Lifestyle

ชวนเที่ยวเมืองลุ่มภู ดูวิถีชุมชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หนองบัวลำภู ดินแดนที่อยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์

     จังหวัดหนองบัวลำภู ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สมาคม ชุมชน และเครือข่ายต่างๆ ในจังหวัดหนองบัวลำภู ร่วมส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวทำกิจกรรมประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรม อาหารถิ่น สินค้าชุมชน ศักยภาพความพร้อมของที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในจังหวัด...

   ก่อนอื่นทำความรู้จักกับ “จังหวัดหนองบัวลำภู” คร่าวๆ ว่าเป็นดินแดนที่อยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังหลักฐานที่ขุดค้นพบ จากแหล่งโบราณคดีกุดกวางสร้อยกุดค้อเมย แต่เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า “หนองบัวลุ่มภู” ก่อนจะค่อยๆ เพี้ยนมาเป็น “หนองบัวลำภู” ในปัจจุบัน

ชวนเที่ยวเมืองลุ่มภู ดูวิถีชุมชน

พระอนุสาวรีย์และศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

      และเพื่อเป็นสิริมงคลต้องไม่ลืมสักการะ “พระอนุสาวรีย์” และ “ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันออกของสวนสาธารณะริมหนองบัว สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงนำทัพมาประทับแรมที่เมืองหนองบัวลำภู เนื่องจากมีทัศนียภาพที่สวยงาม มีดอกบัวหลวงขึ้นเต็มที่หนองน้ำสวยงามมาก และหนองน้ำมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การตั้งพักแรมของกองทัพที่มีจำนวนมาก โดยใช้น้ำเพื่อดื่มเพื่อใช้ และดอกบัวหลวงก็ใช้เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เมื่อ พ.ศ.2117 นั้น ทำให้ชื่อเมืองหนองบัวลำภูได้จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทย ดังนั้นเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติวีรกษัตริย์ไทย พระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขต (จิต จิตตยโสธร) อดีตเจ้าเมืองอุดรธานีได้ร่วมใจกับชาวหนองบัวลำภู สร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไว้ และในช่วงวันที่ 25 มกราคม-3 กุมภาพันธ์ของทุกปี ทางจังหวัดจะจัดให้มีงานเฉลิมฉลองและมีพิธีถวายสักการะบวงสรวงดวงพระวิญญาณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ชวนเที่ยวเมืองลุ่มภู ดูวิถีชุมชน

หนุ่มสาวโล้ชิงช้าที่ต้นตาล บ้านตาดไฮ

     หมุดหมายแรกสำหรับทริปนี้เรามุ่งหน้าสู่ “บ้านตาดไฮ” แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัด ภายใต้คำขวัญที่ว่า “ต้นตาลสูง เสียว หนึ่งเดียวในหนองบัวลำภู@ตาดไฮ อยากพักใจให้มาเด้อ” โดยทางเข้าหมู่บ้านตาดไฮ นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับกิจกรรมความเสียวนั่นคือ “การละเล่นโล้ชิงช้าต้นตาลเดียว” และแม้ชื่อกิจกรรมจะบอกว่า “โล้ชิงช้าต้นตาลเดียว” แต่ในความเป็นจริงภายในหมู่บ้านแห่งนี้กลับมีต้นตาลมากว่า 100 ต้น แน่นอนว่าย่อมสร้างความตื่นเต้นให้กับนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นได้ไม่น้อยเลยทีเดียว 

