ข่าว

แนวโน้มการก่อการร้ายโลก

แนวโน้มการก่อการร้ายโลก

15 เม.ย. 2559

วิถีมุสลิมโลก : แนวโน้มการก่อการร้ายโลก : โดย...ศราวุฒิ อารีย์ [email protected]

 
                    ข้อแตกต่างประการหนึ่งระหว่างกลุ่มอัลไกดา กับ ‘ไอเอส’ ในแง่ของปฏิบัติการก่อความรุนแรงคือ ในขณะที่อัลไกดามุ่งเป้าโจมตี ‘Far enemy’ หรือ ‘ศัตรูทางไกล’ อันหมายถึงมหาอำนาจและชาติพันธมิตรตะวันตกเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่กลุ่มไอเอสกลับเปิดศึกทั้ง 2 ด้านไปพร้อมๆ กัน ทั้งศัตรูทางไกลและศัตรูทางใกล้ (Near enemy) อันหมายถึงกลุ่มประเทศมุสลิมที่ไอเอสมองว่ามีรัฐบาลนอกรีต ไม่ทำตามหลักการศาสนา
 
                    ด้วยเหตุนี้ การตั้งรัฐอิสลามของไอเอสขึ้นมาพร้อมกับการสถาปนาเคาะลีฟะฮ์ จึงไม่ได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อตะวันตกเท่านั้น แต่ยังเป็นภัยคุกคามและความท้าทายต่อโลกมุสลิมในภาพรวมอีกด้วย ภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อโลกมุสลิมอาจดูได้จากสถิติการก่อการร้ายของไอเอสที่สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นได้รวบรวมไว้เกี่ยวกับปฏิบัติการของไอเอสนอกพื้นที่ซีเรียและอิรัก(ดูรายละเอียดได้ใน http://edition.cnn.com/…/mapping-isis-attacks-ar…/index.html)
 
                    ข้อมูลระบุว่านับตั้งแต่กลุ่มไอเอสประกาศตัวเป็นรัฐอิสลามในเดือนมิถุนายน 2014 กลุ่มนี้ได้ก่อเหตุไปแล้วรวม 75 ครั้ง ใน 20 ประเทศทั่วโลก โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,280 คน บาดเจ็บอีกกว่า 1,770 คน พื้นที่ก่อเหตุส่วนใหญ่เป็นประเทศมุสลิมและผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม
 
                    ที่น่าสนใจคือ ซีเอ็นเอ็นได้แบ่งประเภทการก่อการร้ายของกลุ่มไอเอสเป็นสองแบบคือ การก่อการร้ายโดยสมาชิกของกลุ่มหรือสาขาของกลุ่มตามดินแดนต่างๆ และการก่อการร้ายโดยบุคคลที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มไอเอส จากสถิติที่ซีเอ็นเอ็นให้ไว้พอสรุปเป็นแนวโน้มการก่อการร้ายตามที่ รุสตั้ม หวันสู นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยมุสลิมอาลีการ์ ประเทศอินเดีย ได้แสดงความคิดเห็นเอาไว้อย่างน่าสนใจดังนี้ครับ
 
 
แนวโน้มการก่อการร้ายโลก
 
 
                    1.พื้นที่เป้าหมายหลักในการก่อการร้ายโดยกลุ่มไอเอสคือ กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA)และทวีปยุโรป
 
                    2.การก่อการร้ายโดยตรง หรือจากกลุ่มสาขาของไอเอสมีจำนวนครั้งมากกว่าเหตุก่อการร้ายโดยบุคคล/กลุ่มบุคคลที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มไอเอส โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) ส่วนในทวีปอื่นๆ นั้น การก่อการร้ายส่วนใหญ่กระทำโดยบุคคล/กลุ่มบุคคลที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มไอเอส
 
                    3.การก่อการร้ายโดยกลุ่มไอเอสคุกคามประชาชนทุกศาสนา ไม่ว่าจะเป็นเหตุก่อการร้ายในฝรั่งเศสที่มีผู้เสียชีวิต 130 ศพ หรือเหตุระเบิดสองมัสยิดในเยเมนที่มีผู้เสียชีวิต 137 ศพ เหตุระเบิดในตุรกี ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 97 ศพ เหตุระเบิดเครื่องบินรัสเซียเหนือน่านฟ้าอียิปต์ ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 224 ศพ เหตุระเบิดในเลบานอน ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 43 ศพ
 
                    4.ประเทศที่มีสาขาหลักของกลุ่มไอเอสอย่างอียิปต์ ลิเบีย เยเมน เสี่ยงต่อภัยคุกคามจากการก่อการร้ายมากที่สุด การที่กลุ่มไอเอสเริ่มเสียฐานการยึดครองและปฏิบัติการในซีเรียและอิรัก ทำให้มีแนวโน้มที่กลุ่มไอเอสจะปฏิบัติการในพื้นที่อื่นๆ มากขี้น ซึ่งทำให้ไอเอสยังคงยึดหน้าหลักในกระแสข่าวการก่อการร้าย
 
                    5.ประเทศในยุโรปอย่างฝรั่งเศสและเบลเยียม เสี่ยงต่อภัยก่อการร้ายมากที่สุด ตัวเลขของประชาชนประเทศดังกล่าวเดินทางไปร่วมรบในซีเรียและอิรักมีจำนวนมาก จำนวนหนึ่งได้เดินทางกลับเข้าประเทศมาก่อเหตุหรือวางแผนก่อการร้าย
 
                    6.รูปแบบการก่อการร้ายได้เปลี่ยนไปจากการเน้นก่อเหตุรุนแรง หวังจำนวนผู้เสียชีวิตจำนวนมากวางแผนนาน อย่างที่กลุ่มอัลไกดาเคยทำ มาเป็นการก่อการร้ายที่มีรูปแบบที่ยืดหยุ่น เน้นระเบิดพลีชีพ ใช้จำนวนผู้ก่อเหตุและงบประมาณไม่มากอย่างที่กลุ่มไอเอสทำ
 
 
 
 
--------------------------
 
(วิถีมุสลิมโลก : แนวโน้มการก่อการร้ายโลก : โดย...ศราวุฒิ อารีย์ [email protected])