Lifestyle

เปิดเส้นทางชีวิต"ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ"เลขานุการประธานรัฐสภา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดเส้นทางชีวิต"ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ" จากนักธุรกิจสู่ชีวิตทางการเมือง

          ไม่ง่ายสำหรับการก้าวสู่ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อันดับต้นๆ ของพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ ที่กฎข้อบังคับเข้มงวด 

          ยิ่งไม่ง่ายใหญ่ในการก้าวสู่ตำแหน่งเลขานุการประธานรัฐสภา ที่ต้องผ่านกระบวนการคัดสรร  มีขั้นตอนรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย 

เปิดเส้นทางชีวิต"ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ"เลขานุการประธานรัฐสภา ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ หรือ ดร.บิล

           แต่ก็ไม่ยากสำหรับดอกเตอร์เกียรตินิยมเหรียญทองวิศวะเคมีจากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล ประเทศอังกฤษที่จับพลัดจับผลูมาสู่วิถีทางการเมือง สำหรับ “ดร.บิล หรือ ดร.อิสระ  เสรีวัฒนวุฒิ” ที่วันนี้ได้เดินก้าวมาสู่วิถีทางการเมืองอย่างเต็มตัวในฐานะเลขานุการประธานรัฐสภา “ชวน หลีกภัย” และรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อีกทั้งกำลังจะกลายเป็น ส.ส.ป้ายแดง ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคลำดับที่ 23 ที่ขยับขึ้นมา หลัง “จุติ ไกรฤกษ์” รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลาออกจาก ส.ส.

            ด้วยวัยเพียง 30 ปีเศษ แต่สามารถก้าวมาถึงจุดนี้ได้ถือว่าไม่ธรรมดา ยิ่งมาอยู่ใต้ร่มเงาพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ที่มีกฎระเบียบข้อบังคับมากมายและยึดความอาวุโสทางการเมืองด้วยแล้ว กลับยิ่งมองไม่เห็นอนาคตนักการเมืองหน้าใหม่ ทว่า ดร.อิสระทำได้และทำได้ดีด้วย

            ใช้เวลาไม่ถึง 3 ปีในการเข้ามาช่วยงานพรรคและเพียงปีเศษในการสมัครเป็นสมาชิกพรรค ได้พิสูจน์ฝีมือให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคและสมาชิกพรรคแล้วว่าดอกเตอร์หนุ่มจากเมืองผู้ดีคนนี้สอบผ่าน

            “ที่จริงผมก็ชอบการเมืองมาตั้งแต่เด็ก ชอบท่านประธานชวนมาก ถือเป็นนักการเมืองในดวงใจผมเลย ตอนแรกตั้งใจจะเรียนทางด้านรัฐศาสตร์ แต่ที่มาเรียนวิศวะ เพราะครอบครัวอยากให้เรียนจะได้นำความรู้มาช่วยธุรกิจของครอบครัว” ดร.อิสระย้อนอดีตให้ฟัง พร้อมบอกเล่าเรื่องราวผ่าน “คม ชัด ลึก” ถึงความใฝ่ฝันและความตั้งใจจะเข้าสู่วิถีชีวิตทางการเมือง เมื่อครั้งยังเยาว์วัย

            หลังจบมัธยมปลายจากเตรียมอุดมศึกษาก็มาต่อปริญญาตรีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ สาขาวิศวกรรมเคมี กระทั่งจบมาด้วยเกียรตินิยม ก่อนได้รับทุนจากสหภาพยุโรปไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยอิมพีเรียล ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่มีชื่อเสียงทางด้านวิศวกรรม 

               “ตอนผมได้รับทุนเรียนฟรีที่อิมพีเรียล อาจารย์ที่ปรึกษาที่สอบสัมภาษณ์เห็นผลการเรียน ท่านก็เซ็นรับรองกำกับว่าให้รับผมเรียนปริญญาเอกเลย ไม่ต้องเรียนปริญญาโท พาสชั้นแบบนี้เท่าที่ทราบมีน้อยมากต้องพิเศษจริงๆ โดยที่ไม่ต้องเรียนโท” ดร.อิสระกล่าวอย่างภูมิใจ

              ทว่าในระหว่างเรียนปริญญาเอกที่อังกฤษ เขาก็ยังสนใจที่จะเรียนด้านการเมืองการปกครองเพื่อต้องการเป็นฐานความรู้หากมีโอกาสเข้าสู่เส้นทางการเมืองในอนาคต โดยลงทะเบียนเรียนทางไกลกับคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมๆ กับการเริ่มต้นการเรียนปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ ในที่สุดก็ทำได้สำเร็จได้ทั้งสองปริญญาพร้อมกัน คือ ป.โทรัฐประศาสนศาสตร์ ม.รามคำแหง และ ป.เอกวิศวกรรมเคมี ม.อิมพีเรียล

