เร่งแก้วิกฤติภัยแล้งขุดเจาะ 20 บ่อบาดาล
กางเต็นท์เตรียมสถานที่ต้อนรับ นายกฯ ติดตามแก้ปัญหาภัยแล้งสุรินทร์ - บุรีรัมย์ 19 ส.ค.
17 สิงหาคม 2562 หลังจากที่อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง (ห้วย-สะ-เหนง) ต.เฉนียง (ฉะ-เหนียง) อ.เมือง จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำดิบผลิตน้ำประปาหล่อเลี้ยงประชาชนในเขตเทศบาลเมืองและตำบลรอบนอก ได้เกิดวิกฤติน้ำในอ่างแห้งขอดจนไม่สามารถนำมาผลิตน้ำประปาได้เพียงพอ ทำให้ชุมชนเมืองและรอบนอกที่ใช้น้ำประปาในการอุปโภค - บริโภค เดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากน้ำประปาไหลไม่เพียงพอและทั่วถึงนานนับเดือน
ล่าสุด จนท.ทหาร จากกองทัพภาคที่ 2 ร่วมกับ จนท.จากสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 5 จ.นครราชสีมา ได้นำรถขุดเจาะน้ำบาดาลขนาดใหญ่ มาทำการเร่งขุดเจาะน้ำบาดาลบริเวณโดยรอบอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง จำนวนกว่า 20 จุด เพื่อดึงน้ำบาดาลออกมาให้บริการประชาชนที่ขาดแคลนน้ำ สามารถนำน้ำไปใช้ได้ โดยอยู่ระหว่างต่อแผงวงจรโซล่าเซลล์ เพื่อนำพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ต่อเข้ากับเครื่องสูบน้ำบาดาล ก่อนจะต่อท่อและทำวาล์วเปิดปิดไว้ให้ประชาชนได้เปิดใช้ รวมทั้งเพื่อไว้สูบดึงน้ำบาดาลลงไปเติมสมทบให้เป็นน้ำดิบภายในอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงเพื่อผลิตน้ำประปา เพิ่มเติมกับน้ำที่ได้ทำการผันผ่านท่อ PE ขนาดใหญ่มาจากบ่อระเบิดหินเก่า ในพื้นที่วนอุทยานพนมสวาย (พะ-นม-สะ-หวาย) อ.เมือง ระยะทางกว่า 12 กม. และน้ำฝนที่เกิดจากการทำฝนเทียมและมรสุมในห้วง 2 - 3 วันนี้บางส่วน และจากการยืนยันของโครงการชลประทานสุรินทร์ พบว่า ขณะนี้มีปริมาณน้ำอยู่ที่ประมาณ 2 ล้าน ลบ.ม. สามารถใช้น้ำได้อีก 2 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ แม้จะสามารถผลิตน้ำประปาให้บริการได้มากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังไม่เพียงพอและทั่วถึง ซึ่งต้องรอติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำเพิ่มเติมจากบ่อบาดาลที่กำลังขุดเจาะ 20 บ่อ รวมทั้งฝนเทียมและน้ำจากบ่อระเบิดหินเก่าเพิ่มเติม อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้แล้ว ยังมีหน่วยงานหลายภาคส่วนที่ลงพื้นที่ เร่งดำเนินการในการขุดบ่อเป็นแก้มลิงหรือธนาคารน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นแล้ว โดยรถแม็คโครจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ และจากโครงการซแรย์อทิตยา หนึ่งในโครงการพิเศษใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ และจากกรมชลประทาน จำนวนหลายคัน ได้เร่งดำเนินการ กระจายกันลงพื้นที่ขุดบ่อเป็นแก้มลิงภายในอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงหลายจุด โดยดำเนินการทั้งวันทั้งทั้งคืน เพื่อขุดให้ลึกลงไปประมาณ 10 เมตร ให้ผ่านชั้นดินเหนียว เพื่อให้มีน้ำซึมไหลมารวมกันทั้งหมด เพื่อจะใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำและเป็นธนาคารน้ำ หากกำเนินการเสร็จสิ้นก็จะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำและสำรองน้ำ ได้อีกระดับหนึ่ง ก่อนที่ทางกรมชลประทานจะเสนอการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน เช่น การขุดลอกห้วยเสนงแบบผลต่างตอบแทน และระยะยาวด้วยการนำเสนองบประมาณขุดลอกห้วยเสนงต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวต่อไป
ส่วนที่บริเวณหน้าที่ทำการโครงการชลประทานสุรินทร์ เจ้าหน้าที่ได้เร่งเตรียมพื้นที่และกางเต๊นท์ต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมต้อนรับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะเดินทางมาตรวจราชการ และติดตามการแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ จ.สุรินทร์ และ จ.บุรีรัมย์ ในวันจันทร์ที่ 19 ส.ค. นี้ อีกด้วย
ขณะเดียวกัน ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค - บริโภค ในพื้นที่โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์และตำบลรอบนอก ในขณะนี้ยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการผันน้ำจากบ่อระเบิดหินเก่า ในพื้นที่วนอุทยานพนมสวาย (พะ-นม-สะ-หวาย) อ.เมือง ลงมาเติมบ้างแล้ว และฝนเทียมที่ตกลงมาบ้าง แต่ก็ยังคงมีปริมาณที่น้อยอยู่ หลายจุดชุมชนที่อยู่ปลายท่อน้ำของประปาที่ไกลออกไป น้ำก็ยังคงไม่ไหลมานานนับเดือน บางพื้นที่ที่อยู่ใกล้ท่อเมนหลัก น้ำไหลน้อยและปัญหาน้ำขุ่นไม่สามารถใช้น้ำได้บางแห่ง ทางหน่วยงานทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ได้เร่งบรรทุกน้ำช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้