ไพร พัฒโน:เหตุการณ์ครั้งนี้เกินกว่าที่เราจะแบกรับได้
อุทกภัยที่เกิดขึ้นกับ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน แม้จะไม่ใช่ภัยธรรมชาติครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับหาดใหญ่ แต่ด้วยความเสียหายที่เกิดขึ้น นี่คือบาดแผลด้านหนึ่งที่เกิดขึ้นกับศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ "คม ชัด ลึก" จับเข่าคุย ไพร พัฒ
ปัจจัยสำคัญใดที่ทำให้เกิดน้ำท่วมเมืองหาดใหญ่ในครั้งนี้
ไพร : ย้อนกลับไปในเหตุการณ์น้ำท่วม อ.หาดใหญ่ ในเดือนพฤศจิกายน 2543 นับเป็นอุทกภัยที่มีระดับน้ำสูงที่สุด โดยปริมาณน้ำฝนที่วัดได้ประมาณ 420 มิลลิเมตร แต่เหตุการณ์ล่าสุดในปีนี้
เพียงแค่ 2 วันที่ฝนตก วัดปริมาณได้ถึง 600 มิลลิเมตร ในขณะที่พื้นที่รอบๆ หาดใหญ่มีฝนตกหนักกระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ เมื่อผนวกปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่หาดใหญ่เข้ากับปริมาณน้ำจากทั่วทุกแห่งที่ไหลลงสู่คลองอู่ตะเภา จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระดับน้ำเอ่อล้นท่วมพื้นที่เมืองหาดใหญ่
ก่อนน้ำท่วมเตรียมแผนรับมืออย่างไร
ไพร : มีการซักซ้อมแผนและเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกหน่วย รวมทั้งเปิดศูนย์รับมืออุทกภัย อีกทั้งจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ เครื่องมือ เครื่องจักรกลทุกชนิด ไปจนกระทั่งสำรวจและขุดลอกเส้นทางระบายน้ำ ลงสู่คลองโครงการบรรเทาอุทกภัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งทุกอย่างอยู่ในระดับที่พร้อมมาก แต่ปีนี้ปัจจัยเรื่องของปริมาณน้ำฝน และดีเปรสชันที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่งส่งผลให้ฝนตกหนักและมีปริมาณน้ำเกินกว่าแผนการที่เตรียมไว้จะรับมือไหว
ประเมินความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างไร
ไพร : แน่นอนว่าปริมาณน้ำมากกว่าปี 2543 เป็นเหตุการณ์ใหม่ที่สร้างบทเรียนมากมายให้แก่คนหาดใหญ่ โดยเฉพาะการเตรียมการรับมือที่ยอมรับว่าที่ผ่านมามาตรการเตรียมความพร้อมการรับมือน้ำท่วมหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา เรามักจะใช้เหตุการณ์น้ำท่วมเมืองหาดใหญ่ปี 2543 เป็นตัวตั้ง เพื่อกำหนดกรอบและวางแนวทางป้องกันรับมือ จนทันทีเมื่อพบว่าเหตุการณ์ผิดไปจากแผนที่กำหนดไว้ ทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่าที่จะเข้าช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนโดยเร็วที่สุด และน้อมรับอุทกภัยครั้งนี้เกินกำลังความสามารถที่จะแบกรับได้
ได้บทเรียนอะไรจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ไพร : ได้เรียนรู้ข้อจำกัดของระบบและขั้นตอนต่างๆ ที่ทุกหน่วยงาน มักจะสร้างกรอบให้องค์กรของตัวเองแบบผิดๆ โดยเฉพาะแนวคิดที่มักจะใช้งบประมาณเป็นตัวตั้งรับปัญหา ทำให้เมื่อปัญหามาจริงจึงได้เรียนรู้ว่ามันสายเกินไป เช่น ปัญหาการตัดงบประมาณที่สำคัญน้อยกว่าทิ้ง ทั้งที่มีความสำคัญ เนื่องจากเราเฝ้าแต่มองที่งบประมาณที่อาจไม่เพียงพอ ส่งผลให้การทำงานต่างๆ เกิดความผิดพลาด
การจัดการน้ำในพื้นที่มีประสิทธิภาพเพียงใด
ไพร : คลอง ร.ต่างๆ ทั้ง ร.9, ร.1 ล้วนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมากและเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ “ในหลวง” ทรงมีต่อชาวหาดใหญ่ เนื่องจากคลองเหล่านี้มีผลโดยตรงต่อการบรรเทาสถานการณ์ เพราะหากวันนี้ไม่มีคลองร.ช่วยไว้ หาดใหญ่จะสูญเสียมากกว่านี้หลายเท่าตัว เนื่องจากนับวันการชะลอน้ำโดยธรรมชาตินั้นเป็นเรื่องยาก ในอนาคตสิ่งที่จำเป็นที่สุดคือ การสร้างและเพิ่มแก้มลิงในพื้นที่รับน้ำ รวมถึงต้องขุดคลองผันน้ำเพื่อระบายน้ำออกจากคลองอู่ตะเภาก่อนน้ำจะไหลสู่เมืองหาดใหญ่ ซึ่งหมายถึงต้องใช้ความร่วมจากทุกภาคส่วนร่วมด้วย เพราะเม็ดเงินนั้นมหาศาล ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าเกินอำนาจของท้องถิ่นที่จะเข้าไปดูแล แต่ยืนยันว่าเราจะผลักดันในทุกๆ ทาง
มาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยเป็นไงบ้าง
ไพร : การเยียวยาผู้ประสบภัยเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ทั้งการเยียวยาสภาพจิตใจและเยียวยาให้ความช่วยเหลือ โดยการยึดหลักข้อเท็จจริงไม่ใช่หลักเกณฑ์ เช่น ความเสียหายของบ้านที่เห็นว่าพังทั้งหลังก็ต้องดูแลทั้งหมด ไม่ใช่ต้องจำกัดด้วยกรอบและกฎเกณฑ์ที่ว่าเป็นบ้านแบบไหน แต่เราจะช่วยเต็มที่โดยใช้หัวใจและดวงตาที่เรามองเห็นความสูญเสีย
การกระจายอำนาจมีผลหรือไม่ต่อสถานการณ์
ไพร : การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากและมีผลโดยตรงกับการบริหารจัดการในองค์รวม โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นชัดเจนว่า การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นโดยเร็ว เนื่องจากหากท้องถิ่นมีอำนาจเบ็ดเสร็จเชื่อได้เลยว่าภายใน 3 วัน หลังน้ำลดเมืองหาดใหญ่ต้องกลับสู่ภาวะปกติ ทั้งระบบน้ำ ไฟฟ้าต้อง 100% แต่ปัจจุบันอำนาจเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในจุดที่ท้องถิ่นจะทำได้ สิ่งที่ได้ทำเพียงแค่การประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนิการแก้ไข ซึ่งจะเร็วจะช้าก็ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้ จึงน่าจะเป็นภาพสะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีว่าเรื่องบางอย่างต้องกระจายอำนาจเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ มั่นใจหากมีอำนาจในมือจะใช้เวลาจัดการกับปัญหาน้ำท่วมหาดใหญ่ได้ภายใน 3 วันเท่านั้น
สุพิชฌาย์ รัตนะ