คิกออฟประชามติอบรมครู ก.ปั้นฝัน-ถ่ายทอดวิชารธน.
คิกออฟประชามติอบรมครู ก. ปั้นฝัน-ถ่ายทอดวิชา รธน. : ขนิษฐา เทพจร
หลังจาก “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ" (กรธ.) จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ ภารกิจต่อจากนั้นคือ เผยแพร่และประชาสัมพันธ์เนื้อหา สาระของร่างรัฐธรรมนูญต่อประชาชน
กระบวนการเผยแพร่นั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า ถูกเชื่อมโยงเข้ากับระดับวัดการรับรู้ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจของประชาชนในขั้นตอนออกไปใช้สิทธิลงคะแนนประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ทำให้ทุกองคาพยพของรัฐ ต้องเข้ามีส่วนร่วมร่วมกับ กรธ. และองค์กรที่มีหน้าที่จัดการออกเสียงประชามติ เพื่อช่วยสื่อสารข้อมูลที่เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญไปยังประชาชนให้มากเท่าที่จะมีขีดความสามารถ
ทั้งนี้ ด้วยกลไกของ “พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559” กำหนดให้ “กรธ.” สามารถมอบหมายภารกิจให้แก่บุคลากรภาครัฐ และเครือข่ายประชาสังคมให้เป็นฝ่ายสนับสนุนงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญได้ ทำให้เกิดเครือข่ายวิทยากรกระบวนการ ระดับจังหวัด (ครู ก.), วิทยากรฯ ระดับอำเภอ (ครู ข.) และวิทยากรฯ ระดับหมู่บ้าน (ครู ค.) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการ อาทิ กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานความมั่นคงพื้นที่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่งตัวแทนที่ผ่านการคัดสรรร่วมเป็นวิทยากรฯ และเครือข่ายเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ
สำหรับวันที่ 18 พฤษภาคม รวมถึงวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ เป็นเวลา "คิกออฟ" กระบวนการอบรมวิทยากร ระดับจังหวัด โดยมีบุคคลที่ถูกคัดเลือก โดยผู้ว่าราชการจังหวัดคัดเลือกจากผู้ดำรงตำแหน่งทางปกครองใน 5 ตำแหน่ง คือ 1.ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย เลือกจากรองผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ ปลัดจังหวัด 2.ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ หรือผู้แทน 3.นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหรือผู้แทน 4.ศึกษาธิการจังหวัดหรือผู้แทน และ 5.หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด หรือข้าราชการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นสมควร โดยทุกจังหวัดยกเว้นกรุงเทพมหานคร ส่งผู้ผ่านคัดเลือกจังหวัดละ 5 คน เข้าร่วม รวมทั้งสิ้น 380 คน
กระบวนการเข้าร่วมดังกล่าว ถูกกำชับเป็นคำสั่งทางราชการให้ผู้มีรายชื่อเข้าร่วม ห้ามลาหรือขาด หากผู้ใดที่ไม่สามารถร่วมกระบวนการได้ ให้ทำรายงานชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร มิเช่นนั้นจะถือว่าเป็นความผิดทางราชการ
