‘ประยุทธ์’หารือ‘โมดิ’ดันขนส่งทางทะเลเชื่อม‘เจนไน-ทวาย’
“ประยุทธ์” หารือทวิภาคี “นายกฯอินเดีย” ผลักดันความเป็นหุ้นส่วนการค้าเชื่อมโยงคมนาคมบก - เรือ - อากาศ โดยเฉพาะขนส่งทางทะเล “เจนไน กับเขตศก.พิเศษทวาย”
เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. เวลา 12.30 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางออกจากโรงแรมที่พักไปยัง ไฮเดอราบาดเฮ้าส์ (Hyderabad House)หรือ เรือนรับรองรัฐบาลอินเดีย โดยมี นายนเรนทร โมดิ นายกรัฐมนตรีอินเดียรอให้การต้อนรับในโถงอาคาร ก่อนเชิญนายกรัฐมนตรีไปยังห้อง Deccan Suite เพื่อลงนามในสมุดเยี่ยม จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้พบหารือทวิภาคีกลุ่มเล็กกับนายนเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย
ต่อมา ในเวลา 13.30 น ณ ห้องBanquet Hall ชั้น 2 เป็นการประชุมเต็มคณะระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยและอินเดีย พร้อมคณะรัฐมนตรีกลุ่มย่อย ซึ่งฝ่ายไทย ประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ ในเวลา 14.30 น. นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีอินเดียร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง 2 ฉบับ คือ แผนปฏิบัติการว่าด้วยโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมไทย-อินเดีย และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยนาคาแลนด์กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
จากนั้นในเวลา 14.45 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและนเรนทร โมดิ นายกรัฐมนตรีอินเดียแถลงข่าวร่วมกันถึงผลการหารือ ณ ห้อง Ballroom ชั้น 2 เรือนรับรองอินเดีย โดย นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีที่ได้มาเยือนสาธารณรัฐอินเดียอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของท่านนายกรัฐมนตรีโมที เป็นครั้งแรก รู้สึกประทับใจและขอบคุณรัฐบาลอินเดียที่ได้ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะผู้แทนไทยอย่างอบอุ่น
อินเดีย เป็นแหล่งอารยธรรมอันเก่าแก่ อีกทั้งเป็นแหล่งกำเนิดของพระพุทธศาสนาที่ได้แพร่หลายไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอินเดียเป็นมิตรใกล้ชิดที่มีพื้นฐานมาจากประวัติศาสตร์อันยาวนานจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนโยบายรุกตะวันออก (Act East)ของรัฐบาลอินเดียสอดคล้องกับนโยบายมุ่งตะวันตก (Look West)ของไทย อินเดียเป็นประเทศยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียที่กำลังมีบทบาทสำคัญทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมในเวทีระดับภูมิภาคและระดับโลก นอกจากนี้ อินเดียยังมีการพัฒนาอุตสาหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ และความก้าวหน้าทางวิชาการเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนถึงความสำเร็จในนโยบายพัฒนาประเทศของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีโมดิ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
ในการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีโมดิ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ในปีหน้าไทยและอินเดียจะร่วมกันฉลองโอกาสครบรอบการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 70 ปี โดยมีการจัดกิจกรรมตลอดทั้งปีและมีกิจกรรมหลักในวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ซึ่งโอกาสดังกล่าวเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะหารือร่วมกันว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอินเดียจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร อีก 70 ปีต่อไปในอนาคต เพื่อยกระดับความสัมพันธ์และก้าวไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
โดยมีการหารือกันในหลายประเด็น ดังนี้
ด้านเศรษฐกิจ ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่จะผลักดันความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทย และอินเดียให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้สูงขึ้น ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีโมที โดยเราเห็นพ้องที่จะเน้นที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และจะต้องส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนกันในทุกกิจกรรม การลงทุนร่วมกัน นอกจากนนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่าการผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดียให้แล้วเสร็จโดยเร็วจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการค้าระหว่างทั้งสองประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ในการหารือ นายกรัฐมนตรีโมทีแจ้งว่าจะสนับสนุนภาคเอกชนอินเดียให้ไปลงทุนในไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองก็สนับสนุนภาคเอกชนไทยให้เข้ามาลงทุนในอินเดียเช่นกัน เพื่อสนับสนุนนโยบายMake in IndiaและSmart Citiesและเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีการประชุมสภาธุรกิจไทย-อินเดีย ครั้งที่ 1 และกิจกรรมทางธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างภาคเอกชนทั้งสองฝ่ายเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
