Lifestyle

วิ่งกลางอ้อมกอดหิมาลัย...Everest Marathon

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การเริ่มต้นไม่ใช่จุดสตาร์ท จุดสิ้นสุดที่ไม่ใช่เส้นชัย ไม่ใช่วันแรกที่กาฐมาณฑุ หรือการเริ่มออกเดินทางไต่เขา 12 วัน

         อะไรคือเหตุผลที่ทำให้เราออกเดินทาง !!
         หนึ่งร้อยปีก่อน เมื่อนักปีนเขาชื่อก้องโลก จอร์จ มัลเลอรี ตอบคำถามนักข่าวคนหนึ่งที่ถามว่า ทำไมเขาต้องการปีนไปยืนบนยอดเขาเอเวอเรสต์ มัลเลอรีตอบเรียบๆ ว่า
        “เพราะมันอยู่ที่นั่น”
         การปีนเขาสำหรับบางคนเป็นความโง่ สำหรับบางคนเป็นการเดินไปตามลมหายใจ การวิ่งบนยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกอาจจะโง่ยิ่งกว่า
         “Everest Marathon 2019 ”
         The world's highest race on earth ชื่อเป็นทางการว่า... “Tenzing-Hillary Everest Marathon” เป็น International high altitude adventure sports event ที่จัดขึ้นประจำทุกปีทุกวันที่ 29 พฤษภาคม เพื่อเป็นเกียรติให้กับ Late Tenzing Norgay โลก เมื่อ 29 พฤษภาคม ในปี ค.ศ. 1953
         50 ปีถัดมา “Tenzing-Hillary Everest” ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2003 เพื่อระลึกถึงโอกาสครบรอบ 50 ปีของทั้งสองคน ในปีนี้ 2019 นี้เป็นครั้งที่ 17 (เคยมีคนไทย 1-2 คน เข้าร่วมการแข่งขันนี้เมื่อไม่กี่ปีที่
ผ่านมา)
         The Everest Marathon เป็น race การวิ่งเทรลในระยะฟูลมาราธอน (42.195 km) การแข่งขันที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเส้นทางที่สูงและโหดที่สุดอันหนึ่งในโลก มันยากเย็นแม้แค่จะยืนหายใจเฉยๆ บนพื้นที่อดอยากออกซิเจนเพียงครึ่งเดียว ความสูงขนาดนั้นไม่ใช่เพียงแค่ระยะที่สูงชันกว่า 5,300 เมตร นักวิ่งยังต้องเผชิญสภาพอากาศแปรปรวนทั้งหนาวเหน็บที่คร่าชีวิตผู้คนที่ขึ้นมาที่นี่แล้วนักต่อนัก
         12 วันแรก ตลอดการเดินไต่เขาพาตัวเองขึ้นไปให้ถึงจุดสตาร์ทตามเส้นทางในฝันของนักเดินเขา EBC Trekking ผ่านเขาเสียดฟ้าสูงชันระยะทางกว่า 60 กม. ไปยัง Everest Base Camp (จุดสตาร์ท) ใครมีโอกาสไปถึงจุดสุดท้ายนี้จะได้ชมวิวที่ใกล้ชิดสวยที่สุดของยอดภูเขาเอเวอเรสต์ ยืนชมที่ความสูง 5,545 เมตร (Kalapattha Summit) เป็นรางวัล

 

