Lifestyle

เทคโนโลยีการแพทย์ บนความท้าทายของ กม. ข้อมูลส่วนบุคคล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ อินโนสเปซ โดย บัซซี่บล็อก หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันที่ 11-12 พฤษภาคม 2562

          ความล้ำหน้าของเทคโนโลยีใหม่ๆ ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นในวงการด้านการแพทย์ ทั้งในแง่ของประโยชน์ต่อการพัฒนาประสิทธิภาพการรักษาพยาบาล และช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นไปได้อย่างทั่วถึงครอบคลุมยิ่งขึ้น ไม่ถูกจำกัดด้วยอุปสรรคด้านการเงิน และระยะทาง อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งกำลังเกิดความวิตกสถานะในอนาคตของ ‘ข้อมูลส่วนบุคคล’ ของคนไข้ ซึ่งถือเป็นข้อมูลปิดลับเฉพาะตัวคนไข้ และแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

          ความวิตกในเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งเป็นแรงกดดันจากการแพร่กระจายของเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่มีส่วนทำให้เกิดบริการหรือกลุ่มให้คำปรึกษาทางการแพทย์ทางออนไลน์ ทั้งระหว่างกลุ่มคนไข้ด้วยกันเอง หรือที่ให้บริการโดยกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ (Online Doctor) การที่มีอุปกรณ์สุขภาพแนวแฟชั่น อย่างเช่น Apple Watch หรือสายรัดข้อมือ Fitbit ได้รับความนิยมแพร่หลาย รวบรวมข้อมูลสุขภาพของผู้สวมใส่โดยอัตโนมัติ (และแน่นอนว่าไปรวมไว้บน cloud ของบริษัทผู้ผลิตโดย) จนรัฐบาลในฝั่งอเมริกาและยุโรป ต้องคลอดกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ครอบคลุมและเข้มงวดกับอุตสาหกรรมด้านสาธารณสุขนี้ออกมา ขณะที่ ล่าสุดประเทศไทยก็เตรียมประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งแนวทางหลักๆ ก็จะสอดคล้องไปกับกฎหมายนี้ของสหภาพยุโรป หรือ GDPR (General Data Protection Regulation)

 

ฟอร์บส์เผย 6 เทรนด์การแพทย์ยุคใหม่

          ท่ามกลางยุคแห่งเทคโนโลยีพลิกโลก (Technology Disruption) ที่หลายอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและเติบโต แต่สำหรับอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ (Healthcare) แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล ได้ขยับบทบาทของเทคโนโลยีทางการแพทย์ให้สูงขึ้น จากจุดเด่นที่ว่า เทคโนโลยีช่วยคนให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น ปลอดภัยขึ้น สุขภาพแข็งแรงขึ้น ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้ดีขึ้น

          นิตยสารฟอร์บส์ ได้คาดการณ์ 6 แนวโน้มสำคัญของเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปี 2019 ซึ่งสามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทั้งผู้ป่วย และแพทย์ ทั้งในด้านค่าใช้จ่าย เพิ่มความเที่ยงตรงในการวินิจฉัยอาการ ลดกระบวนการทำงาน และเพิ่มความรวดเร็วในการรักษาหรือช่วยชีวิตคนไข้ เทคโนโลยีมาแรงด้านการแพทย์เหล่านี้ ได้แก่

1.การแพทย์ทางไกล (Telemedicine)

          ตัวเลขผู้รับบริการการรักษาพยาบาลทางไกล (Telehealth) เพิ่มอย่างโดดเด่นจากจำนวนกว่า 1 ล้านคนเมื่อปี 2558 เป็น 7 ล้านคนในปีที่ผ่านมา ปัจจัยหนุนส่วนหนึ่งมาจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่ช่วยให้การรักษาพยาบาลไฮเทคนี้ ‘เข้าถึง’ ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลได้ครอบคลุมทั่วถึงมากขึ้น ยื้อชีวิตและสสนับสนุนการมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับกลุ่มคนในพื้นที่ห่างไกล และด้อยความสามารถในการใช้จ่ายเพื่อเดินทางเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาล

          นอกเหนือจากผู้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ในฟากของผู้รับบริการหรือผู้ป่วย ในส่วนของแพทย์ก็สามารถประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางออกไปเยี่ยมเยียนคนไข้อีกด้วย เรียกได้ว่า win-win กันทั้งสองฟาก

2.ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence)

          การสแกนตรวจร่างกาย และบริการทางการแพทย์ต่างๆ จะถูกยกระดับไปอีกหลายๆ ขั้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการวิเคราะห์ภาพถ่ายจากซีทีสแกนได้มากกว่าเดิมถึง 150 เท่า สามารถตรวจพบสิ่งผิดปกติจากผลการสแกนได้ภายในหลักวินาที เมื่อเทียบกับการรอผลจากนักรังสีวิทยา

