ฝายหลวง ในเมืองลับแล
ต.ฝายหลวง ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ได้ชื่อจากฝายแห่งแรกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานและโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อครั้งเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือเมื่อ พ.ศ. 2444 และพระราชดำเนินมาที่เมืองลับแล
ฝายหลวง เป็นฝายที่นายทองอิน หรือภายหลังได้เป็นพระศรีพนมมาศ เป็นผู้ให้ก่อสร้างขึ้นเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จมาเห็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน การก่อสร้างใช้แรงงานชาวบ้านลับแลร่วมมือร่วมแรงกันขึ้น มีนายทองอินเป็นผู้ควบคุมดูแล โดยไม่ได้ใช้เงินจากทางราชการ รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่านายทองอินเป็นผู้ทำสาธารณประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองต่างๆ เช่น สร้างถนน เหมือง ฝาย ฯลฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายทองอินเป็นขุนพิศาลจินะกิจ ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น หลวงศรีพนมมาศ และพระศรีพนมมาศตามลำดับ
ที่มาของชื่อ “ลับแล” สัณนิษฐานว่า ด้วยเพราะสภาพภูมิประเทศเป็นป่าเขาสลับซับซ้อน มีลักษณะเป็นหุบเขา ยามพลบค่ำมีบรรยากาศมืดครึ้มเป็นที่อับแสง เพราะมีดอยม่อนฤๅษีเป็นแนวบังแสงอาทิตย์ ป่าบริเวณนี้จึงได้ชื่อว่า "ป่าลับแลง" (แลง แปลว่า เวลาเย็น) แล้วมาเพี้ยนเป็น "ลับแล" กลายเป็นชื่ออำเภอลับแลในปัจจุบัน
กับที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า “ข้อที่ว่าถ้าคนต่างเมืองเข้าไปถึงลับแลมักหลงทางกลับออกมาไม่ได้นั้น คงเป็นความจริงเพราะพื้นที่มีสวนผลไม้ขึ้นเป็นป่าดง”
เชื่อกันว่าเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร โอรสพระเจ้าเรืองไทธิราชเจ้าเมืองโยนกนครนำผู้คนมาก่อตั้งบ้านเมืองที่ลับแลนี้ ในพ.ศ. 1513 และโปรดเกล้าฯ ให้มาครองเมืองลับแล
เมืองลึกลับในตำนาน ที่จริงคือเมืองในหุบเขาที่มีประวัติศาสตร์ ไม่ลึกลับ แต่คนไม่รู้จัก เล่ากันแต่นิทาน ถ้าเอาความเป็นมาจริงๆ บอกเล่าควบคู่ให้คนภายนอกรู้จักเช่นเดียวกับคนในท้องที่ ก็จะมีความจริงในตำนานเล่าขานเสริมกันดียิ่งขึ้นอีก
"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"