วิ่งกลางอ้อมกอดหิมาลัย...Everest Marathon

          เมื่อถึง EBC (Everest Base Camp) ทุกคนจะได้พัก 1 วัน (ที่นี่จะอนุญาตแคมป์ค้างคืนได้เฉพาะผู้ที่จะขึ้นยอดเอฟเวอเรสต์เท่านั้น) รุ่งขึ้นเช้ามืด 29 พฤษภาคม พร้อมที่จุดสตาร์ท ที่เรียก ICE FALL (ธารน้ำแข็งที่
แข็งตัว) หกโมงเช้าสัญญาณปล่อยตัว Everest Marathon หฤโหดที่รอคอยดังขึ้น ตลอดระยะทาง 42.195 กม. เส้นทางเทรลบนเทือกเขาที่สูงที่สุดในโลก อุณหภูมิติดลบถึงกระดูก (เฉลี่ยทั้งปี -17 องศา) วิ่งใน “Scenery” ที่อยู่ในอ้อมกอดของหิมาลัย พื้นที่เต็มไปด้วยหิน เหนื่อยหอบบนความสูงที่มีลมหายใจเพียงครึ่งเดียวของคนข้างล่าง นี่เป็นระยะทาง 42.195 กม. ที่บรรจุไปด้วยประสบการณ์ชีวิต เทือกเขา ความหนาวเหน็บ วัดวาอาราม วิถีชีวิต ตัวจามรี สะพานแขวน และธาตุทรหด
         และเมื่อข้ามเส้น Finished Line เสร็จสิ้นการวิ่งมาราธอน ทุกคนมีเวลาดื่มด่ำกับชัยชนะของตัวเองได้ไม่นาน Finisher ทุกคนต้องเดิน trekking กลับลงมายังเมือง Lukla เอง รวมการเดินทางที่ท้าทายยาวนานรวม 20 วัน

วิ่งกลางอ้อมกอดหิมาลัย...Everest Marathon

         การแข่งขันสุดหฤโหดนี้ผู้จัดการแข่งขันบอกว่ามีนักวิ่งจำนวนมากที่ไม่ถึงจุดสตาร์ท และจำนวนมากไปไม่ถึงเส้นชัย เนื่องจากระดับออกซิเจนข้างบนน้อยกว่าระดับปกติถึงครึ่งหนึ่ง Tenzing-Hillary Everest Marathon ไม่ได้เป็นเพียงแค่การวิ่ง “มันเป็นประสบการณ์ชีวิต” โลกรับรู้ว่าที่ใดมีความฝัน ที่นั่นมีคนพยายามไปหามันเสมอ สุดยอดจอมยุทธ์จากทั่วโลกจึงเดินทางมารวมตัวกันทุกปีที่นี่ !!!!! ในปีนี้นักแข่งต่างชาติกว่า 150 คน
         และนักแข่งเนปาลกว่า 50 คน รวมกว่า 200 ชีวิต ที่มารวมตัวกันเพื่อวิ่งลงทางลาดชันของยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก

วิ่งกลางอ้อมกอดหิมาลัย...Everest Marathon

         การปรากฏกายของเหล่าทวยเทพ และการเดินทางพิสูจน์ธาตุทรหดกำลังเริ่มต้นขึ้น...ทุกสิ่งมีเรื่องราวให้เรียนรู้ บทเรียนหลัง finished line “Everest Marathon 2019”
          1.ถ้าทุกมาราธอนมีเรื่องราว Everest Marathon 2019 หนึ่งประโยค สำหรับทุกคนที่มายืนตรงนี้คือ ‘การขยายขอบเขตในตัวตนออกไกลไป’
         2.การเริ่มต้นไม่ใช่จุดสตาร์ท จุดสิ้นสุดที่ไม่ใช่เส้นชัย ไม่ใช่วันแรกที่กาฐมาณฑุ หรือการเริ่มออกเดินทางไต่เขา 12 วัน การเริ่มต้นที่แท้จริง นักวิ่งมาราธอนทุกคนรู้ดีว่า ทุกๆ มารธอนไม่ได้เริ่มต้นที่จุดสตาร์ท มันคือ
ตั้งแต่วันแรกที่ลงทะเบียน การเตรียม การซ้อม การวางแผนความอดทน ทัณฑทรมานเริ่มตั้งแต่วันนั้น
          3.กาฐมาณฑุ เรียนรู้สิ่งที่จำเป็นจริงๆ ในชีวิต ทุกคนมีเหตุผลที่แตกต่างกัน แต่พลังอะไรบางอย่างทำให้ทุกคนจากทุกมุมโลกมารวมกันที่นี่ นักแข่ง ต่างชาติทั้ง 150 คน ถูกแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ เพื่อสะดวกในการ
จัดการ Red, Blue, yellow, orange.... team ซึ่งจะไปรวมกับนักแข่งเนปาลเจ้าถิ่นที่จุดสตาร์ทบน Everest Base Camp อีก 53 คน ทุกคนจะรับบรีฟการแข่ง การปฏิบัติ ปัญหา แบบวันต่อวัน ทีละก้าว ไม่มีอะไรสำคัญกว่าวัน
          พรุ่งนี้ พรุ่งนี้ พรุ่งนี้....

