Lifestyle

"ฟอร์ด แร็พเตอร์"ไปได้ทุกที่ถ้ามีแร็พเตอร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... ยานยนต์

 

 

          สัปดาห์ที่แล้วผมเล่าให้ฟังถึงกิจกรรมการทดสอบฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์ ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองอัปปิงตัน ประเทศแอฟริกาใต้ เกี่ยวกับการขับรถในเส้นทางถนนหลวงมุ่งหน้าออกนอกเมืองไปกว่า 100 กม. วันนี้จะมาต่อให้จบครับว่า ไปทำอะไรกันที่นั่น

 

 

          เพราะที่นี่มีพื้นที่เหมาะกับการทดสอบขับขี่ในรูปแบบออฟโรด ซึ่งกลุ่มออฟโรดของแอฟริกาใต้ก็มักจะมาฝึกมือกัน รวมถึงมีทัวร์ออฟโรดมาขับขี่กันด้วย
  

          ที่นี่เป็นลานเรียบๆ เมื่อมองเห็นแต่ไกลจากถนนหลวง มันหลอกตาเหมือนกับเป็นผิวน้ำ จนกระทั่งเมื่อขับรถลงไปจึงรู้ว่าเป็นกรวดกับหิน บนลานเรียบกว้างสุดลูกหูลูกตา แต่ก็ได้ข้อมูลมาว่าในอดีตที่นี่ก็เคยเป็นทะเลสาบมาก่อน แต่ความแห้งแล้งทำให้น้ำหายไป
  

 

"ฟอร์ด แร็พเตอร์"ไปได้ทุกที่ถ้ามีแร็พเตอร์

 

 

          ฟอร์ดใช้พื้นที่นี้เป็นสนามสำหรับทดสอบระบบต่างๆ และการควบคุมรถ ซึ่งรวมถึงสนามไดนามิคที่กำหนดให้ทดลองการขับแบบโอเวอร์สเตียร์
 

           วิธีการคือปลดระบบช่วยเหลือการทรงตัวออกให้หมด ใช้โหมดขับขี่ 2 ล้อ (2H) ก่อน จากนั้นขับไปตามเส้นทางที่มีทั้งโค้งซ้าย โค้งขวา วงกลม เมื่อหัวรถเริ่มจะเข้าสู่ทางโค้ง ให้หักพวงมาลัยแบบแรงๆ หรือเรียกว่ากระชากพร้อมกับเติมคันเร่งแบบกดเต็มแรง กำลังของเครื่องยนต์ที่ส่งไปที่ล้อหลังบนพื้นลื่นๆ เช่นนี้ ทำให้เกิดอาการโอเวอร์สเตียร์ได้ง่ายๆ

   

 

 

 

"ฟอร์ด แร็พเตอร์"ไปได้ทุกที่ถ้ามีแร็พเตอร์

 



          จากนั้นก็จัดการแก้อาการโดยการใช้พวงมาลัย ไม่ใช้เบรก ซึ่งก็สามารถควบคุมรถกลับเข้ามาสู่เส้นทางได้ แม้จะดิ้นซ้ายขวาไปบ้าง แต่ก็ยังสามารถควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางได้ในที่สุด ซึ่งแน่นอนก็ต้องยกความดีให้ระบบช่วงล่าง รวมถึงยางที่ดี
  

          ต่อมาลองแบบเดิม แต่เปลี่ยนเป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ (4H) แล้วขับแบบเดิมให้รถเสียการทรงตัว ก่อนจะแก้อาการด้วยพวงมาลัยเช่นเดิม ซึ่งคราวนี้แก้ได้ง่ายขึ้น เพราะล้อทั้ง 4 ช่วยกันทำงาน อาการดิ้นซ้าย-ขวา น้อยลง ดึงรถกลับมาอยู่ในช่องทางได้รวดเร็ว
  

 

 

"ฟอร์ด แร็พเตอร์"ไปได้ทุกที่ถ้ามีแร็พเตอร์

 

 

          หลังจากนั้นเป็นการขับขี่ด้วยโหมด “บาฮา” (BAJA) หรือโหมดการขับขี่ที่ความเร็วสูง ซึ่งระบบนี้จะลดการใช้งาน แทร็กชั่น คอนโทรล แต่เพิ่มการตอบสนองของเครื่องยนต์และเกียร์ที่รวดเร็วขั้น กระชับขึ้น
  

          เส้นทางลัดเลาะไปตามเส้นทางธรรมชาติบนพื้นทะเลสาบเก่า เลาะไปตรงชายเขาบ้างและผ่านร่องน้ำที่ลึกลงไปและเนินบางแห่งที่ทำให้รถกระโดดลอยขึ้นจากพื้น
  

          พื้นผิวเป็นกรวดและทราย มีความลื่นมาก จึงอยู่ที่การควบคุมพวงมาลัยให้ดี เพื่อผ่านเส้นทางต่างๆ เหล่านี้ไป โดยไม่ไถลออกนอกเส้นทาง แม้จะมีเซฟตี้ แอเรีย อยู่มากก็ตาม แต่ก็ไม่ควรครับ
  

 

 

"ฟอร์ด แร็พเตอร์"ไปได้ทุกที่ถ้ามีแร็พเตอร์

 

