ ประเทศอินโดนีเซีย ประเดิมไปบ้างแล้วระหว่างการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ 2018 ซึ่งผู้ให้บริการเครือข่าย 2 รายใหญ่ของประเทศ คือ Telkomsel และ XL นำร่องการทดสอบ

          ส่วนฟิลิปปินส์ ผู้ให้บริการรายใหญ่อย่าง Smart ได้ประกาศแผนลงเครือข่ายทดลองบริการ 5G ภายในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 และ Globe Telecom บอกว่าเครือข่าย 5G ของโกลบ จะพร้อมให้บริการได้ต้นไตรมาส 2 ปีหน้าเช่นกัน ขณะที่ สิงคโปร์ เตรียมเปิดตัวโครงการนำร่องบริการ 5G ภายในสิ้นปีนี้

          คำประกาศเหล่านั้นเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ในระหว่างการจัดงานโมบาย เวิลด์ คองเกรส (MWC 2019) ที่เพิ่งสิ้นสุดไป ทาง Maxis ผู้ให้บริการดิจิทัลและการสื่อสารของมาเลเซียได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับหัวเว่ยทำข้อตกลงความร่วมมือดำเนินการทดลองระบบ 5G แบบครบวงจร ตั้งแต่ระบบ 5G จากต้นทางถึงปลายทาง จนกระทั่งถึงการให้บริการ เพื่อเพิ่มความเร็วในการใช้งาน 5G ในประเทศมาเลเซียนอก

 

5G กับการพลิกโฉมอาเซียน

 

          จากนี้ Telkomsel ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย และหัวเว่ย ได้ประกาศจับมือกันสำรวจบริการด้านดิจิทัลและฝึกอบรมผู้มีความสามารถ โดยร่วมกับศูนย์นวัตกรรม 5.0 พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีในอนาคต ศึกษาและทดลองความเร็วของสัญญาณ 5G ส่งเสริมการพัฒนาด้านดิจิทัลของอินโดนีเซีย

          ทางด้านเวียดนามซึ่งเปิดตัวแรงมากกับเป้าหมาย 5G จนถึงขั้นที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นำมายกเป็นตัวอย่างเมื่อต้นสัปดาห์นี้ เพื่อกระตุ้นความตื่นตัวให้แก่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย โดยล่าสุด Viettel ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่สุดของเวียดนาม ประกาศแผนปีนี้เดินหน้าทดสอบบริการ 5G ตลอดทั้งปี ขณะที่รัฐวิสาหกิจผู้ให้บริการรายใหญ่สุดในเวียดนาม “Vietnam Post and Telecommunications Group (VNPT) ก็มีแผนจะทดสอบ 5G ภายใน 3 ปีเช่นกัน รวมทั้งได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (co-operation agreement) ไปแล้วกับโนเกีย ในการทดสอบและวิจัยด้านเครือข่ายไร้สาย

 

5G กับการพลิกโฉมอาเซียน

 

ประเทศไทยกำหนดโรดแม็พทดสอบ 5G

 

          ในส่วนของประเทศไทยซึ่งชัดเจนแล้วว่า ปีนี้จะเป็นปีแห่งการทดสอบ 5G ตลอดทั้งปี ก็มี 2 เจ้าภาพใหญ่เป็นกลไกผลักดันการทดสอบบริการ 5G ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยในส่วนของดีอี แนวทางการทดสอบการใช้งาน (Use Case) จะเกาะติดไปกับยุทธศาสตร์ชาติเพื่อผลักดันการใช้งานที่มีส่วนหนุนนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve) และเลือกพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นจุดตั้งฐานทดสอบ 5G Testbed ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา

 

5G กับการพลิกโฉมอาเซียน

 

          ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ล่าสุดมีความคืบหน้าในเรื่องการอนุญาตใช้คลื่นความถี่เพื่อการทดลอง และทดสอบเทคโนโลยี 5G โดย กสทช.อนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 2 ย่านความถี่สำหรับการทดสอบในพื้นที่ 5G Testbed แห่งนี้แล้ว ได้แก่ คลื่นความถี่ช่วง 24.25–27.5 GHz, 26.5–29.5 GHz และ 3.3–3.8 GHz ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการต่อยอดจากการเตรียมพร้อมอีโคซิสเต็มเพื่อรองรับพันธมิตรที่สนใจเข้ามาร่วมทดสอบการใช้งาน 5G ในศูนย์ทดสอบแห่งนี้ไปสู่การ action อย่างเต็มตัว โดยใช้จุดเด่นในการเป็นพื้นที่ Sandbox (พื้นที่การประกอบธุรกิจหรือให้บริการใหม่ๆ ภายใต้กรอบกฎเกณฑ์กำกับดูแลที่ยืดหยุ่น)  ที่เปิดกว้างการทดลองพัฒนาบริการ และการใช้งานใหม่ๆ

          “ที่สำคัญเป็นการทดสอบกับอุปกรณ์ของจริงจากความร่วมมือของผู้ผลิตอุปกรณ์ 5G รายหลักๆ ที่ตอบรับเป็นพันธมิตรกับกระทรวงดิจิทัลฯ ในโครงการนี้แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีความต้องการเชิงพาณิชย์เกิดขึ้นก่อน”

           ปัจจุบันมีพันธมิตรตอบรับเข้าร่วมทดสอบแล้วมากกว่า 10 ราย ครอบคลุมผู้ให้บริการมือถือและเครือข่ายโทรคมนาคม/การสื่อสาร (ISPs) รายหลักทุกรายของไทย ผู้ผลิตอุปกรณ์ทั้งจากยุโรปและเอเชีย ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีระดับโลก ตลอดจนฝั่งผู้ใช้งานที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดการผลักดันและส่งเสริมภาคธุรกิจเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะในกลุ่มบริการที่คาดว่าจะมีความต้องการสูงในพื้นที่อีอีซี ได้แก่ Healthcare Health logistics และบริการสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน และรถยนต์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ IoT ได้ (Connected Vehicles) และรถยนต์ไร้คนขับ (Autonomous vehicles)