นอกจากนี้ ผู้ที่ร่วมกระบวนการยังมาจาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) (พอช.) 77 จังหวัด จังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน เข้าร่วม เหตุผลสำคัญที่ต้องมี สมาชิก พอช. ซึ่งหมายถึงสมาชิกองค์กรชุมชนระดับตำบล เข้าร่วมกระบวนการอบรม เพื่อให้เป็นส่วนเติมเต็มของการกระจายข้อมูล สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญไปสู่ชุมชน ที่อาจหลุดหรือลอดสายตาในกระบวนการของวิทยากร ที่ทำโดย “กระทรวงมหาดไทยและเครือข่าย” เพราะหากพูดถึงตัวเลขของทัพเสริมนั้นจะพบว่ามีสมาชิกองค์กรชุมชนฯ กระจายอยู่ทั่วประเทศราวแสนคน
วันแรกของวันเริ่มกระบวนการ ยังเป็นพื้นที่ของการรับฟังสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ โดย กรธ.เป็นผู้แจกแจง และมีไฮไลท์ของเวทีแจกแจงสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ อยู่ที่การบรรยายภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญ โดย “ประธาน กรธ. มีชัย ฤชุพันธุ์”
การบรรยายภาพรวม “มีชัย” ได้พยายามชี้แจงเจตนาและเจตจำนงของการทำร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและแก้ปัญหาให้แก่ประเทศ และมุ่งหวังอย่างสำคัญให้รัฐธรรมนูญเป็นขื่อแปที่ทุกคนต้องปฏิบัติ และเมื่อทุกคนปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแล้วบ้านเมืองจะเจริญรุดหน้า
พร้อมกับฉายจุดแข็งของร่างรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 9 ประเด็น คือ 1.สิทธิประชาชน สิทธิชุมชนและสังคม 2.สิทธิของประชาชนที่รัฐต้องดูแล 3.การมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง 4.กลไกป้องการทุจริต โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน 5.หลักประกันด้านการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 6.องค์กรอิสระ 7.การทำยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งที่ยั่งยืน 8.กลไกได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนมีสิทธิรับรู้ก่อนการหย่อนบัตรลงคะแนน และ 9.มาตรการแก้ปัญหาทางตันทางการเมืองที่เขียนไว้ในบทเฉพาะกาล
ขณะเดียวกัน “มีชัย” ได้ปลุกใจวิทยากรระดับจังหวัดว่า เป็นผู้กำอนาคตประเทศไว้ เพราะถือเป็นกลไกสำคัญที่จะสื่อสารและทำความใจกับประชาชนว่า ร่างรัฐธรรมนูญมีอะไร มีข้อดี และประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างไร โดยทั้งหมดนั้นจะมีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนช่วงออกเสียงประชามติ
ขณะที่การแจกแจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญโดย “กรธ.” ที่แบ่งออกเป็น 5 ตอน คือ 1.สิทธิ เสรีภาพ สิทธิสตรี หน้าที่ของรัฐ และแนวนโยบายแห่งรัฐ 2.การปฏิรูปประเทศ 3.รัฐสภา คณะรัฐมนตรี กระบวนการเลือกตั้ง พรรคการเมืองและบทเฉพาะกาล 4.ท้องถิ่น และ 5.กระบวนการยุติธรรม การขัดกันแห่งผลประโยชน์ ศาล ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ โดยสาระและเนื้อหาที่สื่อตรงไปยังวิทยากร นอกจากจะมีการถอดความเนื้อหาตามตัวบทรัฐธรรมนูญแล้ว ยังสอดแทรกอุดมคติและความคาดหวังที่จะให้ “ร่างรัฐธรรมนูญ” เป็นกลไกแก้ปัญหาและนำไปสู่ทางออกของทางตันทางการเมืองที่ผ่านมา
รวมไปถึงการชี้แจงเหตุผลที่มาและที่ไปของบทบัญญัติ เช่น มาตราที่เขียนไว้ในบทเฉพาะกาล ที่ให้อำนาจ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” คัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้ ในช่วงเริ่มแรกใช้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้ คสช. เลือกเฟ้นบุคคลที่เหมาะสมจะเข้ามาทำหน้าที่ ส.ว.ในช่วงแรกนั้นได้ เป็นต้น