วิ่งกลางอ้อมกอดหิมาลัย...Everest Marathon

         4.การปรากฏกายของเหล่าทวยเทพ 26 คนสำหรับกลุ่มย่อย บลูทีม การทักทายสำหรับเพื่อนใหม่ที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกันใน อีก 2-3 สัปดาห์เริ่มต้นขึ้น ทุกคนร่างกายบ่งบอกถึงความเป็นนักกีฬาที่ผ่านสมรภูมิมาโชกโชน เมื่อเดินทางมาถึงที่นี่ ทุกคนรู้ดีว่าต้องเผชิญกับอะไร เพื่อรับมือกับมัน โจทย์แรก สัมภาระ อุปกรณ์ที่จะใช้ในเดินทาง และใช้ในการการแข่ง ทุกคนต้องบริหารน้ำหนัก ถุง duffle ที่ให้เชอร์ปาแบก รวม day pack น้ำหนักเฉลี่ยไม่เกิน 15 กก.!!! “ไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะตัดสิ่งที่ไม่สำคัญออกจากชีวิต แต่เรื่องที่ท้าทายยิ่งนักคือ “การตัดสิ่งที่สำคัญ” ออกไปจนเหลือแต่ “สิ่งที่สำคัญที่สุด” เท่านั้น”
         5.ทุกอย่างต้องมีก้าวแรก เครื่องบินลำเล็ก พาเราเดินทางจากความสูง 1,400 เมตรที่กาฐมาณฑุ มายังสนามบินเทนซิง-ฮิลลารี (Tenzing-Hillary Airport) ที่ขึ้นชื่อว่าอันตรายที่สุดแห่งนึงของโลกในเมืองลุกลา (Lukla) ประเทศเนปาล อันเป็นจุดเริ่มต้นก้าวแรกของการเดินทาง trekking 11 วันไปยังจุดสตาร์ท ก้าวแรกสู่เอเวอเรสต์ทุกก้าวต้องเริ่มจากตรงนั้น นักแข่งทุกคนเริ่มเดินเท้าสู่การเดินทางที่แสนประทับใจ เดินแบกเป้ day pack ด้วยก้าวที่แข็งแรง ความชันไม่ได้มีผลต่อพวกเขาเลย ราวกับใบไม้ที่ปลิวขึ้นเนิน ทุกๆ รูท เทรคกิ้ง แทบจะใช้เวลาเพียงครึ่งเดียวของที่บอกไว้
          6.คำสาป…AMS (acute mountain sickness) โรคแพ้ความสูงจึงมีอาการที่แปลกมาก เหมือน ‘โดนสาป’ และการกินยาก็ใช่ว่าจะช่วยทุเลาได้เสมอไป ความแข็งแรงระดับนักกีฬาไม่ได้ช่วย หลายคนอาจไม่โชคดีนัก บางคนเป็นหนักถึงขั้นต้องหามส่งโรงพยาบาล บางคนไต่เขาเหมือนโดนคำสาป ยังพอไปได้ทั้งที่ไอ เวียนหัว อ่อนแรง กินยาไปเดินไป จิตใจเท่านั้นที่พาพวกเขาไป