    ชวนเที่ยวเมืองลุ่มภู ดูวิถีชุมชน

เรือจอดรอนักท่องเที่ยวอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบอง

ชวนเที่ยวเมืองลุ่มภู ดูวิถีชุมชน

ถ้ำย่าเลิศ

     และเมื่อเดินทางเข้าไปในบ้านท่องเที่ยวต้นแบบ ให้บริการท่องเที่ยวชุมชน บริเวณ “อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบอง” มีกระท่อมน้อยๆ ริมตลิ่งให้เราได้นั่งรับประทานอาหารพื้นเมืองเพื่อรอล่องเรือชมธรรมชาติของต้นไม้นานาพันธุ์ ชมฝูงนกนานาชนิด รวมถึงได้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ล่องเรือหาปลาอีกด้วย เมื่อเดินขึ้นมาเราก็เจอกับ “ถ้ำย่าเลิศ” ตามตำนานเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่าครอบครัวย่าเลิศได้มาอาศัยในถ้ำแห่งนี้เพื่อทำการเกษตร ชาวบ้านนิยมมากราบไหว้ บูชา ขอพร ขอโชคลาภ ว่ากันว่า ขออะไรท่านให้หมด ถัดขึ้นไปบนภูเขาอีกนิดจะพบ “สำนักสงฆ์ภูผักขา” และ “จุดชมทัศนียภาพขุนเขากว้างไกล” มีพระสังกัจจายน์และเจดีย์ทองริมหน้าผา เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำแบบเรียบง่ายแต่งามสง่าไว้ให้กราบไหว้ 

ชวนเที่ยวเมืองลุ่มภู ดูวิถีชุมชน

ฝูงนกบินกลับรัง ที่บ้านท่าลาด

     หลังจากล่องเรือเราเดินทางต่อไปที่ “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านท่าลาด” แปรรูปปลา วิสาหกิจชุมชนดีเด่น อยู่ในสังกัดสหกรณ์การเกษตรโนนสัง จำกัด ปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่มจำนวน 20 คน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านซึ่งสามีประกอบอาชีพประมง ออกเรือไปหาปลาในเขื่อนอุบลรัตน์ แต่รายได้ก็ยังไม่พอกับรายจ่ายจึงคิดที่จะหาอาชีพเสริม ด้วยการรวมกลุ่มแม่บ้าน นำปลาที่สามีจับได้จากเขื่อนมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เป็นปลาส้ม วางจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวสร้างรายได้เสริมให้แก่ครอบครัวอีกทางหนึ่ง อาศัยภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ถ่ายทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีการปรับปรุงดัดแปลงเพิ่มเติมจากสูตรของบรรพบุรุษ ด้วยการนำปลาสดมาล้าง ขอดเกล็ด ควักไส้ ควักเหงือก และทำความสะอาด 3-4 น้ำ จากนั้นก็นำเกลือ น้ำตาล กระเทียม ข้าวสุก มาคลุกเคล้าให้เข้ากัน...มาถึงตอนนี้ก็อยากจะไปดูวิธีการจับปลากันแล้ว

ชวนเที่ยวเมืองลุ่มภู ดูวิถีชุมชน

วิถีการจับปลาด้วยสะดุ้งยักษ์

     สำหรับการจับปลา ชาวบ้านจะขับเรือเข้าไปในเขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อไปยังแพขนาดใหญ่ที่ผูกเรียงรายอยู่ในเขื่อน โดยชาวบ้านจะนำเครื่องไม้เครื่องมือซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะถิ่นว่า “สะดุ้งยักษ์” หน้าตาคล้ายกับ “ยอ” แตกต่างกันเล็กน้อยตรงที่ “สะดุ้งยักษ์” นั้นมีตาข่ายเป็นสองชั้น เวลาปลาติดสะดุ้งจะไหลลงไปในชั้นที่สองซึ่งจะดูแปลกตากว่าการ “ยกยอ” ...การได้นั่งดูชาวบ้านหาปลาด้วยสะดุ้งยักษ์ตอนเย็นท่ามกลางแสงสวยงาม ทำให้เพลินกับการเก็บภาพไปอีกบรรยากาศหนึ่ง

ชวนเที่ยวเมืองลุ่มภู ดูวิถีชุมชน

แสงเย็นกับคนเรือที่บ้านท่าลาด

      ถึงแม้ว่าหนองบัวลำภูจะเป็นเมืองเล็กๆ มีอายุมาไม่นานเท่าไร แต่แหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงามไม่น้อยตามอายุของจังหวัดนี้เลยนะครับ หากท่านคิดจะท่องเที่ยวธรรมชาติขอฝากจังหวัดหนองบัวลำภูไว้ด้วยนะครับ

ประเสริฐ เทพศรี...เรื่อง//ภาพ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