พอมาถึงช่วงท้ายของการแจกแจง ได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชี้แจงรายละเอียดคำถามประกอบการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีใจความสำคัญคือ ให้ “รัฐสภา” มีสิทธิลงมติเห็นชอบบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศของการรับฟังเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกแจกแจงในวันที่ 18 พฤษภาคม ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ตั้งใจฟังและจดรายละเอียดสำคัญ แต่ยังมีผู้เข้าร่วมส่วนหนึ่งที่ไช้เวลาระหว่างฟังบรรยายพักสายตาและผ่อนคลายด้วยการเล่นเกมบนมือถือ ทำให้เป็นสิ่งที่น่าวิตกต่อการทำหน้าที่สื่อสารสาระร่างรัฐธรรมนูญไปยังวิทยากรระดับอำเภอและระดับหมู่บ้าน
แต่กิจกรรมเข้ากระบวนการอบรม ยังมีต่อในวันที่ 19 พฤษภาคม โดยรูปแบบสำคัญ คือการแยกห้องของวิทยากรระดับจังหวัด ออกเป็น 9 กลุ่มตามกลุ่มจังหวัด เพื่อทบทวนความเข้าใจในเนื้อหาที่ได้รับฟังจาก กรธ. และเปิดให้ผู้เข้ากระบวนการได้ซักถามหรือขอคำอธิบายจาก กรธ.ได้แบบรายบุคคล รวมถึงสร้างสถานการณ์สมมุติว่าหากลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญกับประชาชนแล้ว พบกับคำถามที่ถูกซักจะมีวิธีการรับมือหรือแนวทางชี้แจงที่ถูกต้องอย่างไร จากนั้นในช่วงก่อนปิดโครงการอบรมวิทยากรระดับจังหวัด จะมีกิจกรรม “Review and Reflection" ทำกระบวนการกลุ่ม ระดมสมอง เพื่อค้นหาประเด็นปัญหาที่ยังสงสัย
นอกจากนี้ ยังมีช่วงที่ให้ “ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ กรธ.” มอบนโยบายย้ำเตือนให้แก่วิทยากรระดับจังหวัด ก่อนลงพื้นที่ในสัปดาห์ถัดไปเพื่อถ่ายทอดข้อมูลไปยังวิทยากรระดับอำเภอและระดับหมู่บ้านต่อไป
เหตุผลสำคัญที่ต้องย้ำเตือนการทำงานอีกครั้งในช่วงท้าย นั่นเป็นเพราะเพื่อให้ “วิทยากรระดับจังหวัด” ทำหน้าที่ส่งสารต่อไปยังวิทยากรระดับอำเภอและระดับหมู่บ้านที่มีจำนวนมากพอสมควร คือระดับอำเภอ ใน 878 อำเภอ อำเภอละ 10 คน รวมเป็น 8,780 คน ส่วนระดับหมู่บ้านและชุมชน ใน 80,491 แห่ง แห่งละ 4 คน รวมเป็น 321,964 คน ได้อย่างเที่ยงตรงและตามข้อเท็จจริงมากที่สุด
-“ครู ก.” หรือวิทยากรระดับจังหวัด จะมีจังหวัดละ 5 คน 77 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 385 คน ประกอบด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัด 1 คน ผู้แทนศึกษาธิการ 1 คน ผู้แทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด 1 คน ตัวแทนหัวหน้าส่วนราชการ 1 คน ผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความสงบในพื้นที่ 1 คน
อบรมระหว่างวันที่ 18-19 พ.ค. โดยผู้ที่ให้ความรู้คือ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
- “ครู ข.” หรือวิทยากรระดับอำเภอ จะมีอำเภอละ 10 คน ทั่วประเทศ 8,780 อำเภอ รวม 87,800 คน
อบรมระหว่างวันที่ 21-31 พ.ค. โดยมี ครู ก. เป็นผู้ลงไปให้ความรู้ และมี สนช. สปท. ประกบเพื่อชี้แจงคำถามพ่วง
- “ครู ค.” หรือวิทยากรระดับหมู่บ้าน มีหมู่บ้านละ 4 คน ทั่วประเทศ 80,491 หมู่บ้าน รวมเป็น 321,964 คน
อบรมระหว่างวันที่ 1-16 มิ.ย. โดยมี “ครู ข.” เป็นผู้ให้ความรู้
16 มิ.ย.-6 ส.ค. - ลงพื้นที่ชี้แจงประชาชนแบบเคาะประตูบ้าน