ข่าว

ประมงทั่วประเทศเตรียมหยุดเรือจับปลา

ประมงทั่วประเทศเตรียมหยุดเรือจับปลา

27 ก.ค. 2561

ภาคประมงประชุมเตรียมยื่น 8 ประเด็นให้รัฐบาลแก้ปัญหา 1 ส.ค. นี้ ลั่น หากไม่ได้รับคำตอบภายใน 7 วัน จะหยุดเรือออกหาปลาพร้อมกันทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล

               27 ก.ค. 61  ที่ ห้องประชุมสหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด ต.บางจะเกร็ง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม  นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ในฐานะนายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม ประชุมสมาชิก 4 องค์กร คือ สมาคมการประมงสมุทรสงคราม , สมาคมประมงเรือลากคู่สมุทรสงคราม , สหกรณ์ประมงแม่กลอง และสหกรณ์ประมงบางจะเกร็งบางแก้ว

 

 

 

               เพื่อหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนภาคประมงในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากภาครัฐ และอียู โดยเฉพาะประเด็นปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคประมงทั่วประเทศ กว่า 40,000 คน ที่ยื่นหนังสือไปหลายหน่วยงานให้แก้ปัญหาแต่ก็ยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังนิ่งเฉย นอกจากนี้ยังมีประเด็นปัญหา อีก 7 ประเด็น คือ ปัญหาเรื่องการรับซื้อเรือคืน , ปัญหากฎหมายของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน , ปัญหากฎหมายของกรมเจ้าท่า , ปัญหากฎหมายของกรมประมง , ปัญหาการแจ้งเรือเข้า-ออก หรือ PIPO , ปัญหา VMS และ ปัญหากระทรวงแรงงานจะดันไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา C188 เป็นต้น

               ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายกันถึงความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสมานานกว่า 3 ปี จากการที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายการประมง ระเบียบวิธีปฏิบัติของชาวประมง เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ IUU ภายหลังจากสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศให้ ใบเหลืองไทย เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 แม้ภาคประมงจะหารือถึงแนวทางแก้ไขความเดือดร้อนกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ได้รับการแก้ไขปัญหาน้อยมาก ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้นายกสมาคมประมงทุกสมาคมในจังหวัดสมุทรสงครามเดินทางไปยื่นหนังสือเรียกร้องความเดือดร้อนต่อรัฐบาลรวม 8 ประเด็น ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันพุธที่ 1 สิงหาคม นี้ เวลา 10.00 น. ส่วนในวันเดียวกัน ชาวประมงในพื้นที่จะยื่นหนังสือเรียกร้องปัญหาความเดือดร้อนที่ศาลากลางจังหวัด พร้อมกับ 22 จังหวัดชายทะเล อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้รับคำตอบภายใน 7 วัน ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง ชาวประมงทั่วประเทศจะพร้อมใจกันหยุดเรือออกหาปลาอย่างน้อย 7 วัน และหากยังไม่แก้ปัญหาอีกชาวประมงจะเดินทางไปยื่นถวายฎีกาต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป

 

 

 

               นายมงคล กล่าวว่า การแก้ปัญหาไอยูยูของรัฐบาล 3 ปี ที่ผ่านมา ชาวประมงเดือดร้อนหนักมากขึ้นทุกวัน ชาวประมงจำนวนมากต้องเลิกอาชีพการทำประมง โดยในอดีตมีเรือประมงพาณิชย์ขนาด 10 ตันกรอสส์ขึ้นไป กว่า 20,000 ลำ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 10,600 ลำ และก็ยังไม่สามารถออกเรือทำประมงอีกกว่า 2,000 ลำ เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน นอกจากนี้ยังมีปัญหา อีก 7 ประเด็น คือ ปัญหาเรื่องการรับซื้อเรือคืน , ปัญหากฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน , กรมเจ้าท่าและกรมประมงที่ไม่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพ ปัญหาการแจ้งเข้าแจ้งออก เนื่องจากแต่ละหน่วยงานและเจ้าหน้าที่แต่ละศูนย์ปฏิบัติไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

               นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่กำลังจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อชาวประมงภายใน 1 - 5 ปี ข้างหน้า คือ การที่กระทรวงแรงงานจะนำไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา C188 เรือประมงต้องรื้อเก๋งเรือเพื่อทำห้องน้ำ ห้องนอน ห้องครัว ความสูงเพดานเก๋งเรือใหม่ต้องใช้เงินอีกนับล้านบาทต่อลำ ซึ่งเรื่องนี้กลุ่มประเทศอียูมีผู้รับรองภาคีนี้เพียง 3 ประเทศเท่านั้น ทั้งที่มีการรณรงค์มานานถึง 8 ปี แต่ในเอเชียก็ยังไม่มีประเทศใดได้รับการรับรอง หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา แคนาดา สเปน จีน ญี่ปุ่น ก็ยังไม่รับรอง ชาวประมงจึงขอคัดค้านการที่รัฐบาลจะไปลงนามในสัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง พ.ศ. 2560 อีกด้วย