Lifestyle

'ปอยส่างลอง' ในละอองศรัทธาชาวไต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรื่อง-ภาพ โดย กอบภัค พรหมเรขา

          เสียงกังวานของฆ้องราวจุม ด้วยเสียงทุ้มจากกลองปู่เจ่ ดังแว่วมาแต่ไกลตั้งแต่ไก่ยังไม่โห่ ฟ้ายังไม่ทันสาง แต่บนศาลาวัดผาบ่องเหนือ แห่งเมืองสามหมอก กลับสว่างไสวไปด้วยดวงไฟประดิษฐ์จากช่างแต่งหน้าทั้งมือสมัครเล่นยันมืออาชีพที่สาละวนอยู่กับการเขียนหน้าทาปากให้เด็กน้อยผู้กำลังจะเป็น “ส่างลอง” ในอีกไม่กี่ชั่วโมง

'ปอยส่างลอง' ในละอองศรัทธาชาวไต

แต่งองค์แต่เช้าตรู่

          หลายวันก่อนหน้าหลังปิดเทอม เหล่าเด็กชายชาวไตในวัยซนจะต้องมาฝึกฝนท่องจำบทสวดขอบวชจนคล่องปากระดับหนึ่ง กระทั่งเมื่อเย็นวาน ซึ่งมีพิธีโกนผมส่าง รอไว้เรียบร้อย เช้ามืดของ “วันฮับส่าง” เช่นนี้ เด็กน้อยจะผ่านการอาบน้ำผสมส้มป่อย แช่ไว้ด้วยเงินทองเพชรนิลจินดา นัยว่าเพื่อขัดสีฉวีวรรณเสริมบารมีแก่ว่าที่ส่างลอง จากนั้นจัดแจงแต่งกายด้วยเสื้อขาวนุ่งผ้าโจงกระเบน ขึ้นสู่ศาลาวัดเพื่อแต่งองค์ทรงให้ครบเครื่องตามแบบฉบับลูกแก้วไทใหญ่ จากนั้นจึงเข้าสู่พิธีขอขมาพระสงฆ์และรับศีลรับพร ตามด้วยการตั้งขบวนแห่โดยจะมี “ม้าขี่” หรือ “ต๊ะแป” ซึ่งคัดเลือกจากญาติมิตรที่แข็งแรงกำยำ และไว้ใจได้ คอยสลับหมุนเวียนกันทำหน้าที่สำคัญนี้ รวมทั้งต้องกางร่มทอง หรือ ทีคำร่วมแห่พาส่างลองไปขอขมาศาลเจ้าเมือง รวมถึงพระสงฆ์ในวัดใกล้เคียง ก่อนจะแยกย้ายกันไปขอขมาลาโทษกับผู้เฒ่าผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ บ้านใดที่ส่างลองแวะไปก็ถือว่าเป็นบุญ จะจัดอาหารคาวหวานอย่างดีและผูกข้อมือสู่ขวัญให้ด้วย ระหว่างทางจะมีการโปรยข้าวตอกต้อนรับ ตกเย็นก็กลับไปที่วัดอีกครั้ง ขอขมาพระสงฆ์อีกหน แล้วกลับไปเตรียมงานใหญ่ในวันพรุ่ง

'ปอยส่างลอง' ในละอองศรัทธาชาวไต

เข้าห้องน้ำก็ต้องขึ้นม้าไป

'ปอยส่างลอง' ในละอองศรัทธาชาวไต

ขบวนแห่ข้ามนาข้าว

          เข้าสู่เช้าตรู่วันที่สอง ซึ่งมีพิธีการสำคัญคือ “ขบวนแห่โควหลู่” หรือการแห่เครื่องไทยธรรมรวมทั้งอัฐบริขารต่างๆ โดยญาติของส่างลองจะช่วยกันถือเครื่องบวชต่างๆ แห่นำไปวัด ส่วนหน้าสุดจะมี “เจ้าเมือง” ซึ่งชาวไตได้อัญเชิญจากศาลมาประทับบนหลัง “ม้าเจ้าเมือง” เพื่อคอยคุ้มครองมิให้ภูตผีย่างกรายมารบกวนขบวนส่างลอง ตรงกลางขบวนก็มิวายต้องมีวัยรุ่นใหญ่น้อยคอยรำหน้านาค ปิดท้ายด้วยส่างลองทั้งหมดที่ร่ายรำอยู่บนคอต๊ะแปอย่างสนุกสนานตลอดระยะทางที่เคลื่อนไป

