"สมาคมนักข่าวฯ" ยื่น"สปท."ถอน"กม.คุมสื่อ"พรุ่งนี้
"สมาคมนักข่าวฯ" ยื่น"สปท."ถอน"ร่างกม.คุมสื่อ" พรุ่งนี้ ชี้ ยังวางใจไม่ได้ แม้ "กมธ.สื่อ" ยอมตัด ปม ใบอนุญาต-บทลงโทษ แต่วิธีคิดยังจ้องคุมการทำงานตั้งแต่ต้น
30 เ.ม.ย.60 นายปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร โฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประะเทศ (สปท.) ยอมตัดบทบัญญัติเกี่ยวกับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพออก แต่ยังคงเนื้อหาให้มีตัวแทนภาครัฐในสภาวิชาชีพฯ ก่อนการประชุม สปท. เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ... ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ ว่า องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ยังคงไว้วางใจไม่ได้ว่าการยอมตัดเรื่องผู้ประกอบวิชาชีพออกแล้วมีบทบัญญัติใดมารองรับเพื่อให้มีสภาพบังคับและมีบทลงโทษ เพราะวิธีคิดของกมธ.ชุดนี้มีเจตนาที่จะควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนมาตั้งแต่ต้น ด้วยการนำร่างฯ ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มาบิดเบือนเจตนารมณ์จนเกิดการต่อต้านจากสื่อมวลชนและประชาชนมากขึ้น และประธานกมธ.ยังไปกล่าวอ้างว่ามีตัวแทนองค์กรสื่อสนับสนุนให้ออกใบอนุญาตซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและยังพูดกลับไปกลับมาตลอด
โฆษกสมาคมนักข่าวฯ กล่าวอีกว่า แม้จะตัดบทบัญัติดังกล่าวออกไป แต่โครงสร้างของกฎหมายก็ยังผิดหลักการที่ยังคงให้มีตัวแทนภาครัฐอยู่ในสภาวิชาชีพฯ ไม่ว่าจะมีกี่คนหรือกี่วาระ ก็เท่ากับว่ารัฐยังคงมีบทบาทในการกำกับควบคุมการทำงานของสื่อมวลชนอยู่ดี และจะลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชนได้เหมือนเดิม ส่วนที่อ้างถึงความจำเป็นของตัวแทนภาครัฐนั้นก็เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะในสภาวิชาชีพอื่นเช่น สภาทนายความ แพทยสภา ที่ กมธ.ชุดนี้ยกมากล่าวอ้าง ก็ไม่มีตัวแทนภาครัฐในสภาวิชาชีพฯดัวกล่าวแต่อย่างใด โดยเฉพาะสื่อมวลชนเป็นวิชาชีพที่ต้องมีอิสระและเสรีภาพรองรับในการทำหน้าที่ จึงไม่มีความจำเป็นที่ตัวแทนรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนในคำนิยามของสื่อมวลชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนก็ยังกว้างแบบครอบจักรวาลรุกล้ำไปถึง สื่อดิจิทัล ที่มีรายได้ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม หมายความว่า นอกจากสื่อหลักอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์แล้ว สื่อออนไลน์ ทั้ง เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ อินสตาแกรม ฯ ที่มารายได้ ก็ต้องอยู่ในการควบคุมของกฎหมายฉบับนี้
"องค์กรวิชาชีพสื่อพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการปฏิรูปสื่อเพื่อให้มีกฎหมายรองรับกระบวนการพิจารณาด้านจริยธรรมที่มีสื่อมวลชนและสังคมกำกับโดยไม่มีตัวแทนภาครัฐ จึงเรียกร้องให้ถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไปก่อนแล้วดำเนินการตาม ม.77 ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่บัญญัติว่าก่อนการออกกฎหมายทุกฉบับรัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างรอบด้านอย่างเป็นระบบ ในเมื่อผู้เกี่ยวข้องส่งเสียงท้วงติงมากมายหากยังดันทุรังต่อไปยิ่งจะส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างรุนแรงแน่นอน ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ ทางตัวแทนสมาคมนักข่าวฯ จะเดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท.คนที่1 เพื่อให้ถอนร่างฯออกไปก่อน และจะรณรงค์คัดค้านร่างกฎหมายควบคุมสื่อมวลชนและประชาชนอย่างถึงที่สุด" โฆษกสมาคมนักข่าว กล่าว