Lifestyle

บุกแอฟริกาใต้ไปกับฟอร์ด แร็พเตอร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... ยานยนต์

 

 

          ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์ เปิดตัวครั้งแรกในไทย ก่อนจะขยายไปยังตลาดอื่นๆ ล่าสุดไปเปิดตัวในแอฟริกา ด้วยรถที่มีฐานการผลิตในแอฟริกาใต้ และในโอกาสนี้เจ้าภาพอยากที่จะแสดงให้เห็นถึงสมรรถนะรถ ว่าจะเข้ากันได้ดีกับการใช้งานในภูมิประเทศอย่างแอฟริกาหรือไม่ จึงจัดกิจกรรมทดสอบสำหรับสื่อมวลชนทั่วโลก

 

 

          นั่งสิงคโปร์ แอร์ไลน์ ไปเปลี่ยนเครื่องที่สิงคโปร์ จากนั้นยิงยาวจนถึงเมืองหลวง โจฮันเนสเบิร์ก ก่อนต่อเครื่องบินเล็กๆ ไปลงที่สนามบินเล็กๆ แต่น่ารักที่ อัปปิงตัน เมืองทางเหนือที่อยู่ใกล้ชายแดนประเทศนามิเบีย ราว 130 กม.


          พื้นที่ที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของ ทะเลทรายคาลาฮารี ที่กินพื้นที่ครอบคลุม 3 ประเทศ คือนามิเบีย, บอตสวานา และบางส่วนของ แอฟริกาใต้

 

 

บุกแอฟริกาใต้ไปกับฟอร์ด แร็พเตอร์

 


          อัปปิงตัน เมื่อมองลงมาจากเครื่องบิน จะเห็นได้ว่าเป็นเมืองกลางทะเลทราย แต่การมีแม่น้ำออเรนจ์ ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในแอฟริกาไหลผ่าน ทำให้บริเวณริมแม่น้ำเขียวขจี และยังเป็นแหล่งปลูกองุ่นสำหรับผลิตไวน์ที่สำคัญอีกด้วย


          เมืองนี้ยังใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นล่ำเป็นสัน ไม่ว่าจะเป็นระดับครัวเรือน หรือว่าสาธารณะก็ตาม


          แม้ว่าพื้นที่จะเป็นทะเลทรายเวิ้งว้าง แต่ถนนหนทาง ไม่ได้ตัดตรงเป็นไม้บรรทัดแต่เหมือนกับถนนทั่วไป มีทางตรง ทางโค้ง บางช่วงเป็นทางขึ้นลงเนินตามภูเขาทราย ก็ทำให้การขับขี่มีชีวิตชีวาขึ้น

 

 

 

บุกแอฟริกาใต้ไปกับฟอร์ด แร็พเตอร์

 


          ถึงอัปปิงตันก็พบกับแร็พเตอร์จอดเรียงรายรอที่สนามบิน โดยเป็นรถที่ผลิตจากโรงงานฟอร์ดในแอฟริกาใต้ ซึ่งหลักๆ ก็เหมือนกับที่จำหน่ายในไทย จะมีแตกต่างบ้างในรายละเอียดเล็กน้อย และเท่าที่ดูทั้งภายนอก และภายในห้องโดยสาร ถือว่าคุณภาพการประกอบทำได้ดี




          การเดินทางก็เริ่มต้นทันที เมื่อเสร็จสิ้นการบรีฟสั้นๆ ไม่มีอะไรมาก

 

 

 

บุกแอฟริกาใต้ไปกับฟอร์ด แร็พเตอร์

 


          เส้นทางมุ่งหน้าขึ้นเหนือผ่านเส้นทางอันเวิ้งว้างของทะเลทราย ไม้ใหญ่มีน้อย ขนาดไม้พุ่มเล็กๆ ยังต้องต่อสู้กับสภาพอากาศที่แห้งแล้งอย่างยากเย็น ทำให้เบาแรงผู้ที่ทำหน้าที่ผู้นำทาง ไม่ต้องดูโรดชีทหรือแผนที่นำทางที่ผู้จัดเตรียมไว้ให้ เพราะมองเห็นเพื่อนร่วมขบวนด้านหน้าได้ไกล แม้จะออกตัวห่างกันก็เห็นกัน และสักพักก็ไล่ตามกันทัน อีกทั้งถนนมีเส้นทางแยกย่อยไม่มากนัก

 

 

 

บุกแอฟริกาใต้ไปกับฟอร์ด แร็พเตอร์

 


          ผมว่าคนใช้รถที่นี่คงลุ้นไม่ต่างกับคนใช้รถไฟฟ้าในบ้านเรา เพราะตลอดเส้นทางราว 100 กม. ผมไม่เห็นปั๊มน้ำมันสักแห่งเดียว แต่เห็นป้ายอันหนึ่งที่บอกว่า ให้เลี้ยวไปทางขวาอีก 160 กม. แล้วจะเจอ