         แพทย์ประจำทีม เข้าตรวจสุขภาพนักแข่งทุกคน เช็กความพร้อมที่จะขึ้นความสูงเกิน 4,000 เมตร พร้อมบรีฟเบื้องต้น อาการไอแห้งเป็นเรื่องปรกติที่อาจจะเจอได้มาก ดื่มน้ำให้มาก 4 ลิตรต่อวัน ถ้าใครกินยา Diamox ให้ดื่มน้ำมากกว่านั้น เลย 4 พันเมตร งดเบียร์ ห้ามแอลกอฮอล์ทุกชนิดเด็ดขาด การวินิจฉัยของแพทย์ถือเป็นสิทธิ์ขาด ที่จะไม่ได้ไปต่อเพื่อความปลอดภัยของนักแข่งเอง
         7.เดินผ่านความสูงชันขึ้นไปเรื่อยๆ ก้าวย่ำผ่านอากาศที่แปรปรวนหนาวเย็น ที่นี่ไม่มีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าต้นไม้ ที่ความสูง @4,400 เมตรนี้ จากสภาพเบาบาง ปริมาณออกซิเจนเหลือเพียงครึ่งเดียวของคนข้างล่าง แค่ 11-12 เปอร์เซ็นต์ จาก 21 เปอร์เซ็นต์ ...
         8.มีสิ่งมีชีวิตเพี้ยนๆ ชนิดเดียวที่เรียกว่า “มนุษย์”
          เดินทางต่อ...นี่มันดาวดวงไหน -3 องศา อากาศครึ่งเดียว หาสิ่งมีชีวิตยาก ยิ่งสูงยิ่งแปรปรวน แดดเปรี้ยงๆ พักเดียวฝนตก เดี๋ยวหิมะตก ลูกเห็บตก
          9.วันนี้ทุกคนจะได้ทดสอบวิ่งบนเส้นทางแข่งจริงในระยะสั้นๆ ที่ความสูง 4,400 เมตร เป็นครั้งแรก ลองนึกภาพมีถุงพลาสติกครอบหัววิ่ง มันไม่แตกต่างกัน
          10.มาไกลเกือบ 5 พันละ... เมื่อกายแข็งแรง ใจจะกล้าก้าวไกลออกไป เมื่อใจที่กล้าไปไกล จะบอกร่างกายให้ค่อยๆ แข็งแรงขึ้นไปอีก หลายคนต้องเผชิญกับสภาวะการปรับตัวในที่สูง เหนื่อยล้า บาดเจ็บ ฯลฯ จิตใจที่ถูกเทรนมาแข็งแรงกว่า ทุกคนยังยิ้มและเดินหน้าต่อไป สู่จุดสตาร์ท Everest Base Camp
          11.นักแข่งทุกคน มีโอกาสไต่ความชันขึ้นไป ที่ “Kalapathar” จุด view point ที่ว่ากันว่ามองเห็น พระอาทิตย์ขึ้นยอด Everest ได้สวยที่สุด ที่ความสูง 5,622 เมตร มีออกซิเจนให้หายใจไม่ถึงครึ่ง (ยอดสีดำไกลๆ) ก่อนกลับมานอนที่ Golak Shep ที่ความสูง 5,135 เมตร ตามกฎ Walk High, Sleep Low เราจะเดินสูงกว่าที่เรานอนเสมอเพื่อให้ร่างกายปรับตัว