             หลังเรียนจบป.เอกเขาก็ยังไม่ได้เดินทางกลับประเทศไทย เพราะต้องทำงานใช้ทุนให้แก่สหภาพยุโรปอีก 2 ปี ก่อนกลับมารับช่วงธุรกิจต่อจากบิดาในฐานะพี่ชายคนโตของครอบครัวเพื่อดูแลธุรกิจจำหน่ายอะไหล่รถยนต์ ในขณะที่ผู้เป็นบิดากำลังป่วยหนักและเสียชีวิตลงหลังกลับมาเมืองไทยได้ไม่ถึงเดือน  

            เวทีนี้ไม่มีพี่เลี้ยงสำหรับดอกเตอร์หนุ่มนักเรียนนอกวัยเพียง 20 เศษ เมื่อไม่มีบิดาคอยให้คำปรึกษาดูแล  มีแต่น้องสาวและน้องชายที่มาช่วยกันประคับประคองธุรกิจให้เดินหน้าต่อไป โดยใช้เวลาเพียง 3 ปีเขาสามารถนำพาธุรกิจที่เกือบล้มละลาย พลิกก้าวกระโดดมาสู่ผู้ผลิตและจำหน่ายแตรรถยนต์ชั้นนำของโลกได้สำเร็จ

              “ผมมารับช่วงธุรกิจครอบครัวในปี 2553 กลับมาไม่นานคุณพ่อก็เสีย เราในฐานะพี่คนโตก็ต้องดูแลทั้งหมด ตอนนั้นมีหลายบริษัทในเครือ มีโรงงานที่ระยองด้วย  ทำอยู่ประมาณสองปีก็ไปร่วมทุนกับบริษัทผลิตแตร์รถยนต์ที่อิตาลีชื่อว่า สเตเบล ส่งให้แก่รถหรูดังๆ ได้แก่ ลัมโบร์กินี ปอร์เช่ เบนซ์ ถ้าเป็นมอเตอร์ไซค์ก็ฮาร์เลย์ เดวิดสัน บริษัทแม่อยู่อิตาลี แต่มีโรงงานอยู่หลายประเทศในยุโรป”

           บังเอิญช่วงนั้นเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรป บริษัทส่วนใหญ่โดนฟ้องล้มละลาย เนื่องจากภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว ไม่เว้นแม้กระทั่งบริษัทผลิตแตรรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่างสเตเบล ในช่วงเกิดวิกฤติกลับกลายเป็นโอกาสสำหรับเขา เมื่อขอเจรจากับเจ้าหนี้ว่าจะเคลียร์หนี้สเตเบลให้ทั้งหมด ซึ่งเขาก็ตกลง จากนั้นจึงเข้าไปเทคโอเวอร์กิจการมาทั้งหมด พร้อมย้ายโรงงานผลิตมายังประเทศไทยและปิดโรงงานสาขาในประเทศต่างๆ ในยุโรป คงไว้แค่สำนักงานขายเท่านั้น ขณะเดียวกันก็หันมารุกตลาดในเอเชียเพิ่มขึ้น ขณะที่ลูกค้าเดิมในยุโรปก็ยังคงอยู่

          “จะให้ผมบินไปบินมาคงไม่ไหว จึงตัดสินใจคงไว้แค่สำนักงานขายอย่างเดียวที่อิตาลี ส่วนโรงงานในโรมาเนีย ในอิตาลี และอีกหลายประเทศในยุโรปก็ปิดลงแล้วย้ายฐานการผลิตมาที่ระยองแทน พร้อมพนักงานส่วนการผลิตทั้งหมดมาอยู่เมืองไทย มาถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่คนไทย แต่ก็มีบางส่วนที่ทำอยู่ได้พักหนึ่งก็ลาออกกลับประเทศไปเพราะไม่คุ้นชินกับเมืองไทย”

             ด้วยประสบการณ์การทำงานและการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหลายประเทศในภูมิภาคยุโรป ส่งผลให้รัฐบาลประเทศมอลโดวาเสนอแต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์และหัวหน้าคณะผู้แทนทางการกงสุลของสาธารณรัฐมอลโดวาประจำประเทศไทยคนแรก โดย พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงการต่างประเทศออกอนุมัติบัตรรับรองให้เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 เป็นคนสุดท้ายในรัชกาลที่ 9 ก่อนกระโจนเข้าสู่เวทีการเมืิองอย่างเต็มตัว โดยเริ่มจากการเข้ามาช่วยงานอย่างไม่เป็นทางการให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ 

            เพียง 3 ปีในการเข้าเดินเข้าสู่พรรคประชาธิปัตย์และได้รับโอกาสในการทำงานระดับประเทศหลายครั้งจนเป็นที่ยอมรับ กระทั่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในลำดับที่ 23 ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และกำลังได้เลื่อนลำดับเป็น ส.ส.ของพรรคอย่างเป็นทางการ หลัง จุติ ไกรฤกษ์ ลาออกไปรับตำแหน่ง รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

            ถึงกระนั้นก็ไม่สำคัญและภาคภูมิใจเท่ากับตำแหน่งทางการเมืองในปัจจุบัน ในฐานะเลขานุการประธานรัฐสภา “ชวน หลีกภัย” นักการเมืองในดวงใจที่ใฝ่ฝันอยากทำงานใกล้ชิดมานาน 

