Lifestyle

ก้าวใหม่ของ 'ไลน์' ในวันที่ Game Change

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ "อินโนสเปซ" โดย "บัซซ๊่บล็อก" หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ย้อนหลังไปเมื่อเดือนพฤษภาคม เว็บไซต์ Thumbsup.in.th ได้เปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการจาก “ไลน์ ประเทศไทย” ว่า ในจำนวนประชากรไทยเฉียด 70 ล้านคน จะมีผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มไลน์ (LINE) เกินครึ่งหรือจำนวน 44 ล้านคน

 

และจากสถิติ คนไทยใช้มือถือเฉลี่ย 216 นาทีต่อวัน ในจำนวนนี้เป็นการใช้งานไลน์เฉลี่ย 63 นาทีต่อวัน

 

และแม้จะเป็นโซเชียลแพลตฟอร์มยอดนิยมแต่ไลน์ก็ไม่เคยหยุดยั้งการพัฒนารูปแบบธุรกิจ ซึ่งค่อยๆ รุกคืบจากการเป็นโปรแกรมสนทนาระหว่างบุคคล และกลุ่มคนในเครือข่ายเดียวกัน ไปสู่การเชื่อมโยงกับบริการต่างๆ ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริการที่อยู่ในบริบทการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยอยู่แล้ว

 

ไม่ว่าจะเป็น เกมออนไลน์ (เกม/ไลน์เพลย์), บริการข้อมูลข่าวสาร/บันเทิง (ไลน์ทูเดย์/ไลน์ทีวี), แพลตฟอร์มการหางาน (ไลน์จ็อบ), การจัดส่งสินค้า/อาหาร (ไลน์แมน) และโซลูชั่นช่วยธุรกิจ (Business Solution) ได้แก่ ไลน์แอท หรือ LINE@ และบัญชีไลน์ทางการ (LINE Official Account) เป็นต้น

 

ซึ่งทั้งสองโปรแกรมนี้จะต้องถูกรวมเข้าด้วยกันภายหลังคำประกาศอย่างเป็นทางการของไลน์ เมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา และยุบเหลือเพียง “บัญชีไลน์ทางการ (LINE Official Account)” ภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้

 

 

ก้าวใหม่ของ 'ไลน์' ในวันที่ Game Change

 

 

รายได้จากสติกเกอร์ ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

 

ประเด็นที่น่าสังเกตสำหรับผลงานการสร้างรายได้ของไลน์ คือ ขณะที่มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดช่วง 8 ปีที่เข้ามาเปิดบริการในไทย แต่ในแง่ ‘รายได้’ กลับไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบผลประกอบการปี 2559-2561 พบว่ามีทั้งตัวดลขขาดทุน และผลประกอบการติดลบ

 

โดยปีล่าสุด (2561) มีตัวเลขติดลบถึง 711% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แม้ว่าข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่ามีผลประกอบการเพิ่มขึ้นจากปี 2560 เป็น 2,331 ล้านบาทก็ตาม

 

แม้ล่าสุด ผู้บริหารของไลน์ (ประเทศไทยจะออกมาเปิดเผยความนิยมสติกเกอร์ของสาวกไลน์ในไทยว่ามีจำนวนสูงขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และอยู่ในอันดับต้นๆ ของผู้ใช้ทั่วโลก โดยพบว่า คนไทย 1 คน มีสติกเกอร์ไลน์สะสมเฉลี่ยสูงถึงคนละ 65 ชุด (ในจำนวนนี้เป็นสติกเกอร์ที่ซื้อ 20 ชุด)

 

ขณะนี้มีสติกเกอร์จำหน่ายทั้งสิ้น 2.2 ล้านชุด คิดเป็นสัดส่วน 35% ของจำนวนสติกเกอร์ทั้งโลก 6 ล้านชุด โดยเป็นตลาดหลักร่วมกับ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และอินโดนีเซีย

 

 

ก้าวใหม่ของ 'ไลน์' ในวันที่ Game Change

 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับประเทศอย่างญี่ปุ่นและไต้หวันยังถือว่าห่างอยู่มาก (ทั้งๆ ที่เราเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 ของไลน์ รองจากญี่ปุ่น) ดังนั้น ผู้บริหารจึงมองว่า เมืองไทยยังไม่อิ่มตัว และเตรียมแผนกระตุ้นยอดขายสติกเกอร์ ทั้งการมีฟีเจอร์ใหม่ๆ และขยายช่องทางจำหน่าย เพราะยังเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจ

 

ซึ่งปัจจุบันไลน์ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนไทย เป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์การสื่อสาร (แทนคำพูดยาวๆ) ของคนไทยเรียบร้อยโรงเรียนไลน์แล้ว

 

ทั้งนี้ สติกเกอร์ไลน์ที่เราดาวน์โหลดมาส่งให้กันทุกวันนี้ มีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ ได้แก่ สปอนเซอร์สติกเกอร์ที่แจกฟรี และสติกเกอร์ที่ต้องจ่ายเงินซื้อ แบ่งเป็น สติกเกอร์ทางการ (Official Sticker) ที่เป็นสติกเกอร์คาแร็กเตอร์ชั้นนำ

 

