ข่าว

"สมาร์ทฟาร์มเห็ด" อัจฉริยะ ฝีมือคนไทย

"สมาร์ทฟาร์มเห็ด" อัจฉริยะ ฝีมือคนไทย

26 มิ.ย. 2564

"สมาร์ทฟาร์มเห็ด" อัจฉริยะ ฝีมือคนไทย ใช้เทคโนโลยีควบคุมการทำงานแทนการคาดคะเนแบบดั้งเดิม นำร่องเพาะเห็ดนางฟ้า เตรียมขยายทดลองเพาะเห็ดหลินจือ

คนไทยหันมาเพาะ "เห็ด" ทั้งเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริมกันมาก เนื่องจากใช้ต้นทุนน้อย ได้ผลผลิตสูง ขายได้ทั้งปี แต่ส่วนมากเป็นการดูแลและเพาะเลี้ยงด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน

วันนี้จะพาไปดู "สมาร์ทฟาร์มเห็ด" ฝีมือคนไทย ที่อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ฟาร์มเพาะเห็ดนางฟ้า ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การเพาะเห็ดง่ายและได้มาตรฐาน

\"สมาร์ทฟาร์มเห็ด\" อัจฉริยะ ฝีมือคนไทย

กลุ่มผู้เพาะเห็ดนางฟ้าในอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ก็เหมือนกับเกษตรกรเพาะเห็ดในจังหวัดอื่นๆ ที่เพาะเห็ดแบบวิธีดั้งเดิม ใช้การคาดคะเนร่วมกับความชำนาญของผู้เพาะเห็ด สังเกตและสัมผัสความชื้นของอากาศและตัวเห็ด

เรียกว่าอยู่ที่ชั่วโมงบินของแต่ละคนทำให้กว่าจะได้ผลิตสูงต้องเสียเงินไปมาก

ยิ่งในช่วงหน้าร้อน "เห็ด" ขาดความชื้นมากกว่าหน้าฝน ก็จะใช้สายยางฉีดน้ำเข้าไปในโรงเรือนเพาะเห็ด สิ้นเปลืองทั้งแรงงานและเวลา ผลผลิตก็ไม่ได้ตามเป้า

\"สมาร์ทฟาร์มเห็ด\" อัจฉริยะ ฝีมือคนไทย

 

สำนักงานวิจัยแห่งชาติ ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับ มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย วิทยาลัยรัตภูมิ ทำโครงการ จัดการองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ ระบบฟาร์มเพาะเห็ดอัจฉริยะ จนเกิดเป็น "สมาร์ทฟาร์มเห็ด"

นักวิจัยได้เริ่มต้นออกแบบโรงเรือนเพาะเห็ดให้สอดคล้องกับระบบที่จะติดตั้ง มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่เรียกว่า เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตในสรรพสิ่ง (loT) ใช้ควบคุม 2 โหมด คือ 1. สั่งการโดยผู้ใช้งาน 2. แบบอัตโนมัติ ที่สามารถควบคุมระบบเปิด-ปิดระบบไฟฟ้า ระบบพ่นหมอก ระบบสปริงเกอร์หลังคา ระบบพัดลม และระบบรดน้ำบนพื้น

\"สมาร์ทฟาร์มเห็ด\" อัจฉริยะ ฝีมือคนไทย

 

ภายในโรงเรือนเพาะเห็ด มีเซ็นเซอร์คอยวัดอุณหภูมิความชื้น ก๊าสคาร์บอนไดออกไซด์ และความเข้มแสง ที่โชว์เป็นภาพกราฟใช้ควบคุม ดูการทำงาน และวิเคราะห์สภาวะที่เหมาะสมในการเพาะเห็ด ระบบนี้สามารถบอกช่วงเวลาเก็บเห็ด การพ่นหมอก และการให้น้ำบนพื้น โดยผู้ใช้งานดูการทำงานต่างๆ ได้ผ่านแอฟพลิเคชั่นไลน์ (LINE) ทุก 1 ชั่วโมง

\"สมาร์ทฟาร์มเห็ด\" อัจฉริยะ ฝีมือคนไทย

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วันประชา นวนสร้อย อาจารย์มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัยวิทยาลัยรัตนภูมิ หัวหน้าโครงการวิจัย บอกว่า เทคโนโลยีนี้ยังต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลผลิตที่มีคุณภาพสูง ขณะนี้พยายามต่อยอดทดลองเพาะเห็ดหลินจือ โดยจะมีการเพิ่มกล้องวงจรปิด และอื่นๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้เทคโนโลยี โดยนักวิจัย หวังว่าระบบนี้จะทำให้ผู้เพาะเห็ดสามารถนำไปใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งการติดตั้งและการใช้งาน มีความเสถียรสูงสุดและเกิดปัญหาน้อยที่สุด

เทคโนโลยีเกษตรเข้ามาช่วยให้เกษตรกรไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับการส่งเสริม ขยายให้ทั่วถึง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเรื่องทุนวิจัย รวมถึงการเปิดใจของเกษตรกรผู้ใช้เองด้วย ผลผลิตทางเกษตรของไทย มีชื่อเสียงอยู่แล้วในตลาดโลก ถ้ายิ่งได้มาตรฐานได้ มีคุณภาพสูง ได้หน่วยงานรัฐช่วยทำตลาดดีๆ ยิ่งกอบโกยเงินจากต่างประเทศได้สบายๆ

 

ที่มา : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)