นายกรัฐมนตรี ยินดีที่ทราบว่าภาคเอกชนไทยได้เข้ามาสร้างชื่อเสียงให้ทั้งรัฐบาลและประชาชนชาวอินเดียเห็นศักยภาพของไทย อาทิ การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารของสนามบินที่เมือง อาห์เมดาบาด รัฐคุชราต และที่เมืองกัลกัตตาโดยบริษัทก่อสร้างของไทย ซึ่งได้รับคำชื่นชม ถึงความสวยงามและสะดวกสบาย นอกจากนี้ ยังมีร้านค้าย่อย (outlet)ประเภทอาหาร ที่ได้รับความนิยมจากชาวอินเดียด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีอยากเชิญชวนให้นักธุรกิจไทยมากลงทุนมากขึ้น
ด้านความเชื่อมโยง นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีโมดิได้หารือกันเกี่ยวกับการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกัน ทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ โดยเฉพาะโครงการถนนสามฝ่ายอินเดีย-เมียนมา-ไทย และเส้นทางหลวง BIMSTEC ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมและค้าขายระหว่างกัน โดยไทยมีบทบาทในฐานะประตูเชื่อมของอินเดียไปสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก รวมถึงการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลระหว่างเจนไนกับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และความร่วมมือระหว่างสองประเทศในการผลักดันให้มีการสรุปการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ตามที่กำหนดไว้ภายในปีนี้ ซึ่งหากสำเร็จ RCEP จะเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีประชากรกว่า 3,000 ล้านคน และการผลักดันการเจรจาเขตการค้าเสรี BIMSTEC ให้บรรลุผลสำเร็จโดยเร็ว
ด้านความมั่นคง ความร่วมมือระหว่างไทยและอินเดียเป็นไปอย่างราบรื่นและใกล้ชิด เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมได้มาเยือนอินเดีย และมีการหารือในหลากหลายประเด็น อาทิ ความร่วมมือด้านกลาโหมและเหล่าทัพ ความร่วมมือด้านข่าวกรอง การต่อต้านการก่อการร้าย ความมั่นคงทางไซเบอร์และความมั่นคงทางทะเล ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายกำลังประสานงานกันเพื่อผลักดันให้ผลการหารือดังกล่าวมีผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงในภูมิภาค
ความร่วมมือในด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรม ศาสนาและการศึกษาเป็นสาขาที่มีความคืบหน้าอย่างเห็นได้ชัด ปฏิสัมพันธ์ของภาคประชาชนเป็นกลจักรสำคัญที่ช่วยรักษาพลวัตความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ผู้นำทั้งสองจึงเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบสองฝ่ายซึ่งมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากจากทั้งสองประเทศ โดยใช้มิติด้านศาสนาซึ่งนายกรัฐมนตรีโมทีให้ความสำคัญ โดยไทยพร้อมจะส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเชิงพระพุทธศาสนา (Buddhist Circuit)ตามเส้นทางแสวงบุญสถานที่สำคัญในอินเดียและประเทศใกล้เคียง
ด้านการศึกษา นายกรัฐมนตรีขอให้นายกรัฐมนตรีโมดิส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทยในอินเดียมากขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีโมทีรับที่จะไปพิจารณา นอกจากนี้ ภาคเอกชนไทยยังได้บริจาคเงินจำนวน 9 แสนบาทให้กองทุน“Thailand Fund for Nalanda University”เพื่อเป็นทุนการศึกษาและทุนศึกษาวิจัยสำหรับนักศึกษาและอาจารย์ของมหาวิทยาลัยจากไทยหรือชาติอื่น ๆ ในสาขา“Buddhist Studies, Philosophy & Comparative Religion”นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศจะสนับสนุนความร่วมมือเชิงวัฒนธรรมระหว่างกัน ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาของไทยหลายแห่งที่เปิดสอนวิชาอินเดียศึกษา จึงหวังว่าจะมีโอกาสส่งเสริมการเรียนการสอนวิชาไทยศึกษาในอินเดีย เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ
โดยในวันนี้ นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีโมดิยังได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการแลกเปลี่ยนความตกลง 2 ฉบับ คือ 1) แผนปฏิบัติการว่าด้วยโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมไทย-อินเดีย ปี 2560-2562 และ 2) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับมหาวิทยาลัยนาคาแลนด์ นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่ายินดีที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารAxis (เอ็กซิส) จำกัด ของอินเดียได้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมการเป็นพันธมิตรในการให้บริการสนับสนุนธุรกิจการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและอินเดียในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเยือนอินเดียครั้งนี้ด้วย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังขอให้มีการส่งเสริมเรื่องการจัดตั้งสำนักงานใหญข้ามประเทศIHQหรือITCในประเทศไทยมากขึ้นด้วย
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่พรุ่งนี้จะได้เดินทางไปสักการะสังเวชนียสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พุทธคยา ซึ่งจะได้เป็นประธานในพิธีสวดมนต์และเจริญจิตภาวนาใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี และถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 ที่วัดมหาโพธิ์พุทธคยา และถวายภัตตาหารเพลที่วัดไทยพุทธคยาด้วย
เยือนตปท.พร้อมนำหลักศก.พอเพียงไปเผยแพร่
พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติว่า”สำหรับในเวทีระหว่างประเทศ ทุกครั้ง ผมและผู้แทนรัฐบาล รัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี นอกจากจะเป็นการประชุมหารือไปตามประเด็น หรือตามวัตถุประสงค์ ของการประชุมแล้ว เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องรวมถึงการขยายความร่วมมือระหว่างกันในกรอบต่างๆ แล้ว ผมได้ให้น้อมนำหลักการของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ชี้ให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาที่สร้างความสมดุล ในทุกมิติ ให้ทุกประเทศได้ไปพิจารณา ทั้งในเรื่องของความมั่นคง – เศรษฐกิจ – สังคม – สิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน ได้อย่างแท้จริง สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หรือว่าหลักการของสหประชาชาติคือการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดกับสำหรับมวลมนุษยชาติ ทั้งโลก
เช่น 1.การประชุมระดับสูงสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 2 ณ สำนักงานใหญ่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ประเทศสมาชิกจำนวน 193 ประเทศ ที่ต้องการกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของโลกในภาวะปัจจุบัน และกำหนดทิศทางเป้าหมายการพัฒนาในอนาคตในปี 2573 ในที่ประชุมต่างให้การยอมรับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนดังปรากฏในรายงานผลการศึกษาของ UNEP เกี่ยวกับการเพิ่มความร่วมมือแบบใต้ – ใต้ และการเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศกำลังพัฒนา ตามแนวทาง “เศรษฐกิจสีเขียว”
2. การประชุมสุดยอดเอเชีย ด้านความมั่นคง หรือ IISS Shangri-La Dialogue ครั้งที่ 15 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเวทีหารือระดับสูงเกี่ยวกับประเด็นด้านความมั่นคงของประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ผมได้เน้นย้ำความสำคัญ ของการส่งเสริมการพัฒนาควบคู่กับความมั่นคง อันเป็นรากฐานของการสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม หากมีปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ (human security) ที่มีความขัดแย้ง ก็จะบั่นทอนความมั่นคงของประเทศในทุกมิติ และทุกภูมิภาคได้ในปัจจุบัน รัฐบาลไทยได้เน้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ การพัฒนาจากภายใน ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และใช้นโยบาย “ประชารัฐ” ในการขับเคลื่อน เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีประสบการณ์ด้านการพัฒนาด้วยพระองค์เองมากว่า 40 ปี และทรงดำเนินงานพัฒนาโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
3. การประชุมกลุ่ม G-77 ที่ไทยเราได้รับเกียรติ ให้เป็นประธานกลุ่มในปีนี้ มีสมาชิกกว่า 130 ประเทศ ผมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่งศูนย์ศึกษาเขาหินซ้อน ห้วยทราย อ่าวคุ้งกระเบน ภูพาน ห้วยฮ่องไคร้ พิกุลทอง เพื่อให้ทุกประเทศได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศสมาชิก ไม่ได้ไปบังคับ แต่ให้พวกเขายอมรับในหลักการ เหตุผล และสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตา ในศูนย์ต่างๆ ได้นำพาพวกเขาไปเยี่ยมชมด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการเร่งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs 2030 ร่วมกัน ทุกประเทศ ต่างอยู่ในห่วงโซ่เดียวกัน ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ตั้งแต่เพาะปลูก ผลิต แปรรูป สร้างนวัตกรรม และการตลาด ดังนั้นเราจำเป็นต้องพัฒนาไปด้วยกัน เราจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ทั้งนี้ ผมอยากให้ทุกคนมีความภาคภูมิใจ ในสมบัติที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย ให้เป็นสมบัติของชาติ และจะเป็นต้นแบบหนึ่ง ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของโลก ในปีมหามงคลนี้ ก็ครบรอบ 10 ปีที่สหประชาชาติได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย “รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ” ขอให้ทุกภาคส่วน ได้น้อมนำไปสู่การปฏิบัติ ให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์สุข เพื่อความอยู่ดี มีสุขของปวงชนชาวไทยด้วย”