วิ่งกลางอ้อมกอดหิมาลัย...Everest Marathon

          12. I’m Sherpa นักแข่งทุกคนรู้ดีว่า พวกเขาไม่มีวันทำภารกิจที่หนักหน่วงนี้สำเร็จได้โดยปราศจากทีมสนับสนุน โดยเฉพาะ เชอร์ปา พวกเขาแบกสัมภาระ อุปกรณ์ อาหาร ดูแลนักแข่งตลอดเส้นทาง พวกเขาคอยสังเกตแม้กระทั่งสีหน้า ที่กังวล ต้องการอะไร เราคือส่วนหนึ่งของทีม ของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา เผ่าพันธุ์ที่แสนทรหดแบกของมากกว่าน้ำหนักตัวขึ้นลง-เขา มาหลายพันปี

วิ่งกลางอ้อมกอดหิมาลัย...Everest Marathon

          13.Day 11 -6 องศา นักแข่งเกือบทั้ง 200 คน ออกเดินขึ้นไปถึงยังจุดสตาร์ท Everest Base Camp วันนี้...ดินแดนสวรรค์ ที่อากาศติดลบ 17 องศา หิมะตก ลมแรง หันไปมีแต่ หิมะ ธารน้ำแข็ง พวกเราจะได้นอน
เต็นท์พักที่แดนสวรรค์แห่งนี้ 2 คืน ก่อนเริ่มการแข่งขัน

วิ่งกลางอ้อมกอดหิมาลัย...Everest Marathon

         14. 29 พฤษภาคม เวลาที่ทุกคนรอคอย Race Day จุดสตาร์ทที่เรียกว่า Ice Fall ธารน้ำแข็งบน Everest Base Camp นักแข่งทุกคนพร้อมออกสตาร์ท 7 โมงเช้า ในระยะ full Marathron การวิ่งลงบนทางลาดชันของยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกได้เริ่มขึ้น และแน่นอน มันไม่ได้วิ่งลงอย่างเดียว พื้นผิวหิน สลับน้ำแข็ง ออกซิเจนที่เบาบาง บรรยากาศที่ทุกคนรอคอย ชัยชนะคือการเอาชนะตัวเอง แล้วพบกันที่เส้นชัย คือคำทักทายกัน

วิ่งกลางอ้อมกอดหิมาลัย...Everest Marathon

          15.นักวิ่งท้องถิ่นชาวเชอร์ปา เหมือนเป็นธรรมชาติของพวกเขา พวกเขาวิ่งเหมือนพวกเขาบิน ไม่เคยมีนักแข่งต่างชาติสามารถเอาชนะได้เลยตลอด 17 ปีที่ผ่านมา ผู้จัดจึงแยก International Runner กับ Local
Runner ออกจากกัน แม้ว่าจะเคยมีนักแข่งต่างชาติมาเก็บตัวที่นี่ในพื้นที่ มากกว่า 2 เดือนก่อนแข่งมาแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถเอาชนะนักแข่งเจ้าถิ่นได้

วิ่งกลางอ้อมกอดหิมาลัย...Everest Marathon

         16.นักแข่งทยอยเข้าเส้นชัย ที่จุด cut off 32 กม. ก่อน 4 โมงเย็น ผู้ใดไม่ทันจะไม่ได้รับอนุญาตให้วิ่งต่อ ต้องค้างคืนเพื่อความปลอดภัย และออกสตาร์ทใหม่ตอน 6 โมงเช้า (โดนปรับเวลา 3 ชม.)

วิ่งกลางอ้อมกอดหิมาลัย...Everest Marathon

          17.นี่คือมาราธอนที่ไม่มีผู้ชมรอคอยมากมายอยู่ที่เส้นชัย ไม่มีช่างภาพเรียงรายตลอดทาง ความยิ่งใหญ่คือ การได้เรียนรู้ที่อยู่กับตัวตนตั้งแต่การเดินทาง 12 วัน ที่ออกเดินไปตามอ้อมกอดของเทือกเขาหิมาลัย ไปยังจุดสตาร์ท การได้มาสัมผัสวิถีชีวิต เดินทางข้างในตัวตน ค่อยๆ ค้นพบความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่อลังการตลอดเส้นทางนี้