คนไข้ไม่ต้องเครียดกับการรอลุ้นผลตรวจ ได้ความเที่ยงตรงของผลลัพธ์ ทั้งนี้ AI ยังสามารถช่วยประเมินแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับแต่ละอาการ

3.บล็อกเชน (Blockchain)

          บล็อกเชน จะเข้ามีบทบาทในกระบวนการส่งต่อแฟ้มข้อมูลการรักษาพยาบาลของคนไข้ ระหว่างแพทย์ผู้รักษา เพราะต้องตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า คนไข้ 1 คน จะมีแพทย์ผู้รับผิดชอบมากกว่า 1 คน ในทางกลับกันแพทย์แต่ละคนก็ต้องดูแลคนไข้มากกว่า 1 ราย เทคโนโลยีนี้จะเข้ามา ‘ปิดช่องว่าง’ เรื่องความไม่มั่นใจต่อความปลอดภัยหรือการรั่วไหลของข้อมูลคนไข้ในระหว่างทางของกระบวนการส่งต่อ เนื่องจากจะอนุญาตให้แพทย์ทผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลการรักษานั้นๆ จึงจะสามารถอ่านประวัติคนไข้/การรักษาที่ผ่านมาได้ ป้องกันข้อผิดพลาดหรือความคลาดเคลื่อนในขั้นตอนการรักษา ทำให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาตรงตามอาการ

4. ARและเทคโนโลยีเสมือน (AR and VR)

          เทคโนโลยีการผสานโลกจริงและโลกเสมือน หรือ AR (Augmented reality)ช่วยให้แพทย์เรียนรู้วิธีการทำงานในกระบวนการรักษาที่อาจเป็นอันตราย อย่างเช่น การผ่าตัดหัวใจ แต่แนวโน้มที่เหนือล้ำไปอีกก็คือ มีการคาดการณ์ว่า AR และ VR จะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเหลือในขั้นตอนการรักษาผู้ป่วยใม่เฉพาะแต่อาการทางร่างกาย แต่รวมไปถึงอาการของโรคอัลไซเมอร์ และภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ

          การใช้เทคโนโลยีที่สามารถจำลองสถานการณ์หรือโรคจริง จะเข้ามาช่วยฟื้นฟูความทรงจำให้กับผู้ป่วยในกลุ่มนี้ ความสุขในการย้อนกลับสู่ภาพแห่งวันเวลาและประสบการณ์ต่างๆ จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือบำบัดและเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ

5.การเก็บสำเนาในรูปดิจิทัล (Digital Twin)

          เทคโนโลยี Digital Twins เป็นเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างโลกทางกายภาพและโลกดิจิทัล เพื่อจำลองสภาพแวดล้อมตามแบบของจริง ในแง่ของอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ เทคโนโลยีนี้ จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัย สำหรับผู้ให้บริการทางการแพทย์ หรือผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ สามารถทดสอบผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในกระบวนการปฏิบัติงานหรือทำการรักษาคนไข้ การทดสอบเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการเรียนรู้จากปริมาณข้อมูลมหาศาล (Big Data) ที่รวบรวมไว้จากระบบจริงนั่นเอง ซึ่งหมายความว่ายิ่งมีการรวบรวมข้อมูลจากการรักษาจริง มาให้ระบบเรียนรู้ได้มากเท่าไหร่ (ด้วยการใช้ประโยชน์จาก AI และการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) ความรู้และความเชี่ยวชาญในการด้านการักษาพยาบาลก็จะยิ่งก้าวไกลเพิ่มขึ้นเท่านั้น

6.อุปกรณ์สวมใส่ได้ และ IoT

          อุปกรณ์ไฮเทคใหม่ๆ ชิ้นเล็กๆ อย่างนาฬิกา หรือสายรัดข้อมือที่ตรวจวัดชีพจร อัตราการเต้นของหัวใจ ปริมาณแคลอรี่ ต่างๆ เหล่านี้ หรือที่เรียกกันติดปากว่า Wearable กำลังพัฒนาจากการเป็นแฟชั่นด้านสุขภาพ มาสู่การเป็นเครือข่ายเครื่องมือจัดเก็บข้อมูลสุขภาพแบบเรียลไทม์ ด้วยการรวบรวมข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) ในยุคที่ IoT พุ่งแรงอย่างใม่หยุด ทำให้เทคโนโลยีนี้จะยิ่งทรงพลังมากขึ้นต่ออุตสาหกรรมการแพทย์ ตามปริมาณข้อมูลที่จะทวีปริมาณมหาศาลขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนอุปกรณ์ IoT ด้านสุขภาพที่กระจายอยู่ในโลกจริง ข้อมูลเหล่านี้สามารถพัฒนามาใช้ในการวิจัยและพัฒนาตัวยา ตลอดจนวิธีการรักษาทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