            “มีหลายคนถามทำยังไงได้อยู่ในลำดับรายชื่อสูงขนาดนี้ ผมเป็นผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 23 ทำอย่างไรเข้ามาปุ๊บแล้วเป็นกรรมการบริหารพรรคเลย ปัจจุบันผมเป็นกรรมการบริหารและรองเลขาธิการพรรค แล้วที่ถามกันมากคือทำยังไงถึงได้เป็นเลขานุการประธานรัฐสภาคุณชวน เพราะเป็นตำแหน่งเป้าหมายที่หลายคนจับจ้อง ผมก็บอกว่าก็เข้ามาตามปกติตามระเบียบวิธีการของพรรค ไม่ได้ผ่านเส้นสายใคร ตอนผมเข้ามาก็มีคนทักว่าปชป.ต้องต่อคิวยาวนะ วันนี้ผมได้พิสูจนให้เห็นแล้วว่าระบบอาวุโสมีความสำคัญ แต่พรรคก็ไม่ได้ปิดกั้นคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถ และเป็นคนดี มันอาจจะยากกว่าปกติ แต่ถ้าคุณทำได้ ให้เขายอมรับได้ ก็ไม่มีปัญหาสำหรับพรรคนี้” เลขานุการประธานรัฐสภา กล่าวอย่างภูมิใจ 

            ดร.อิสระยังกล่าวถึงภารกิจในตำแหน่งเลขานุการประธานรัฐสภาว่า มีหน้าที่หลักคือการกลั่นกรองงานต่างๆ ก่อนถึงประธานรัฐสภา และยังเป็นหัวหน้าสำนักงานประธานรัฐสภาที่ดูแลการบริหารนโยบายฝ่ายนิติบัญญัติทั้งหมด  กลั่นกรองเอกสารงานต่างๆ ก่อนการประชุมสภา แม้เพิ่งได้มาทำเพียง 2 เดือนเศษแต่ก็เป็นงานที่ท้าทายอย่างมาก ที่สำคัญยังได้ผ่านงานประชุมสำคัญมาแล้วหลายครั้งทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยเฉพาะประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ได้ทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของทีมร่างสปีชให้แก่ประธานรัฐสภาชวน หลีกภัย กล่าวในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนอีกด้วย 

           ขณะเดียวกัน ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ หรือ ดร.บิล ในฐานะเลขานุการประธานรัฐสภากำลังเตรียมรับภารกิจใหญ่อีกครั้งในการประชุม “สมัชชารัฐสภาอาเซียน หรือไอป้า” ระหว่างวันที่ 25-30 สิงหาคม 2562  ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการประชุมสุดยอดของฝ่ายนิติบัญญัติจาก 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่ง 10 ปีจะเวียนมาประชุมครั้งหนึ่ง เป็นไปตามวาระของผู้นำฝ่ายบริหารในฐานะประธานอาเซียน

            “ถ้าประเทศใดผู้นำเป็นประธานอาเซียน ผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติหรือประธานรัฐสภาของประเทศนั้นก็จะเป็นประธานสมัชชารัฐสภาอาเซียนโดยอัตโนมัติ ซึ่งปีนี้ประเทศไทย ผู้นำฝ่ายบริหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานอาเซียน  ผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติ ประธานรัฐสภา คุณชวน จึงเป็นประธานไอป้าด้วย ส่วนหน้าที่หลักของผมคือการเตรียมจัดการจัดประชุมต่างๆ ดูแลภาพรวมการประชุมทั้งหมด”

     

        อย่างไรก็ตาม สำหรับการประชุมสุดยอดสมัชชารัฐสภาอาเซียน หรือไอป้า ปีนี้จะมีการประชุมใหญ่ 3 ครั้งภายใต้ 3 กรอบใหญ่ กรอบที่ 1 เป็นการประชุมที่ปรึกษาด้านยาเสพติดอันตราย ซึ่งจัดประชุมไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคม ที่ จ.เชียงใหม่ กรอบที่ 2 เป็นการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและผู้นำรัฐสภา จัดไปเมื่อเดือนมิถุนายน ที่โรงแรมดิ เอทธินี แบงค็อก  และกรอบสุดท้าย ซึ่งเป็นกรอบใหญ่ที่สุดของฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นการประชุมใหญ่สามัญประจำปีสมัชชารัฐสภาอาเซียน หรือไอป้า ซึ่งการประชุมครั้งนี้นอกจากประเทศสมาชิกอาเซียนแล้วยังมีประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์อีกหลายประเทศทั้งในสหภาพยุโรปและเอเชียอีกด้วย

            นับเป็นอีกงานที่ท้าทายสำหรับคลื่นลูกใหม่ทางการเมืองแห่งพรรคแม่ธรณีบีบมวยผมอย่าง “ดร.บิล หรือดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ” ในฐานะแม่บ้านของท่านประธานชวน (หลีกภัย)ในวันนี้

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