วิ่งกลางอ้อมกอดหิมาลัย...Everest Marathon

          18.ทันทีที่สัญญาณปล่อยตัวดังขึ้น พื้นที่เต็มไปด้วยหิน น้ำแข็งอากาศที่เบาบาง ก้าวเท้าวิ่ง & เดินแต่ละก้าวช่างยากเย็น
         19.No plan !!! ผ่านห้ากิโลเมตรแรก นักวิ่งเดินขึ้นเขาลาดชันไปเรื่อยๆ เราไม่รู้ต้องใช้ความเร็วเท่าไร จะเจออะไร เกาะๆ กลุ่มที่เร็วพอๆ กันไปเรื่อยๆ นาทีนี้ ไม่มีอะไรต้องคิดมากนอกจากสนุกกับการวิ่งบนหินต่อไป ให้ระยะทางผ่านไปเรื่อยๆ
         20.ผ่านสิบกิโลเมตร รองเท้าที่วิ่ง break in มาใช้งานมา 100 กม. ในทางราบๆ ของ กทม. ก็กระแทกๆๆๆๆ ลงเขา ถึง check point เปิดดู เฮ้ยเลือดนิ!!! จนเล็บสองข้างเจ็บ นี่ กม.10 เองนะ OMG! ลืมแผนทุกอย่างทิ้งไปให้หมด ความผิดพลาดที่ไม่ได้คาดไว้เกิดขึ้น มันอาจไม่ใช่ข่าวร้าย อย่างน้อยมีเรื่องให้สนุกตื่นเต้นตลอดทางละทีนี้
         21.หลังผ่านครึ่งทาง 21 กม. ลางร้ายเริ่มปรากฏ ทุกครั้งที่ลงเขาชันยาว (แทบตลอดทาง) ยังคงย่ำเท้าไปได้แบบอดทน นี่คือความปกติธรรมดาของนักวิ่งเทรล นักวิ่งอัลตร้าที่ต้องเจอ ความเร็วหล่นลงมาบ้างเดินสลับบ้าง ตามความตั้งใจ บอกตัวเองว่าจะประคองไปถึงกิโลเมตรที่ 32 ก่อน cut off ได้แน่นอน ตอนนั้นเลิกฝันถึงสถิติเวลาไปเรียบร้อยแล้ว และคิดแค่ว่าจบละกูยังต้องเดินลงเขากลับอีกหลายวัน ประคองๆๆๆๆๆๆๆ

วิ่งกลางอ้อมกอดหิมาลัย...Everest Marathon

          22. กิโลเมตรที่ 27 ยุติการลงเขาด้านตรงๆ วิ่งตะแคงข้างลง เดินเปลี่ยนองศาลงช่วยบรรเทาได้มาก แต่คนที่เกาะตามหลังนี่ก็จี้เหลือเกิน ให้แซงก็ไม่แซง
         23.ถึง water station กิโลเมตรที่ 32 ผ่านจุด cut off (ตัดที่ 9 ชม.) เฮ้!! นี่เพิ่ง 5 ชม.เอง ถอดรองเท้าดูแต่ก็เริ่มเห็นเงามัจจุราช เล็บสองข้าง ดำบวมเป่ง !!!! ระยะทางอีกสิบสิบกิโลเมตรจากนี้จะต้องยาววววววนาน....เสมือนวิ่งไปมีมัจจุราชขี่คอไปตลอดทาง

วิ่งกลางอ้อมกอดหิมาลัย...Everest Marathon

         24.ลากพาตัวเองมาถึงกิโลเมตรที่ 37 เลิกมองนาฬิกา เมื่อเราไม่ยึดติดกับเวลา เราเป็นอิสระบนเส้นทางนี้เช่นกัน ผ่าน Check point สุดท้าย อีก 5 กม. เสียงเจ้าหน้าที่ตะโกนไล่หลัง “อีกนิดเดียวๆ ทางไม่ชันแล้ว !!!”.....คงไม่มีใครโกหก ไม่ชันของคนบนเขา ส่วนเราก็เรียกชันอยู่ดีละวะ !!
         25.มันไม่มีอะไรมากไปกว่า ก้าวทีละก้าว... สู่ความสำเร็จ
         26.เมื่อสองเท้าก้าวข้าม Finished Line แวบแรกที่ผ่านเข้ามาในหัว “ความล้มเหลว คือ การไม่ได้ลงมือทำต่างหาก” ความสำเร็จอาจมีหลากหลายรสชาติ มันอาจไม่เหมือนที่เราวาดไว้ เราสามารถพบความสำเร็จอีกรูปแบบ บนเงื่อนไขที่เราไม่คาดคิด แต่ไม่ว่าความสำเร็จจะมีหน้าตาแบบไหน ในทุกความสำเร็จมีแกนกลางอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน... นั่นคือ การไม่หยุดเดินหน้าต่อไป !

