ข่าว

ทำไมชาวจีนถึงต้องย้ายถิ่นฐานมาทำกินในเมืองไทย(1)

แม้จะเลยเทศกาลตรุษจีนมาแล้ว แต่ก็ยังอยากจะนำเสนอเรื่องราวเพื่อให้ได้เข้าใจถึงแก่นที่มาที่ไปของการตั้งรกรากของชาวจีนในไทย

ย้อนกลับไปในอดีตยาวนานเป็นพันปีมาแล้ว ที่ทุกๆ ต้นปี (มกราคม-พฤษภาคม) ลมมรสุมจะพัดจากทะเลจีนสู่อ่าวไทย เรือสำเภาจีนจะเคลื่อนตามลมมรสุมนี้สู่แผ่นดินไทย พร้อมกับสินค้าและผู้คนที่เข้ามาติดต่อสัมพันธ์ และเมื่อถึงกลางปี (พฤษภาคม-กรกฎาคม) กระแสลมจะพัดย้อนกลับ พร้อมกับกองเรือสำเภาจีนคืนถิ่นบ้านเกิด เป็นเช่นนี้ปีแล้วปีเล่าไม่เคยขาดหาย

 จำนวนชาวจีนที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารทวีจำนวนมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ นับตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนกระทั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งตรงกับสมัยที่ชาวจีนอพยพออกนอกประเทศเป็นจำนวนมากด้วยเหตุผลที่ต่างกัน คือ...

 @ ขณะนั้นประเทศจีนถูกปกครองโดยราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์แมนจูเลียที่คนจีนส่วนมากถือว่าเป็นกษัตริย์ต่างชาติ มิใช่ราชวงศ์ของชนชาติฮั่นที่เคยปกครองจีนมาแต่สมัยโบราณ ประกอบกับการปกครองของราชวงศ์นี้เต็มไปด้วยการกดขี่ข่มเหง และเข้มงวดกวดขันในชีวิตความเป็นอยู่ของพวกไพร่พลเมืองจีน

 @ ระบบเศรษฐกิจของจีนในระบอบศักดินาจีนในสมัยปลาย โดยเฉพาะในสมัยของราชวงศ์ชิงนั้น เป็นระบบที่โหดร้ายทารุณ ประกอบกับแผ่นดินจีนในระยะนั้นประสบภัยธรรมชาติค่อนข้างถี่ บางปีก็แห้งแล้ง บางปีก็น้ำท่วม เฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่าปีละครั้ง เนื่องจากไม่ได้รับการพัฒนาทางด้านชลประทาน คนจีนจึงพากันละทิ้งประเทศไปแสวงหาที่ทำกินใหม่ในต่างประเทศ

 ชาวจีนที่อพยพลงมาทางใต้ ส่วนใหญ่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งติดกับทะเล เส้นทางคมนาคมในการอพยพที่สะดวกที่สุด คือ ทางเรือ ประเทศที่ชาวจีนอพยพลงมาทางใต้ ล้วนแล้วแต่มีพืชพันธุ์ธัญญาหารสมบูรณ์กว่าถิ่นฐานที่อยู่เดิม เช่น เวียดนาม ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฯลฯ ในขณะที่ถิ่นฐานเดิมที่ราบน้อย ถูกปกคลุมด้วยภูเขาฮกเกี้ยน ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก มีที่ดินที่ทำการเพาะปลูกประมาณ ครึ่งเอเคอร์ต่อคน (1 เอเคอร์ต่อคน = 2.5 ไร่) เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นของจีนในสมัยนั้น ที่ทำการเพาะปลูกตกประมาณ 1 เอเคอร์ต่อคน

 สาเหตุข้างต้นทำให้มีชาวจีนอพยพเข้าไทยประมาณหนึ่งในสี่ของพลเมืองทั้งประเทศในขณะนั้น อันที่จริงชาวจีนอพยพเข้าสู่ประเทศไทยในหลายทางด้วยกัน แต่ส่วนมากมักอพยพเข้ามาทางหัวเมืองชายทะเลของประเทศไทย ตั้งแต่ทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย เรื่อยมาจนกระทั่งถึงฝั่งตะวันตก

 ด้วยเหตุนี้ตามจังหวัดชายทะเล จึงมักมีคนจีนอาศัยรวมกลุ่มอยู่กันเป็นแห่งๆ นับตั้งแต่ จันทบุรี ระยอง ชลบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา เป็นต้น

 ส่วนอีกทางหนึ่งก็มาตามลำน้ำเจ้าพระยา ตามเส้นทางคมนาคมที่สะดวกในสมัยนั้นอย่าง เช่น ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ฯลฯ โดยเริ่มจากกรุงเทพฯ จากนั้นก็กระจายไปตามหัวเมืองและย่านการค้าจังหวัดต่างๆ จนทั่วประเทศ

 ส่วนการอพยพเข้าสู่กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์นั้น มีอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะธนบุรีและกรุงเทพฯ คือ จุดหมายปลายทางของเส้นทางเดินเรือ ในสมัยแรกนั้นเป็นการเดินทางมาเสี่ยงโชคกับเรือสินค้า ซึ่งเดินเรือติดต่อค้าขายระหว่างไทยกับจีนอยู่แล้ว แต่ในระยะหลังๆ เมื่อชาวจีนพากันละทิ้งถิ่นฐานมากขึ้น จึงมีเรือโดยสารที่เกิดจากการชักชวนกันเดินทางมายังทะเลจีนใต้เป็นการเฉพาะ*

*อ้างจากบทความเรื่อง บทบาทคนจีนต่อสภาวะเศรษฐกิจไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ศ.สุคนธาภิรมย์

ประวิทย์  พันธุ์วิโรจน์

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