          ถนนทั่วไปเป็นถนน 2 เลนสวนทาง ผิวถนนถือว่าดี เรียบ ไม่มีร่องรอยชำรุด อาจเป็นเพราะปริมาณรถน้อย และแล้ง ไม่มีน้ำมาเร่งความเสียหาย แม้ว่าเส้นนี้จะมีรถบรรทุกใหญ่ทั้ง 10 ล้อ 18 ล้อ วิ่งอยู่เป็นระยะก็ตาม

 

 

 

บุกแอฟริกาใต้ไปกับฟอร์ด แร็พเตอร์

 


          โครงสร้างถนนแตกต่างจากที่พบทั่วไปในบ้านเรา พื้นผิวยางแอสฟัลต์ ออกแบบให้หยาบกว่า คล้ายๆ กับบางประเทศที่ฝนชุก เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนเป็นตัวกั้นระหว่างยางกับถนนมาเกินไป จนทำให้รถเสียหลักได้


          แต่ที่นี่ฝนน้อย ผมก็เข้าใจเอาเองว่าน่าจะป้องกันทรายที่ปลิวขึ้นมาทำให้รถลื่นได้ เพราะผิวถนนที่หยาบ จะทำให้เม็ดทรายลงไปแทรกอยู่ในร่อง ก่อนที่จะปลิวต่อออกนอกถนนไป

 

 

 

บุกแอฟริกาใต้ไปกับฟอร์ด แร็พเตอร์

 


          ผิวถนนแบบนี้ ปกติจะทำให้เสียงยางดังกว่าปกติ แต่นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ต้องชมยางบั้งใหญ่ของบีเอฟ กู๊ดริช ที่เงียบอย่างน่าแปลกใจ


          เราแวะที่จุดพักซึ่งเป็นฟาร์ม เป็นที่พักอันโดดเดี่ยวกลางทะเลทราย ไม่มีชุมชนรอบข้าง เพื่อรับเสบียงติดรถคนละถุง ภายในมีเนื้อแห้ง 3 แบบ และลูกเกดชั้่นดีอีก 1 ถุง ก่อนมุงหน้าสู่พื้นที่เพื่อการขับขี่ในรูปแบบออฟโรดที่ท้าทาย แร็พเตอร์

 

 

 

บุกแอฟริกาใต้ไปกับฟอร์ด แร็พเตอร์

 


          เส้นทางกำหนดความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. แต่เอาเข้าจริงก็ยอมรับว่าใช้ความเร็วเกินกว่านั้น 130 บ้าง 140 บ้าง ไปจนถึง 150 หรือ 160 แล้วแต่จังหวะ สิ่งที่ต้องระวังคือการสวนทางกับรถบรรทุกใหญ่ที่มาเป็นระยะๆ ในช่วงที่ถนนแคบ เข้าใจว่าเป็นรถบรรทุกสินค้าส่งตามเมืองต่างๆ หรือไม่ก็วิ่งข้ามประเทศ


          นอกจากนี้ก็มีป้ายเตือนให้ระวังสัตว์ป่าที่อาจวิ่งข้ามถนนได้ แต่ก็ไม่น่าเป็นปัญหาอะไร ด้วยทัศนวิสัยที่ดีของรถที่มองเห็นได้กว้าง และสภาพแวดล้อมโล่งๆ แบบนี้ ถ้ากวาง หรือยีราฟสักตัวจะวิ่งมา คงเห็นล่วงหน้าเป็นกิโลๆ ล่ะครับ

 

 

 

บุกแอฟริกาใต้ไปกับฟอร์ด แร็พเตอร์

 


          เมื่อบวกกับช่วงล่างที่นิ่ง พวงมาลัยแม่นยำ ทำให้การขับขี่ในเส้นทางนี้เป็นไปแบบสบายๆ แม้จะใช้ความเร็วสูง แต่ก็สามารถเพลิดเพลินกับความเวิ้งว้างที่สวยงามได้


          ส่วนเส้นทางโค้ง แม้บางช่วงจะเป็นโค้งลึก แต่การไม่มีอะไรบังสายตา ก็ทำให้มองเห็นทิศทางที่จะไปได้ไกลขึ้น การประเมินล่วงหน้าทำได้รวดเร็ว และด้วยความช่วยเหลือของช่วงล่างและพวงมาลัยที่แม่นยำ ก็ทำให้ผ่านเข้าไปได้อย่างรวดเร็ว

 

 

บุกแอฟริกาใต้ไปกับฟอร์ด แร็พเตอร์

 


          สัปดาห์หน้ามาคุยกันต่อเกี่ยวกันขับในรูปแบบออฟโรด ของเจ้าแร็พเตอร์ ในถิ่นแอฟริกาครับ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