สติกเกอร์ศิลปิน และ LINE Creators Market เป็นพื้นที่จำหน่ายสติกเกอร์ที่เปิดกว้างให้กับครีเอเตอร์ทั่วไปนำเสนองานสร้างสรรค์เข้ามา และถ้าผ่านการพิจารณาจะได้เข้ามาวางขายบนร้านค้าสติกเกอร์ของไลน์ ราคามีตั้งแต่ 35 – 150 บาท

 

 

ก้าวใหม่ของ 'ไลน์' ในวันที่ Game Change

 

 

 

ร้านค้าย่อย-เอสเอ็มอี ช่องทางปั้นรายได้ที่สดใส

 

ขณะที่ อีกช่องทางการปั้นรายได้ของ ‘ไลน์’ ที่น่าจะทำตัวเลขได้เป็นกอบเป็นกำเร็วกว่าการฝากความหวังไว้กลุ่มผู้ใช้งานที่เป็น ภาคธุรกิจ เจ้าของกิจการร้านค้า หรือเอสเอ็มอี

 

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่หลังสร้างความนิยมในหมู่คอโซเชียลชาวไทยได้ไม่กี่ปี ไลน์ ก็แตกฟีเจอร์การใช้งานเอาใจกลุ่มร้านค้าและธุรกิจโดยเฉพาะ ภายใต้แบรนด์ ไลน์แอท หรือ LINE@ และ LINE Official Account โดยมีผู้สนใจสมัครเข้ามาใช้ทั้ง 2 ช่องทางนี้รวมแล้วกว่า 3 ล้านราย เพื่อใช้ประโยชน์ในการติดต่อสื่อสารกับผู้ใช้ไลน์หลายสิบล้านคนทั่วประเทศ

 

โดยมีผลสำรวจพบว่า เหตุผลหลักๆ ที่คนติดตามช่องทางเหล่านี้ ได้แก่ ติดตามโปรโมชั่น, รับข้อมูล, ต้องการทิปส์ดีๆ มาใช้ในชีวิตประจำวัน และติดตามความเคลื่อนไหวของแบรนด์

 

ลูกค้าหลักๆ ล้วนเป็นธุรกิจที่ใกล้กับชีวิตประจำวันอย่างมาก ได้แก่ กลุ่มอาหาร/เครื่องดื่ม ค้าปลีก สุขภาพและความงาม การเงิน เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อแยกแยะ ‘จำนวน’ จะพบว่า ในส่วน LINE@ มีแอคทีฟแอคเคาน์ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านราย เป็นกลุ่มร้านค้าย่อยธุรกิจเอสเอ็มอี และ LINE Official Account เป็นกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ราว 300 บัญชี

 

 

ก้าวใหม่ของ 'ไลน์' ในวันที่ Game Change

 

 

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทันทีที่มีคำประกาศจากไลน์ ที่จะรวมทั้ง 2 ช่องทางนี้ให้เหลือช่องทางเดียว ภายใต้แบรนด์ LINE Official Account จึงทำให้เกิดความวิตกอย่างมากในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยบ้านเรา

 

เพราะที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า LINE@ มีส่วนสำคัญในการจุดประกายให้ผู้ประกอบการรายเล็กๆ ได้เข้ามาใช้งาน โดยคนไทยมีการใช้งานโซเชียลมีเดียจำนวนมาก และนำไปสู่การประยุกต์ใช้กับการขายสินค้าผ่านช่องทางนี้

 

วงการสื่อโซเชียลมีเดีย จับตาโมเดลคิดค่าบริการใหม่ภายใต้ชื่อ LINE Official Account ว่ามีทั้งข้อดี ข้อเสีย โดยเฉพาะวงการสื่อ และผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งฟันธงว่าจะส่งผลกระทบให้ต้นทุนพุ่งสูงขึ้นแน่นอน

 

เพราะจะมีค่าใช้จ่ายในการยิงข้อความ หรือกระจายข้อมูลข่าวสารไปยังกลุ่มเป้าหมายที่จะเป็นไปตามจำนวนข้อความที่ไปถึงกลุ่มเป้าหมาย แทนการคิดค่าบริการเหมาจ่ายแบบเดิม

 

ทั้งนี้ ผู้บริหารของไลน์ ให้เหตุผลข้อหนึ่งในการโอนย้ายบัญชีผู้ค้าใน LINE@ มารวมอยู่ใน LINE Official Account ว่า “ที่ผ่านมาผู้ประกอบการแต่ละรายมีการส่งข้อความสแปมให้แก่ผู้ใช้งานจำนวนมาก จนลูกค้าที่ใช้งานทั่วไป เริ่มเกิดความรำคาญ การส่งข้อความเริ่มเกิด Blind Broadcast ที่ไม่เข้าถึงผู้ใช้มากขึ้น

 

ในมุมของไลน์ไม่ได้อยากเป็นแพลตฟอร์ม ที่สนับสนุนให้ทุกคนส่งสแปมเข้าหากัน โดยไม่สามารถเข้าไปจำกัด ปริมาณการส่งข้อความของผู้ประกอบการแต่ละเจ้าได้ แนวคิด ReDesign ครั้งนี้ ก็เพื่อปรับปรุงให้ LINE@ มีคอนเทนต์ที่มีคุณภาพมากขึ้น

 

อยากให้ผู้ประกอบการทุกคนไม่ใช่แค่มองเรื่องของการทำมาค้าขาย แต่เป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้ทุกคนชื่นชอบ ไม่ใช่เกิดความรำคาญ”

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