ไลฟ์สไตล์

สายเดิน!  “ศศิน” นั่ง กก.อุทยาน   งานนี้มีที่มา...

สายเดิน! “ศศิน” นั่ง กก.อุทยาน  งานนี้มีที่มา...

07 ก.ค. 2560

ครม. ตั้ง "ศศิน เฉลิมลาภ" นั่งกรรมการอุทยานแห่งชาติ อ้าว! คนจะสร้างเขื่อน กับคนต้านเขื่อนสามัคคีกันได้ ก็แฮปปี้เอนดิ้งสิทีนี้! ว่าแต่ ศศินคนนี้มีดีอะไรน้า!?

          มาอีกงานละ! ที่มติครม.ล่าสุดจะต้องสร้างกระแสให้พูดถึงตลอด!

          โดยคราวนี้เป็นคิวของการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ จำนวน 11 ราย แทนกรรมการเดิมที่ครบวาระ 2 ปีไปแล้ว โดยหนึ่งในนั้นมีชื่อของ ศศิน เฉลิมลาภ ปรากฏเป็นลำดับที่ 11

          และคนนี้แหละที่ คนไทยได้ยินชื่อของเขาแทบทุกวันในช่วงสามสี่ปีก่อน ในสถานะของเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ว่าแต่เรื่องอะไร ? มาอุ่นเครื่องด้วยประวัติของเขากันดู

          ศศิน เฉลิมลาภ หรือ อาจารย์ศศิน ที่หลายคนเรียกขาน เกิดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2511 เป็นคนกรุงเก่าอยุธยา แม้ชีวิตวัยเด็กของเขาจะเติบโตมาอย่างคนรุ่นเดียวกันทั่วไป เช่น ฟังเพลงรอยัลสไปรท์ แกรนด์เอ็กซ์ แต่หากดูบุคลิกการแต่งตัวแล้วจะพบว่าผู้ที่มีอิทธิพลตัวจริงเสียงจริงสำหรับอุดมการณ์เพื่อสังคมของ อ.ศศิน นั้น มาจากบทเพลง “คาราวาน” ของน้าหงา สุรชัย จันทิมาธร

          และด้วยความที่ชอบเดินทาง สำรวจ และเคยเข้าค่ายอนุรักษ์กับสมาคม YWCA ตั้งแต่สมัยเรียน ม.5  พอสอบเอนทรานซ์ช่วงปี 2530 เขาจึงเลือกศึกษาต่อในภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ใครจะรู้เบื้องหลังว่า ที่จริงเขาอยากเรียนคณะโบราณคดี แต่บังเอิญโชคชี้ทาง ไปสอบติดโควตาคณะวิทยาศาสตร์ ก็เลยตกบันไดพลอยโจน

          แถมการเลือกที่ลงเรียนสาขาธรณีวิทยา ก็เพราะมองว่าสาขาอื่น จะมีการทดลองกับสัตว์ ด้วยความโลกสวยจึงไปเรียนดูหินแทน

          ปรากฏว่าเนื้อหาการเรียนธรณีวิทยา ถูกใจเขามาก! นึกภาพตัวเองเป็น อินเดียน่า โจนส์...ที่พอออกจากห้องแล็บ ก็ไปต่อภาคสนาม ออกพื้นที่สำรวจชั้นหิน ชั้นดินและเหมืองแร่ ซึ่งเป็นการเรียนที่เจ้าตัวมักฟุ้งว่าเป็นประสบการณ์การผจญภัยที่คุ้มค่ามาก

          อย่างไรก็ดี ระหว่างนั้น ศศินก็ยังทำกิจกรรมออกค่ายอาสาพัฒนาไปด้วย จนเมื่อเรียนจบ ก็ได้เข้าเป็นอาจารย์สอนหนังสือ ที่สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ทำงานเป็นนักวิชาการด้านธรณีวิทยามานานกว่า 13 ปี ก็มีเหตุให้ต้องกลายมาเดินเส้นทางสายเอ็นจีโอ

          โดยช่วงปี 2541 เขาได้มีโอกาสเข้าทำงานติดตามสารตะกั่วที่เหมืองคลิตี้ ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวบ้านและชุมชนเป็นอย่างมาก

          ที่สำคัญงานนี้ ยังเป็นงานที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร กับศูนย์กะเหรี่ยงเข้ามาดูแล ศศินจึงได้เข้าไปร่วม จนกระทั่งทางมูลนิธิเสนอให้เขาเป็นกรรมการ และผู้จัดการโครงการร่วมรักษาผืนป่าตะวันตก

