ข่าว

ไม่รับฟ้อง'ประยุทธ์'กบฏ!

ไม่รับฟ้อง'ประยุทธ์'กบฏ!

29 พ.ค. 2558

ศาลไม่รับฟ้อง 'พล.อ.ประยุทธ์ - คสช.' กบฏ ระบุ ยกเว้นความผิดและความรับผิดตาม รธน.ชั่วคราว ปี 57 มาตรา 48 'กลุ่มพลเมืองโต้กลับ' เตรียมยื่นอุทธรณ์

 
                      29 พ.ค. 58  ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก  ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้อง คดีหมายเลขดำ อ.1805/2558 ที่นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ สมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับ และพวกซึ่งเป็นกลุ่มพลเมืองโต้กลับ รวม 15 คน เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับพวกรวม 5 คน ซึ่งเป็นคณะ คสช. เป็นจำเลยที่ 1 - 5 ในความผิดฐานเป็นกบฏล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรือล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ หรือแบ่งแยกราชอาณาจักรโดยใช้กำลังประทุษร้าย และกระทำการสะสมกำลังพลหรืออาวุธ หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 และ 114
 
                      ตามฟ้องโจทก์วันที่ 22 พ.ค. 58 บรรยายพฤติการณ์ ระหว่างวันที่ 20 - 24 พ.ค. 57 จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้กำลังขู่เข็ญประทุษร้ายและล้มล้างเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 สิ้นสุดลง ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ อันเป็นความผิดฐานกบฏ และพวกจำเลยยังได้ออกคำสั่งในนาม คสช.หลายฉบับ อันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ทำให้โจทก์ทั้ง 15 คน ได้รับความเสียหาย จึงขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้า ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.83 , 91 , 113 และ 114
 
                      ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การกระทำตามโจทก์ระบุในฟ้องว่าเหตุเริ่มเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 57 ต่อเนื่องมานั้น ก็แสดงให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้ากับพวก เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันเข้ายึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศในวันที่ 22 พ.ค. 57 ที่ต่อมาในวันที่ 25 พ.ค. 57 จำเลยที่ 1 ในฐานะหัวหน้า คสช.ได้ออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 ให้คดีความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรเป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ดังนั้นก็ต้องถือว่าความผิดตามฟ้องนี้เกิดขึ้นก่อนที่ หัวหน้า คสช.จะออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 ให้มีผลบังคับใช้ที่จะทำให้คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร แต่ความผิดตามฟ้องอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ศาลอาญาจึงมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ได้
 
                      ส่วนคดีตามฟ้องนี้ มีมูลให้ศาลรับไว้พิจารณาหรือไม่ ศาลเห็นว่า แม้มีการเข้ายึดและการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศของจำเลยทั้งห้ากับพวก ในนาม คสช.จะไม่เป็นไปตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย แต่ภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ลงวันที่ 22 ก.ค. 57 โดยกฎหมายมีบทบัญญัติยกเว้นความผิดและความรับผิดไว้ใน มาตรา 48 ว่า 
 
                      "บรรดาการกระทำทั้งหลาย ซึ่งได้กระทำต่อเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 ของหัวหน้าและคณะ คสช. รวมทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว หรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือ คสช. ที่ได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางด้านบริหาร หรือทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษ และการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่าในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันดังกล่าว หรือก่อนหรือหลังวันดังกล่าว หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำนั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง"
 
                      ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งห้าตามฟ้อง จึงพ้นจากความผิด และความรับผิดตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ม.48 แล้ว คดีของโจทก์ทั้งสิบห้าจึงไม่มีมูลที่ศาลจะรับไว้พิจารณา พิพากษายกฟ้อง
 
                      ขณะที่นายพันธ์ศักดิ์ สมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับ กล่าวว่า จากที่ได้อ่านคำสั่งของศาลแล้ว เห็นว่า ศาลยอมรับว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจศาล เท่ากับศาลยอมรับว่าพวกเราเป็นกลุ่มผู้เสียหาย ซึ่งต่างจากอดีตที่ศาลจะไม่ยอมรับคดีที่ฟ้องคณะรัฐประหาร ขณะที่คำสั่งยังระบุอีกว่า การกระทำของคณะ คสช.ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย แต่เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557 ฉบับชั่วคราว ใน ม.48 บัญญัติให้ละเว้นความผิดและความรับผิดคณะ คสช.ไว้ ซึ่งเท่ากับว่า คณะ คสช.ได้กระทำผิดจริง จึงถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ โดยเราจะใช้เป็นช่องทางยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อไป ซึ่งศาลจะมีดุลยพินิจอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับศาล