แผนแม่บทไซเบอร์ฯ ไม่ได้ผลิตนักรบไซเบอร์
"พล.ต.ฤทธี" แจงแผนแม่บทไซเบอร์ป้องกันประเทศ เพื่อป้องกันป้องปราม ไม่ได้ผลิตนักรบไซเบอร์ แฮกหรือโจมตีข้อมูลส่วนบุคคล ยันทุกอย่างยึดกรอบกฎหมาย
23 ส.ค. 59 - พล.ต.ฤทธี อินทราวุธ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหารกองทัพบก กล่าวชี้แจงถึงร่างแผนแม่บทไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม พ.ศ.2560 – 2564 ว่า ใช้ในการป้องกันและป้องปราม แต่ไม่ใช่การทำสงครามไซเบอร์ อย่างที่มีการนำไปบิดเบือน เนื่องจากปัจจุบันภัยคุกคามด้านไซเบอร์ทวีความรุนแรงมีการโจมตีเว็ปไซด์หน่วยงาน เจาะข้อมูล จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับปัญหาดังกล่าว
พล.ต.ฤทธี กล่าวย้ำว่า แผนดังกล่าว ครอบคลุมแผนงานหลัก 6 แผนงาน ได้แก่ 1.แผนการจัดองค์กรด้านไซเบอร์ โดย กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทยและเหล่าทัพ ดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานไซเบอร์ ศูนย์ไซเบอร์ ขึ้นมารองรับภารกิจด้านไซเบอร์โดยตรง 2.แผนการป้องกันระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดย กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพ เตรียมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security Operation Center ; CSOC) ของตนขึ้นมาเพื่อรองรับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ที่จะมาโจมตีระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งระบบฐานข้อมูล การจัดตั้ง ทีมจัดการปัญหาฉุกเฉินด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security Incident Response Team / Computer Security Incident Response Team ; CSIRT) เพื่อตอบสนองการแก้ไขปัญหาฉุกเฉินด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ได้อย่างรวดเร็ว และทันเวลา
พล.ต.ฤทธี กล่าวว่า 3.แผนการพัฒนาความพร้อมการปฏิบัติการไซเบอร์เชิงรุกและการปฏิบัติการสงครามไซเบอร์ เป็นการพัฒนาบุคลากรของกองทัพให้มีขีดความสามารถด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ เพื่อการป้องกัน สะกัดกั้น ยับยั้งการโจมตี และการตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความมั่นคงด้านการทหาร โดยการพัฒนา เสริมสร้างขีดความสามารถกำลังพล เครื่องมือ และเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงการจัดให้มีการแข่งขันทักษะการปฏิบัติการไซเบอร์ (Cyber Contest ) ทั้งนี้มิได้มุ่งหมายเพื่อสร้างนักรบไซเบอร์ ( Cyber Warrior) หรือใช้เจ้าหน้าที่ ดังกล่าวไปโจมตีหรือแฮ็กข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมาย ทุกอย่างกระทำภายใต้กรอบกฎหมาย
4.แผนการดำรงและพัฒนาศักยภาพด้านไซเบอร์ เพื่อดำรงความต่อเนื่องและยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาเทคโลยีด้านไซเบอร์ (R&D) เพื่อวิจัยพัฒนาและติดตามความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะภัยคุกคามด้านไซเบอร์นับวันจะทวีความรุนแรง ส่งผลกระทบและความเสียหายในวงกว้างอย่างรวดเร็ว
พล.ต.ฤทธี กล่าวต่อว่า 5.แผนการสนับสนุนศักยภาพทางไซเบอร์ระดับชาติ เนื่องจากกองทัพเป็นหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงของชาติ จึงต้องมีความพร้อมในการสนับสนุนและเป็นเครื่องมือให้กับรัฐบาล เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านไซเบอร์ของชาติ ในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อป้องกันภัยคุกคามในระดับชาติด้านไซเบอร์โดเมน (Cyber Domain) และ 6.แผนงานความร่วมมือและผนึกกำลังด้านไซเบอร์ เป็นการประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ธุรกิจเอกชน และประชาชนทั่วไป ในการผนึกกำลังด้านไซเบอร์ ซึ่งเป็นกำลังอำนาจที่ไม่มีตัวตน และนำไปสู่การระดมสรรพกำลังของประเทศด้านไซเบอร์ที่มีพลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่
พล.ต.ฤทธี กล่าวว่า โดยจะดำเนินการจัดตั้งศูนย์ไซเบอร์ในระดับกระทรวงกลาโหม โดยสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม โดย กรมเทคโนโลยี่สารสนเทศและอวกาศของกระทรวงกลาโหม.(ทสอ.กห.)ภายในปีงบประมาณ 2560 โดยจะเชื่อมโยงกับ การตั้ง ศูนย์Cyber ของ บก.ทัพไทย และ3เหล่าทัพ โดยมีขอบเขตอำนาจหน้าที่ ในการประสานนโยบายไซเบอร์กับระดับชาติ รวมทั้งรับผิดชอบด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ และปฏิบัติงานด้านไซเบอร์ในระดับยุทธศาสตร์ของกระทรวงกลาโหมในภาพรวม.