          แต่จุดที่เป็นไฮไลท์ของวันนี้เกิดขึ้นเมื่อเราออกจากพื้นที่นี้ในช่วงเย็น ซึ่งก็คิดจะมุ่งหน้าไปโรงแรม แต่ที่ไหนได้ทีมงานพาเข้าทางแยกระหว่างทางก่อนที่จะบรีฟสั้นๆ ว่าข้างหน้าซึ่งเป็นถนนจริง ชาวบ้านใช้จริง จะเป็นการทดสอบขับขี่บาฮากันอีกครั้ง แต่จะตื่นเต้นกว่าเพราะไม่มีการพาดูทางก่อนล่วงหน้า ลุยกันเลย และการเป็นถนนจริง หมายความว่าจะพลาดไม่ได้ เพราะถ้าหลุดออกนอกถนน ก็หมายถึงการเกิดอุบัติเหตุ
  

          และที่สำคัญถนนที่เขาเลือกเป็นถนนที่มีเนินขึ้นลงตลอดทาง ดังนั้นการขับไปบนพื้นผิวที่เป็นหินลอย เราไม่รู้เลยว่าหลังเนินจะเป็นอย่างไร ยกเว้นถ้าเป็นทางโค้งมากๆ เขาจะติดป้ายบอกไว้ล่วงหน้าเล็กน้อย
  

          ตื่นเต้นและสนุกครับ และคราวนี้แร็พเตอร์ได้โดดอีกครั้ง เป็นการโดดบนถนนจริง เมื่อขึ้นเนินไปด้วยความเร็วให้อารมณ์เหมือนกับกำลังอยู่ในช่วงเอสเอสพิเศษของการแข่งขันแรลลี่
  

 

 

"ฟอร์ด แร็พเตอร์"ไปได้ทุกที่ถ้ามีแร็พเตอร์

 

 

          แต่จุดที่ผมชอบมากกว่าคือหลังเนินบางแห่งที่ไม่เห็นล่วงหน้า มันเป็นทางโค้ง ดังนั้นเมื่อรถโดดลงมาจากเนินและเพิ่งจะเห็นเส้นทางก็ต้องใช้วิธีการควบคุมพวงมาลัยเป็นหลัก เข้าไลน์ให้ถูกต้อง โดยใช้เบรกน้อยที่สุดบนพื้นผิวลื่นๆ แบบนี้ ซึ่งรถตอบสนองได้ดี ผ่านเส้นทางจนถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัย พร้อมกับอารมณ์สนุกที่สูบฉีดเต็มที่
  

          นอกจากการขับขี่ในสนาม การใช้โหมดบาฮาบนถนนจริงแล้ว ฟอร์ดยังจัดเส้นทางเนินทรายที่เป็นทรายละเอียด หรือแซนด์ ดูน ให้ได้ลองสมรรถนะกันด้วย เป็นอีกเส้นทางที่ท้าทาย เพราะเส้นทางมีเนินชันมากและคดโค้ง บางเนินเมื่อต้องเหยียบคันเร่งส่งกำลังเต็มที่เพื่อให้ผ่านอุปสรรคไปได้ เมื่อถึงยอดเนินก็เจอทางที่หักเลี้ยวแคบๆ ทันที เป็นเส้นทางที่ท้าทาย เพราะหากไม่เร่งกำลังเต็มที่รถก็ขึ้นไม่ได้ แต่ถ้าขึ้นถึงจุดยอดแล้วผ่อนไม่ทัน หรือเลี้ยวไม่ทันก็มีสิทธิตกไปอีกฝั่งหนึ่งได้
  

          รวมถึงบางช่วงที่เป็นทางลงและขึ้นที่ติดๆ กัน พูดง่ายๆ คือก้นหลุมแคบ ลงถึงก้น ก็ต้องรีบขึ้นทันที เป็นอีกความท้าทาย เพราะต้องลงเบาๆ แต่ขั้นเร็วๆ ไม่อย่างนั้นก็จะจมทรายได้เช่นกัน
  

          สนามนี้เลือกโหมดขับขี่ทราย-โคลน หรือ sand-mud และใช้โหมดขับเคลื่อน 4H แม้บางคนบอกว่าน่าจะใช้ 4L มากกว่า แต่ถ้ากะจังหวะดีๆ ประเมินเส้นทางที่จะไปให้รวดเร็ว 4H ก็ผ่านไปได้ตลอดครับ
   

 

 

"ฟอร์ด แร็พเตอร์"ไปได้ทุกที่ถ้ามีแร็พเตอร์

 

 

          ซึ่งกำลังของเครื่องยนต์ดีเซล ไบเทอร์โบ 2.0 ลิตร ที่ให้กำลังสูงสุด 213 แรงม้า ที่ 3,750 รอบ/นาที และแรงบิด 500 นิวตันเมตรที่ 1,500-2,000 รอบ/นาที ก็เพียงพอต่อการขับขี่ในเส้นทางแบบนี้ครับ
  

          เพียงแต่ว่าต้องประเมินเส้นทางให้ถูกต้อง รู้ว่าต้องเร่งช่วงไหน ผ่อนช่วงไหน และไม่พารถไปจอดอยู่ระหว่างเนิน แต่จะต้องจอดไม่ที่ยอดเนินก็ต้องส่วนล่างสุดของเนิน ซึ่งเป็นบริเวณที่ทรายหนาแน่นที่สุด และก็ต้องไม่ลืมว่าก่อนจะเข้าสู่ทางทรายจะต้องปล่อยลมยางออกบ้าง เพื่อเพิ่มพื้นที่สัมผัสของล้อให้มากขึ้นครับ


          เป็นอีกครั้งที่ได้ขับแร็พเตอร์แล้วรู้สึกประทับใจและไม่แปลกใจว่าทำไมในบ้านเราหลายคนจึงยอมควักเงิน 1.69 ล้านบาท เพื่อเป็นเจ้าของปิกอัพคันนี้ครับ

 

 

"ฟอร์ด แร็พเตอร์"ไปได้ทุกที่ถ้ามีแร็พเตอร์

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