วิ่งกลางอ้อมกอดหิมาลัย...Everest Marathon

        27.มีไม่กี่คนในโลกและคนไทยอีกคนที่จบ Race ที่ขึ้นชื่อว่าโหดที่สุดอันหนึ่งในโลก Tenzing-Hillary Everest Marathon 2019 (The highest marathon on earth.) ลำดับที่ 45 (International Runner)
        ตลอด 12 วันที่พาตัวเองไปยังจุดสตาร์ท บน Everest Base Camp เพื่อวิ่ง full marathon (รับรองโดยคณะกรรมการโอลิมปิค) บนความสูงกว่า 5,300 เมตร ที่ซึ่งออกซิเจนเบาบางมีไม่ถึงครึ่ง แม้เพียงแต่จะแปรงฟันยังหอบ...จิตใจโคตรทรหด พรุ่งนี้...ยังต้องเดินกลับลงเขาลงมา!!!

วิ่งกลางอ้อมกอดหิมาลัย...Everest Marathon

         28.แดดร้อนขึ้นเรื่อยๆ ผมพบว่าการเดินนั้นไม่เจ็บปวด หัวใจเต้นช้ากว่า แต่ไม่ได้เหนื่อยน้อยกว่าเลย เพราะมันเคลื่อนที่ช้าเหลือเกิน
        29.ไม่ว่าใคร ไม่มีสิทธิพิเศษหรืออภิสิทธิ์ใดๆ ในการเดินทางร่วมกันครั้งนี้ โปรดสอบถามท่านเอกอัครราชทูตฯ ท่านใช้ห้องนอนแบบเดียวกัน กินอาหารเดียวกันและทำธุระในห้องส้วมแบบเดียวกันกับเราทุกคน
การแบ่งกลุ่มไม่ได้มีความหมายอะไรเลย มีแต่เพื่อประสิทธิภาพในการจัดการเท่านั้น ทุกคนที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์นี้มีความเท่าเทียมกันทุกคน...
         30.จุดเริ่มต้นไม่ใช่เส้นสตาร์ท ที่สิ้นสุดไม่ใช่เส้นชัย
          day17@keep walking...ขากลับวันนี้ทุกคนต้องข้ามเขาลูกแล้วลูกเล่า ฝ่าฝนหนัก & ลูกเห็บตลอดทาง...7 ชม.ผ่านไป ระหว่างความอ่อนล้า หนาวเหน็บ นึกถึง คำพูดของ race director กล่าวไว้ก่อนแข่ง 1 วันบางส่วนขึ้นมา !!

         ..............

          "พระเจ้าเท่านั้นรู้ดีว่า ผู้คนที่มาจากส่วนต่างๆ ของโลกเพื่อได้วิ่งลงไปตามทางลาดของภูเขาที่สูงที่สุดในโลก มันไม่ใช่การวิ่งเหยาะยามเช้าประจำวันของใครสักคน มันไม่ใช่แม้แค่การแข่งขัน หรือการแข่งขัน เมื่อเราฝ่าสภาพเงื่อนไขความโหดร้ายแปรปรวนขึ้นมาถึงในวันนี้ ถึงจุดเริ่มการวิ่งมาราธอนในวันที่ 29 พฤษภาคม มันคือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มันเป็นการเฉลิมฉลองของจิตวิญญาณมนุษย์และความอดทน ธาตุทรหดของมนุษย์ มันเป็นเหตุการณ์หนึ่งของจักรวาล ถ้ามนุษย์ต่างดาวกำลังดูเราในวันนั้นพวกเขาจะสูญเสียความคิด มึนงง ถามว่าสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่อ่อนแอเหล่านี้กำลังทำอะไรอยู่ แต่ผมสามารถกล้ายืนยันได้ว่ามันสมเหตุสมผลสำหรับทุกคนในห้องนี้...แม้เราทุกคนมาที่นี่ด้วยเหตุผลแตกต่างกัน ด้วยพลังจากจิตใจอันสูงส่ง "เราทุกคนอยู่ที่นี่เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา และนั่นคือเหตุผลที่แท้จริงที่คุณอยู่ที่นี่”

Some of Race Director's speech
May 28, 2019

         ................   

