บทสรุปคดีฉาวรถ-เรือดับเพลิง6.6พันล้านบทเรียนราคาแพง
บทสรุปคดีฉาวรถ-เรือ ดับเพลิง 6.6 พันล้าน บทเรียนราคาแพง ทุจริตครั้งประวัติศาสตร์ : สำนักข่าวเนชั่น โดย ธนัชพงศ์ คงสาย @tanatpong_nna
ต่อสู้กันมาอย่างยาวนานเกือบ 5 ปี สำหรับคดี "ทุจริตโครงการจัดซื้อ รถ และเรือดับเพลิง" มูลค่ารวมจำนวน 6,687 ล้านบาท ระหว่าง กทม.และบริษัทสไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จํากัด ประเทศออสเตรีย โดยคดีนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ในฐานะผู้ว่าฯ กทม. ยื่นฟ้องบริษัท สไตเออร์ฯ ต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี 2553 เพื่อให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายและเรียกเงินที่จ่ายไปคืนทั้งหมด ตามคำสั่งของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เนื่องจากเห็นว่า การทำสัญญาจัดซื้อมีการทุจริตจนเกิดการกีดกันทางการค้า และการเสนอราคาอย่างไม่เป็นธรรม
จากการทุจริตดังกล่าวส่งผลให้นักการเมือง ข้าราชการประจำ และผู้เกี่ยวข้องถูกดำเนินคดีฟ้องร้องกันถ้วนหน้า โดยเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาคดีทุจริตจัดซื้อรถเรือดับเพลิงตามที่ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลย 6 คน ได้แก่ 1.นายโภคิน พลกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 2.นายประชา มาลีนนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 3.นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 4.พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. 5.บริษัท สไตเออร์ฯ และ 6.นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม. ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และในที่สุดแล้วศาลมีคำพิพากษาสั่ง "จำคุก" นายประชาเป็นเวลา 12 ปี และจำคุก พล.ต.ต.อธิลักษณ์ เป็นเวลา 10 ปี โดยทั้งคู่ยังหลบหนีโทษความผิดจนถึงขณะนี้
ขณะเดียวกันการต่อสู้ในเรื่องการเพิกถอนสัญญากับบริษัท สไตเออร์ฯ กทม.ได้กำหนดแผนสู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการไว้ 2 แนวทาง คือ 1.ฟ้องบริษัท สไตเออร์ฯ โดยที่ผ่านมา กทม.พยายามยืนยันแนวทางนี้ ถึงแม้คณะอนุญาโตตุลาการต้องการให้ทั้งสองฝ่ายหาทางไกล่เกลี่ย แต่ กทม.รับไม่ได้ เพราะ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดของคดี พร้อมให้ยกเลิกสัญญา 2.หากบริษัทสไตเออร์ฯ ฟ้องร้องกลับมาที่ กทม. หรือเรียกว่า ต่างคนต่างจะฟ้อง แต่ที่ผ่านมาบริษัทสไตเออร์ฯ ได้เสนอให้ยกเลิกสัญญาเดิม และทำสัญญาใหม่พร้อมเสนอ กทม.ว่า จะลดราคาจัดซื้อให้ 10 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 900 ล้านบาท
กระทั่งปลายปี 2557 คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้ตัดสินคดีเป็นที่เรียบร้อย พร้อมส่งผลคำวินิจฉัยการเจรจาไกล่เกลี่ยคดีจัดซื้อรถและเรือ ระหว่าง กทม.และบริษัท สไตเออร์ฯ กลับมาให้ กทม. โดยคณะอนุญาโตตุลาการฯ สั่งให้ กทม.ต้องรับร และเรือพร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยทั้งหมด ขณะเดียวกันขอให้บริษัท สไตเออร์ฯ จ่ายเงินให้ กทม. 20.5 ล้านยูโร ประมาณ 800 ล้านบาท รวมถึงจ่ายเป็นเงินค่าซ่อมแซมสินค้าต่างหากอีกจำนวนหนึ่ง ส่วนเรื่องค่าจอดรถและเรือดับเพลิงจะให้บริษัทสไตเออร์ฯ และ กทม.แบ่งกันรับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้เงิน 800 ล้านบาท ได้โอนมาถึง กทม.เรียบร้อยเเล้ว