'ปอยส่างลอง' ในละอองศรัทธาชาวไต

ระบำนกกิ่งกะหร่า

          ตกเย็นยังมีพิธีผูกข้อมือรับขวัญส่างลอง สลับด้วยการแสดงพื้นบ้านที่หาดูได้ยากอย่าง ระบำนกกิ่งกะหร่า ให้ได้ชม ก่อนปิดท้ายด้วยการ “กินผัก 12 หมี่” เลี้ยงอาหารเป็นกับข้าว 12 อย่างตามความหมายมงคล โดยพ่อแม่แก่สางลองจะเป็นผู้ป้อนจนครบ จากนั้นค่อยกินเองได้ตามใจจนจบพิธี  และในเช้าวันสุดท้ายซึ่งเป็น “วันหลู่” จะมีพิธี “ข่ามส่าง” หรือบรรพชา ห่มผ้าเหลืองนั่นเอง

'ปอยส่างลอง' ในละอองศรัทธาชาวไต

ขอขมาพระสงฆ์ก่อนรับศีลห้า      

          ชื่อ “ปอยส่างลอง” แยกได้เป็น 3 คำ และมีเพียง “ปอย” ที่แปลว่า “งาน” หรือ “การจัดงาน” คำเดียวเท่านั้น ที่แปลได้อย่างไม่มีข้อถกเถียง ส่วน “ส่าง” กับ “ลอง” นั้น แยกไปได้อีกหลายตำนานทั้งเก่าใหม่ของแต่ละท้องถิ่น อาทิ “ส่าง” ที่เพี้ยนมาจาก “(ขุน)สาง” หมายถึง “พระพรหม” กับ “ส่าง” ที่แปลว่า “สามเณร” ส่วน “ลอง” อาจมาจาก “อลอง” ที่หมายถึง “พระโพธิสัตว์” หรือหมายถึง “เชื้อกษัตริย์” ก็ได้ ที่ยิ่งกว่านั้นคือตำนานที่มาหลากหลายความเชื่อ อย่างเช่น เรื่องที่ง่ายที่สุดคือ การยกผู้บวชเสมือนเจ้าชายสิทธัตถะซึ่งเป็นมกุฎราชกุมาร ต้องแต่งองค์ทรงเครื่องและดูแลเป็นพิเศษ สายพ่อเฒ่าจิ่งน๊ะ เล่าว่า ส่างลอง แต่งกายเลียนแบบเทวดาที่ติดตามพระพุทธเจ้าลงมาจากดาวดึงส์ เพื่อมาร่วมฟ้อนรำกับมนุษย์เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้ากลับสู่โลก 

'ปอยส่างลอง' ในละอองศรัทธาชาวไต

ทำบุญกันเต็มที่

          และเมื่อมองในภาพรวม อาจสรุปรวมได้ว่า “การบวชเณรที่ยกผู้เข้าบวชเป็นผู้มีบุญญาบารมี ผ่านการชำระด้วยน้ำทิพย์จนได้เด็กชายผู้ผ่องใส พร้อมเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ด้วยจิตเบิกบาน”

          ชาวไต หรือ ชาวไทใหญ่ เคร่งครัดในงานประเพณีเป็นอย่างมาก และแทบทุกงานล้วนเกี่ยวกับความศรัทธาต่อพุทธศาสนา ในรอบปีจะมีงานกันทุกเดือน นัยหนึ่งว่าเพื่อกระตุ้นความสามัคคีร่วมแรงกายแรงใจแรงทรัพย์ หากเป็นงานใหญ่อย่าง ปอยส่างลอง ยิ่งต้องสามัคคีเป็นทวีคูณ เพราะนอกจากการจัดงานส่วนรวมที่วัดแล้ว ยังมีงานแยกแต่ละบ้านที่มีลูกหลานร่วมบวชอีกด้วย พ่อแม่ชาวไตบางคน พอรู้ว่าจะเกิดลูกชายก็มุ่งมั่นเก็บหอมรอมริบกันตั้งแต่ยังไม่ทันคลอด โดยปัจจุบัน ส่างลองแต่ละองค์ มีค่าใช้จ่ายว่ากันที่หลักแสนทีเดียว จนบางบ้านอาศัยการบวชพร้อมๆ กันหลายคนในครั้งเดียว ก็จะช่วยลดภาระบางส่วนไปได้

'ปอยส่างลอง' ในละอองศรัทธาชาวไต

ร่ายรำกันสุดเหวี่ยง

          “ความเชื่อตั้งแต่บรรพบุรุษว่า ครอบครัวไหนได้ลูกชายคนแรก ต้องให้เป็นส่างลองให้ได้ เมื่อเด็กถึง 10 ขวบ จะต้องให้เข้าบวช ปัจจุบันอาจไม่ถึง 10 ขวบ ก็ได้ เพราะเมื่อก่อน ถ้าต่ำกว่า 10 ขวบ เด็กจะตัวเล็ก และอาจยังศึกษาพระธรรมไม่รู้เรื่อง แต่สมัยนี้ 7 ขวบก็เริ่มเข้าส่างลองได้แล้ว” พ่อโสภิณ แก่นตัน กรรมการหมู่บ้านผาบ่อง เล่า

          คำว่า ”ส่างลอง" มาจากเทวดาที่ตามเสด็จพระพุทธเจ้าลงมาจากดาวดึงส์เพื่อขอบวช คนไตจึงจำลองเครื่องทรงของเทวดามา พอแต่งองค์ทรงเครื่องแล้วต้องไปอาราธนาศีล 5 จากพระสงฆ์ และต้องมี “ตะแป” คอยดูแลส่างลองอย่างน้อย 2 คนคอยประกบไม่ให้คลาดสายตา ไม่ว่าจะไปไหนมาไหน กระทั่งเข้าห้องน้ำ เพราะเมื่อก่อนเคยมีเหตุการณ์ส่างลองหาย พวกผีสางนางไม้จะชอบเทวดาองค์น้อยๆ จึงพาตัวไปซ่อนไว้ ชาวบ้านพากันหายังไงก็ไม่เจอ กระทั่งไปบนบานศาลเจ้าเมืองให้ช่วยหาถึงได้เจอ ดังนั้นจึงถือว่า เมื่อแต่งเป็นส่างลองแล้วต้องคุ้มกันให้ดี”

'ปอยส่างลอง' ในละอองศรัทธาชาวไต

ม้าเจ้าเมือง นำขบวนแห่

          ปอยส่างลอง กับชาวผาบ่อง เป็นประเพณีที่ยึดมั่นศรัทธาอย่างเหนียวแน่น อาจยืนยันไม่ได้ว่าจัดกันมายาวนานแค่ไหน แต่เท่าที่จะสืบค้นได้ก็ก็จัดกันมาตลอด สืบทอดกันมาเรื่อยๆ โดยจัดเวียนวัดกันไปแล้วแต่ศรัทธาของเจ้าภาพในแต่ละปี ส่วนยุคหลังขึ้นอยู่กับงบสนับสนุนของหน่วยราชการส่วนท้องถิ่น ที่ผ่านมามักแยกจัดแต่ละหมู่บ้าน แต่ปีนี้จัดรวมทั้งตำบลตามงบประมาณที่ลงมา   

          “ไทใหญ่เน้นบวชส่างลองมากกว่าบวชพระ เพราะถือว่าเด็กยังบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา ไม่มีมลทิน ได้กุศลใหญ่” พ่อเฒ่าเสริม

'ปอยส่างลอง' ในละอองศรัทธาชาวไต

จ้อง-มวยผมของผู้หญิงนำมาประดับเพื่อร่วมบุญ

          ถ้าเทียบกับอำเภออื่น ส่างลอง จะต่างกันที่การแต่งตัว ถ้าขึ้นเหนือจะออกไปทางพม่ามีพวกเครื่องทรง ถ้าไปทางแม่สะเรียงจะเอาล้านนามาผสม แต่ไทใหญ่แม่ฮ่องสอนแท้ๆ จะมีแค่สร้อย กับหมวกส่างลอง ซึ่งเป็นเครื่องประดับที่สำคัญมาก เพราะจะมี “จ้อง” ของหญิงชาวไตจะที่ไม่มีโอกาสได้บวช แต่มีศรัทธาไม่แพ้กัน จึงไว้ผมยาวให้ได้ขนาด ตัดมาทำความสะอาดอย่างดี แล้วถักเป็นเปียมามวยใส่ นำไปติดประดับไว้กับหมวกส่างลองเพื่อจะได้มีส่วนร่วมกับการทำบุญ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