         31.ความสุขนั้นอยู่ที่เราวางไว้ตรงไหน มันก็อยู่ที่นั่น
         32.สิ่งที่สวยงามที่สุด คือ การได้สัมผัสจิตใจที่เข็มแข็ง ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดอาจถูกบั่นทอนด้วยอายุ แต่ไม่ใช่จิตใจ ชายผู้นี้จบ Everest marathon ด้วยการฉลองวันเกิดวัย 67 ปี ใช้ชีวิตร่วมกันมา สองสามสัปดาห์ ยิ่งคุยยิ่งรู้ว่าคนนี้ เป็นหนึ่งในไม่กี่คนในโลกที่พิชิต ครบ world grand slam adventure ถามว่ามันคืออะไร ?....คือการบรรลุครบสุดยอด 9 สิ่งในฝันของนักผจญภัย
         “การปีนขึ้นเหยียบ submit พิชิตยอดเขา สูงสุดทั้ง 7 ทวีปในโลก + เดินทางไปที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้” นอกเหนือจากนั้นชายผู้นี้ยังวิ่ง 150 ไมล์ในการแข่งขันเจ็ดวัน ข้ามทะเลทรายโลก อาตากามา โกบี และซาฮารา ครบทั้ง 3 ทะเลทรายและถ้ายังไม่เพียงพอ เมื่อตอน 60 ปีได้เข้าร่วมการแข่งขันวิ่ง ระยะทาง 150 ไมล์บนพื้นที่ที่ปกคลุมไปด้วยหิมะและน้ำแข็งบนคาบสมุทรแอนตาร์กติก ...วิ่ง ultra หาเงินบริจาคมาทั่วโลก
        ใช่ปีนี้อายุ 67 !! เป็นหนึ่งในไม่กี่คนในโลกที่ทำได้
         น่ารักมากคนเก่งๆ ระดับโลก อ่อนน้อมถ่อมตัวตามวิสัยคนเก่ง
         ไม่จริงเลยคนที่ยิ่งใหญ่ทำให้เราตัวเล็กลง ยิ่งใกล้ชิดเรายิ่งรู้สึกตัวใหญ่ใจพองโตขึ้น
         ถามว่า คุณได้อะไรจากการทำแบบนี้
         คำตอบเรียบง่ายจากชายผู้นี้....
          very beneficial when you getting old !!!!!!

วิ่งกลางอ้อมกอดหิมาลัย...Everest Marathon

         33.มีสิ่งมากมายเกิดขึ้นตลอดทางยาวไกลนี้ และเราจะเป็นบ้า ถ้าคิดควบคุมให้ทุกอย่างเป็นอย่างใจ ปล่อยให้ทุกอย่างเรียบง่าย เคลื่อนไหวไปราวกับลมเบาๆ ที่พัดผ่านตัวไป ในนาทีนี้ภารกิจที่หนักหนาได้ลุล่วง 

         ทุกคนเอาชนะสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ขยายขอบเขตความกว้างไกลของจิตใจภายในตัวตนออกไป รอยยิ้ม การโอบกอด แสดงความยินดี และถึงวันที่ต้องจากลา

พบกันใหม่เร็วๆ นี้ !!
khunphiphat

.......

เรื่อง/ภาพ...พิพัฒน์ ละเอียดอ่อน
นักผจญภัย นักวิ่งอัลตร้า นักวิ่งมาราธอน นักถ่ายภาพ นักเขียนสมัครเล่น
ปัจจุบัน เป็นผู้บริหาร ธุรกิจโฆษณา , TV  production house  The zhAke Com Co.,ltd

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