 

ดีอี หนุนสธ.แชร์ไอเดีย กม.ลูกข้อมูลส่วนบุคคล

          นาวาเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวในวงเสวนาหัวข้อ Privacy & Cyber Security Law: Implications for Healthcare ถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องเร่งผลักดันเพื่อสร้างกลไกการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และดูแลระบบความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการให้บริการสาธารณสุขไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคุ้มครองข้อมูลให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

          โดยปัจจุบันประเทศไทยมีระบบฐานข้อมูลของสาธารณสุข มีข้อมูลคนไข้อยู่ 40-50 ล้านราย แต่ยังขาดการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งหากปลดล็อคในส่วนนี้ได้ จะเอื้อต่อการให้บริการทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีการรักษาทางไกล (Telemedicine)

          “กฎหมายใหม่ที่ออกมา จะมีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เข้ามาร่วมทำงานในกระบวนการออกกฎหมายลูก หัวใจสำคัญคือการสร้างสมดุลด้วยการใช้ทั้งหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลบนแพลตฟอร์มเดียวกัน และอำนวยความสะดวกในการส่งต่อการรักษาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ป่วยในการให้สิทธิแพทย์ผู้ดูแลเข้าถึงข้อมูลการรักษาพยาบาล”

          รองปลัดดีดี กล่าวอีกว่า ปัจจุบันแนวโน้มที่ทุกกิจกรรมขึ้นไปอยู่บนโครงข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ OTT (Over the Top) ดังนั้น การออกกฎหมายดิจิทัลต้องสอดคล้องกับสหประชาชาติ สอดคล้องกับสหภาพยุโรป สามารถเชื่อมโยงกับทั้งโลกได้ โดยความคืบหน้าล่าสุดของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้ง พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนรอการประกาศใช้นั้น ล่าสุดได้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงไซเบอร์แห่งชาติแล้ว

 

การแพทย์ย้ำต้องมุ่งประโยชน์สาธารณะ

          ดร.นพ.นวนรรน ธีระอัมพันพันธุ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ข้อมูลคนไข้เป็นข้อมูลอ่อนไหวที่คนในสาขาการแพทย์รับรู้กันอยู่แล้ว และฝังในจรรยาบรรณการแพทย์ ดังนั้นหัวใจสำคัญที่ต้องมุ่งเน้นในการจัดทำกฎหมายลูกประกอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซ ก็คือ หลักการสร้างสมดุลระหว่างความเป็นส่วนตัวกับประโยชน์สาธารณะ

          พร้อมให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า Healthecare มีมุมที่ซับซ้อนกว่าสาขาอื่น เพราะเป็นสาขาที่เน้นการทำงานเพื่อรักษาชีวิต คนไข้ต้องเปิดข้อมูลกับแพทย์ให้มากที่สุด และขณะที่ต้องคุ้มครองความเป็นส่วนตัว แต่ระบบก็ต้องทำงานได้ด้วยในการให้บริการประชาชน

          “สำหรับโรงพยาบาล การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กฎหมายเป็นเรื่องใหม่ โดยกลไกสำคัญที่สุดก็คือ คณะกรรมการที่ดูแลกฎหมายลูก ต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานด้านสาธารณสุข ควรเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้และทำงานด้านนี้อยู่แล้ว”

 

คนไทยยินดีให้ข้อมูลส่วนตัวแลกสิทธิประโยชน์

          ข้อมูลสำรวจโดยบริษัท แอคเซนเซอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า จากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค 47,000 คนใน 28 ประเทศทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรปและอเชียแปซิฟิค เกี่ยวกับความสนใจการให้ข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญกับบริษัทด้านการเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่ 3 ใน 4 ยินยอมให้ข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ เช่น ข้อมูลตำแหน่ง (location) และการใช้ชีวิต (lifestyle) กับธนาคารและบริษัทประกันที่ใช้บริการอยู่ เพื่อแลกกับราคาผลิตภัณฑ์และบริการที่ลดลง

          แนวโน้มนี้น่าจะทำให้เห็นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เช่น บริษัทประกันกับโรงพยาบาทและเฮลธ์แคร์ หรือธนาคารกับธุรกิจค้าปลีก ซึ่งผู้บริหารของแอคเซนเจอร์ เชื่อว่าภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า น่าจะมีผลิตภัณฑ์และบริการแบบเฉพาะเจาะจงต่างๆชัดเจนมากขึ้น ถ้ามีความชัดเจนในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคค ภายใต้กฎหมายใหม่ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