หนึ่งในทีมทนายต่อสู้คดี กทม. แสดงความเห็นว่า คดีนี้มีความซับซ้อนอย่างมาก ส่วนผลที่ออกมา กทม.จะดูเหมือนแพ้ก็ไม่แพ้ หรือจะชนะก็ไม่ชนะทั้งหมด แต่นอกเหนือจากผลคดีที่ตัดสินออกมาอยากให้สังคมได้ตรวจสอบความเป็นมาของโครงการดังกล่าว ส่วนตัวอยากให้ยึดทรัพย์กับผู้ที่มีความผิดจากคำพิพากษาของศาลไปด้วย ส่วนคำถามว่า เรื่องนี้จะคุ้มค่าหรือไม่ที่ กทม.ได้รับสินค้า คงต้องบอกว่า ไม่มีคดีไหนที่เป็นเรื่องคุ้ม แต่ถือว่า เป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับทุกรัฐบาล
"เราเสียเปรียบมามากแล้ว ผู้บริหารสมัยนั้นซื้อของแพง หากรู้ว่าของแพงจะซื้อทำไม รถและเรือที่จัดซื้อยังใช้ไม่ได้ ต้องซ่อมแซม ส่วนเงินที่ได้มา 800 ล้าน ผมมองว่าดีกว่าไม่ได้ แต่ก็ไม่พอกับที่กทม.จะต้องเสียภาษีนำเข้ากับค่าจอดรถ จึงอาจจะต้องไล่ฟ้องแพ่งกับจำเลยทั้ง 6 คนด้วย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดคือ มันทุจริตกันเยอะ เงินทอนเยอะ บ้านเมืองถึงได้เป็นแบบนี้" ทีมทนายความ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อดูผลพิจารณาของอนุญาโตตุลาการที่ออกมา ถึงแม้จะเปิดทางให้ กทม.นำรถและเรือดับที่จอดทิ้งใช้งานได้ แต่ กทม.คงหนีไม่พ้นการถูกตั้งคำถามว่า “เงิน” ที่ได้กลับมาจำนวน 800 ล้านบาท จะ “คุ้มค่า” กับสิ่งที่ กทม.ต้องจ่ายออกไปในกระบวนการสู้คดีหรือไม่ เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ้างทนายต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ เรื่องค่าใช้จ่ายของทีมทนาย กทม. และคณะผู้บริหาร กทม.ที่ต้องเดินทางไปนครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อรวบรวมขั้นตอนต่อสู้คดีผ่านทางคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เงินทุกบาททุกสตางค์มันคืองบประมาณและภาษีของประชาชนที่ต้องจ่ายไไป
ไม่เพียงเท่านี้ ยังเหมารวมไปถึงงบประมาณในการซ่อมแซมรถและเรือดับเพลิงที่ กทม.ต้องรับมาทั้งหมด เพราะจำนวนเงินที่จ่ายไปกับการแบกรับภาระ “ค่าซ่อม” รถ-เรือดับเพลิงที่ไม่ได้ถูกใช้งานมาตลอด 9 ปี ทำให้สินค้าที่ส่งมามีมูลค่าเรื่อง "ภาษี" นำเข้า และความ "เสื่อมสภาพ" เพราะจำนวนเงินที่ กทม.ทยอยจ่ายค่ารถดับเพลิงที่ผ่านมาจำนวน 9 งวด ห่างกันงวดละ 6 เดือน จนครบจำนวนเงินตามสัญญาซื้อขาย 6,687,489,000 บาท เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย ตามเงื่อนไขสัญญาที่มีการเปิดแอล/ซีกับทางธนาคารไว้นั้น ยอดเงินทั้งหมดก็เป็นเงินภาษีของประเทศที่ต้องถูกใช้จ่ายกับ "ความเสียหาย" บนความทุจริตของโครงการนี้
ทั้งนี้รถและเรือดับเพลิงถูกจัดเก็บไว้ 4 สถานที่ คือ
1.ท่าเรือแหลมฉบัง แยกเป็นรถดับเพลิง 67 คัน รถดับเพลิงบรรทุกน้ำขนาด 1 หมื่นลิตร 72 คัน ซึ่งตามสัญญา กทม.จะต้องเป็นผู้รับภาระ โดยมีบริษัท นามยงค์ เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดูแล
2.ท่าเรือกรุงเทพ คลองเตย เป็นสถานที่เก็บรักษาอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย เป็นชุดดับเพลิงออกปฏิบัติการ ชุดดับเพลิงเคมี เครื่องช่วยหายใจจำนวน 350 ชุด เครื่องอัดอากาศเครื่องช่วยหายใจจำนวน 5 ชุด และอะไหล่อุปกรณ์อื่นๆ จำนวน 2 ตู้คอนเทนเนอร์
3.คลังเก็บสินค้าของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นสถานที่เก็บอะไหล่และอุปกรณ์ต่างๆ 3 หีบห่อ
4.โกดังสินค้าของบริษัท เทพยนต์ แอโรโมทีฟ อินดัสตรีส์ ต.ไทรน้อย อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี เป็นสถานที่เก็บรักษารถดับเพลิงและรถกู้ภัย 176 คัน ที่ถูกส่งมาเป็นลอตแรกเมื่อปี 2549
อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะกำกับดูแลสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.ได้เดินทางไปประเทศเยอรมนีเพื่อขอข้อมูลและคำแนะนำจากบริษัทผู้เชี่ยวชาญกรณีการซ่อมแซมรถ-เรือดับเพลิง และเมื่อได้ผลสรุป กทม.จะนำรถและเรือดับเพลิงเข้าอู่ เพื่อทยอยซ่อมแซม คาดว่าจะใช้งบประมาณ 200-300 ล้านบาท เบื้องต้นจะใช้ทีมงานและอะไหล่ภายในประเทศ แต่ขณะนี้ กทม.ยังอยู่ระหว่างการเจรจาค่าจอดรถกับบริษัทนามยงค์ เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) บริษัทรับขนส่งสินค้าตั้งอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี แต่ยังไม่สามารถตกลงค่าจอดรถที่มีตัวเลขสูงถึง 790 ล้าน ซึ่ง กทม.อยู่ระหว่างการต่อรองให้ลดลงเหลือ 50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ยังไม่สามารถนำรถออกมาซ่อมได้ แต่ กทม.ตั้งเป้าไว้ว่า จะพยายามนำรถมาใช้ให้ได้ภายในปลายปี 2558
ทั้งหมดจึงเป็นเส้นทางคดีทุจริตการจัดซื้อโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ที่ศาลฎีกาฯ มีคำตัดสินต่อนักการเมือง และข้าราชการที่ฉ้อฉลต่อเงินภาษีประชาชน โดยการทุจริตดังกล่าวทำให้หวนนึกถึงคำพูดของ “กล้านรงค์ จันทิก” อดีตกรรมการ ป.ป.ช. เคยปาฐกถาหลายครั้งว่า "โครงการทุจริตของรัฐส่วนใหญ่เริ่มต้นจากกระดาษเพียงแผ่นเดียวระหว่างข้าราชการกับนักการเมือง"
ที่สุดแล้ว คดีนี้ถึงแม้ “ผู้กระทำผิด” ยังหลบหนีคดีโดยปล่อยภาระความเสียหายตกอยู่กับประเทศ แต่ก็ถือเป็น “บทเรียน” ครั้งสำคัญที่กระตุ้นให้สังคมอย่าปล่อยให้การ “ทุจริต” เป็นวัฏจักรทางการเมืองดำเนินเรื่องไปอย่างที่ไม่วันจบสิ้น
ไทมไลน์คดี "รถ-เรือดับเพลิง" 6.6 พันล้าน
-27 สิงหาคม 2547 นายสมัคร สุนทรเวช ในฐานะผู้ว่าฯ กทม.สมัยนั้น ลงนามในสัญญาซื้อขายประกอบบันทึกข้อตกลงความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐออสเตรีย
-6 กันยายน 2547 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.
-27 กันยายน 2547 นายอภิรักษ์มอบหมายให้ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.ขณะนั้นให้ระงับการเปิดแอล/ซีที่ได้กระทำไปก่อนหน้านี้
-12 ตุลาคม 2547 นายอภิรักษ์มีหนังสือถึงมหาดไทย ขอให้มีการทบทวนเนื่องจากสัญญาการซื้อต่างตอบแทนได้ลงนามหลังสัญญาจัดซื้อไม่เป็นไปตามขั้นตอนตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ ประกอบกับมีผู้ยื่นเรื่องราวต่อ ป.ป.ช. กทม.จึงเห็นควรให้มีการพิจารณาทบทวนตรวจสอบความถูกต้องของการจัดซื้อก่อนโดยไม่อาจดำเนินการเปิดแอล/ซีได้
-16 ธันวาคม 2547 นายประชา มาลีนนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือแจ้ง กทม.ว่า ขอให้ทำการเปิดแอล/ซีเพื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศทั้งสอง หลังเอกอัครราชทูตออสเตรียมีหนังสือแจ้งกระทรวงการต่างประเทศและสำเนาถึงมหาดไทยว่า กทม.ยังไม่เปิดแอล/ซี
-10 มกราคม 2548 นายอภิรักษ์มอบหมายให้ทำการเปิดแอล/ซร
-เดือนมกราคม 2549 รถและเรือดับเพลิงลอตแรกมาถึงไทย บริษัท เทพยนต์ฯ ได้รับมอบหมายให้นำไปเก็บไว้ที่โกดังเอกชนย่านบางบัวทอง
-12 พฤศจิกายน 2551 นายอภิรักษ์แถลงลาออกจากตำแหน่งหลัง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีรถดับเพลิง
-ปี 2553 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ยื่นเรื่องต่อคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศขอยกเลิกสัญญารถดับเพลิง
-10 กันยายน 2556 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินลงโทษนายประชา จำคุก 12 ปี และพล.ต.ต.อธิลักษณ์ 10 ปี
-ปลายปี 2557 คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศมีผลตัดสินให้บริษัทสไตเออร์ฯ จ่าย 20.49 ล้านยูโร และให้ กทม.รับสินค้าทั้งหมด