 

5G กับการพลิกโฉมอาเซียน

 

          โดยเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่ผ่านมา มีการหารือกันครั้งล่าสุดถึงโรดแม็พการเดินหน้าทดสอบการใช้งานจริง (Use Case) เป็นการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลสำหรับขับเคลื่อน 5G และเป็นไปตามหลักการของการทดสอบภาคสนามในพื้นที่อีอีซี ซึ่งกระทรวงฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานประสานงานการทดสอบการใช้งาน 5G ขึ้น เพื่อเดินหน้าการทดสอบให้สอดคล้องกับระยะเวลาของการอนุญาตการใช้คลื่นความถี่เพื่อการทดลองทดสอบเทคโนโลยีนี้

          ทางด้านสำนักงาน กสทช. อีก 1 เจ้าภาพโครงการนำร่องทดสอบ 5G ก็โหมบุกหนักในส่วนของพื้นที่เมือง โดยร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งศูนย์ทดสอบ 5G ภายในคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นเวลา 2 ปี โดยจะดำเนินการศึกษา ทดสอบ และตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ ระบบ รวมถึงบริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 5G ได้แก่ อุปกรณ์เชื่อมต่อ IoT, ระบบการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล, บิ๊กดาต้า, ระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ ระบบสาธารณสุขทางไกล เป็นต้น

          ศูนย์ทดสอบ 5G แห่งนี้ ยังมีแผนนำร่องปรับใช้กับระบบการแพทย์ทางไกลรักษา 4 โรคหลัก ได้แก่ โรคตา, โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง และโรคผิวหนังซึ่งเป็นโรคที่ไม่ต้องสัมผัสร่างกายโดยตรง ก็สามารถวินิจฉัยได้ อีกทั้งพบว่า 70-80% ของผู้ป่วยที่รอพบแพทย์ เป็นผู้ป่วยในกลุ่ม 4 โรคข้างต้น การนำเทคโนโลยี 5G เข้ามาปรับใช้ จึงสามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วย และลดความหนาแน่นของผู้ป่วยในโรงพยาบาล

 

 

ศักยภาพ 5G สานฝันสมาร์ทซิตี้

 

          ปัจจุบันสัดส่วนมากกว่า 50% ของประชากรในอาเซียน อาศัยอยู่ในเขตเมือง มีตัวเลขคาดการณ์ว่าภายในปี 2573 จะมีจำนวนประชาการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันถึง 90 ล้านคน อีกทั้งเมืองขนาดกลางที่มีจำนวนประชากรระหว่าง 2 แสน-2 ล้านคน จะขับเคลื่อนการเติบโตของภูมิภาคนี้ได้ถึง 40% อย่างไรก็ตาม ความท้าทายก็คือ ความหนาแน่นของจำนวนผู้อยู่อาศัยจะนำมาซึ่งปัญหาการจราจรติดขัด ความมั่นคงปลอดภัยของพลเมือง คุณภาพของน้ำและอากาศในเมือง รวมถึงที่อยู่อาศัย หากระบบริหารจัดการเมืองไม่ดีพอ ดังนั้น เครื่องมือแก้ปัญหาที่ผู้บริหารของอาเซียนมองตรงกันก็คือ “เทคโนโลยี”

 

5G กับการพลิกโฉมอาเซียน

 

          ในปี 2561 ประเทศกลุ่มอาเซียนประกาศ “เครือข่ายเมืองอัจฉริยะของอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network) โดยนำร่องด้วย 26 เมืองในอาเซียน ซึ่งมุ่งมั่นใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับประเทศไทยมี 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต และชลบุรี เป็นสมาชิกอยู่ในเครือข่ายนี้แล้ว

          โดยในมิติของการพัฒนาที่ต้องบูรณาการการใช้เทคโนโลยีเข้าไปในหลายส่วนที่สำคัญต่อการบริหารจัดการเมือง จุดเด่นในเรื่องความแรงและเร็วของ 5G จะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนที่สำคัญ เพราะการทำงานของสมาร์ทซิตี้ จำเป็นต้องมีการถ่ายโอนข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อุปกรณ์หรือระบบต่างๆ สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ระบบจราจร และระบบขนส่งสาธารณะ ที่ต้องสื่อสารกับเครื่องวัดอากาศได้ในเสี้ยววินาที ทั้งหมดนี้ทำให้อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทเป็นตัวบริหารจัดการสังคมมนุษย์

          สำหรับประเทศไทย ได้นำร่องเมืองอัจฉริยะแล้วใน 7 จังหวัด 10 พื้นที่ ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ กรุงเทพฯ เป็นต้น ส่วนปีที่ 2 คือปี 2562 จะขยายไปสู่ 24 จังหวัด 30 พื้นที่ และภายใน 5 ปีเริ่มปี 2563-2565 จะขยายไปทั่วประเทศ 77 จังหวัด 100 พื้นที่ต่อไป อีกทั้งได้กำหนดวาระเร่งด่วนที่ต้องพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั่วประเทศ ได้แก่ กลุ่มเมืองเดิมต้องปรับปรุงให้น่าอยู่ ส่วนกลุ่มเมืองใหม่ต้องออกแบบให้ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะตามลักษณะของเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน อาทิ เศรษฐกิจอัจฉริยะ เป็นต้น

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