          เวลาผ่านไป จนในที่สุดเขาก็ได้ดำรงตำแหน่ง “เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร” และ “อนุกรรมการเพื่อการศึกษาและตรวจสอบกรณีปัญหาเหมืองแร่” ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

          ทั้งนี้ บทบาทของเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ทำให้เขาเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาทรัพยากรต่างๆ มากมาย เช่น จัดทำโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม หรือ “จองป่า” เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน และคอยเป็นสื่อกลางประสานความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ กับชาวบ้าน

          และทั้งหมดที่ทำ ล้วนตามเจตนารมณ์ของ “สืบ นาคะเสถียร” จนเรียกได้ว่า แม้ตัวเขาจะไม่เคยสัมผัสตัวตนของวีรบุรุษคนนี้ แต่ก็ถือว่าร่วมอุดมการณ์เดียวกัน เป็นทายาททางความคิด!

          อย่างไรก็ดี อ.ศศิน เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเป็นวงกว้าง นอกเหนือไปจากคนในแวดวงอนุรักษ์ ก็ในช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่หลั่งไหลมารับน้องรัฐบาลใหม่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พอดี

          โดยเขานำเสนอบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วมแบบทันสมัยผ่านทางยูทูบ โดยใช้ภาษาเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ถูกอกถูกใจวัยรุ่น ทำให้เขาได้รับเชิญไปออกรายการต่างๆ มากมายไม่เว้นแต่ละวัน

          แต่ที่พีคสุด คือช่วงกลางปี 2556 ที่เขามีภารกิจใหญ่ ในการคัดค้านการอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ โปรเจกท์ยักษ์ของรัฐบาล วงเงินกว่า 3.5 แสนล้าน ที่บอกว่าจะมาช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้

          พูดง่ายๆ ว่า อ.ศศินนี่แหละที่เป็นหัวหอกคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ !

          ในการต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ของเขานั้น เร้าใจจนได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอันมาก นั่นคือการเดินทางจากป่าสู่เมือง เป็นระยะทาง 388 กิโลเมตร จากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ หมู่ 4 บ้านแม่เรวา อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งถูกวางแผนก่อสร้างโครงการเขื่อนแม่วงก์ มายังกรุงเทพฯ

          กระแส “เดินต้านเขื่อน” คราวนั้นยังแรงมากเรียกว่า ทั้งดารา นิสิต นักศึกษา คนดัง และผู้คนจำนวนมาก มาเข้าร่วมจนเกิดเป็นปรากฏการณ์ “NO DAM” ทำให้เป้าหมายของเขา ดูแล้วจะประสบความสำเร็จ

          แต่ก็เพียงระยะหนึ่ง เพราะผ่านมาปี 2557 เมื่อ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ปรากฏว่าฝ่ายรัฐบาลออกมาโยนหินว่าอาจใช้มาตรา 44 เพื่อก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์อีกครั้ง

          ถามว่า อ.ศศินทำอะไร บางคนบอกว่าเขาก็ทำอย่างเดิม แต่เท่าที่เห็นเพิ่มเติม คือ กองหนุนหายหมด! เงียบเป็นเป่าสากจนถูก “เพจดัง” ทวงถามว่า “อ้าว ไม่เดินแล้วเหรอ ?!!”

          งานนี้ ศศินสวนกลับในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ไอ้ที่เห็นต่างเรื่องเขื่อนน่ะธรรมดา แต่เห็นว่าค้านเขื่อนเพราะแอบแฝงการเมือง นี่เหน็บแนมใส่ร้ายทำลายกัน" (ไปหาอ่านกันได้ที่ เฟซบุ๊ก "Sasin Chalermlarp" ช่วงเดือนกันยายน 2559)

          ที่สุด หากนับถึงวันนี้ อ.ศศิน ก็ทำงานที่มูลนิธิสืบฯ มาจนครบ 15 ปีแล้ว ก่อนหน้านั้นเขาเคยบอกว่า หลังจากนั้น อาจไปทำงานในสายศิลปะ อย่างการวาดภาพ เล่นดนตรี และเขียนหนังสือ อยู่กับภรรยา ถึงไม่มีลูกด้วยกันก็แฮปปี้ดี...แต่ก็ไม่รังเกียจ ถ้าจะไปทำงานใหญ่สักชิ้น

          ประเดิมด้วยการเป็น “คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ” ตามมาด้วยเสียงวิจารณ์เล็กๆ จากคนบางขั้ว !!