อุดช่องฮั้ว เลือก ส.ว. ห้ามบอกยอดผู้สมัคร-แบ่งสายเลือกไขว้
"กรธ." ผุดไอเดียกันฮั้วเลือกส.ว. ห้ามบอกยอดผู้สมัคร จนกว่าจะปิดรับสมัคร-แบ่ง 4สายให้เลือกไขว้
17 ต.ค. 60 - นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงความคืบหน้าต่อการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ กรธ. จัดทำแล้วเสร็จเป็นเบื้องต้น ว่า สาระสำคัญ คือ การได้มาซึ่ง ส.ว. ทั้ง 250 คน จะเป็นการเลือกกันเองของผู้ที่สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็น ส.ว. ทั้ง 20 กลุ่ม และแบ่งการเลือกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ โดยการสมัครนั้นจะเริ่มที่ระดับอำเภอ โดยไม่มีการจำกัดจำนวนผู้สมัคร แต่จะจำกัดให้ผู้สมัคร ลงสมัครได้เพียงกลุ่มเดียว และอำเภอเดียวเท่านั้น โดยเมื่อสมัครแล้วจะไม่มีสิทธิถอนการสมัครได้ กรณีที่ผู้ที่ต้องการสมัครส.ว. แต่มีคุณสมบัติที่ตรงกับหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มสตรี กลุ่มผู้สูงอายุ และเป็นประเด็นที่โต้เถียง ผู้สมัครฯ สามารถลงสมัครในกลุ่มที่ 20 อื่นๆ ได้ ทั้งนี้ในร่างกฎหมาย จะมีข้อห้ามให้เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือ กกต. เปิดเผยจำนวนผู้สมัคร ส.ว. แต่ละกลุ่มจนกว่าจะมีการปิดรับสมัคร เพื่อป้องกันการนำไปวิเคราะห์เพื่อให้เกิดความได้เปรียบของการลงคะแนนเลือกกันเอง
นายนรชิต กล่าวถึงขั้นตอนการเลือกกันเองแต่ละระดับด้วยว่า จะใช้กติกาเดียวกัน คือ ให้ผู้สมัครในกลุ่มเลือกกันเอง เพื่อหาผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 5 อันดับเป็นตัวแทนของกลุ่ม จากนั้นให้ผู้ได้รับเลือกแต่ละกลุ่ม ลงคะแนนเลือกผู้สมัครต่างกลุ่ม ทั้งนี้เพื่อป้องกันการฮั้ว และเพิ่มความไม่แน่นอนว่ากลุ่มใดจะได้เลือกผู้สมัครกลุ่มที่ต้องการหรือไม่ จะมีกติกาให้จับฉลากแบ่งสายเป็น 4 สายๆ ละ 5 กลุ่ม และผู้สมัคร 1 คน มีสิทธิ์ลงคะแนนได้ 2 คน ซึ่งไม่มีข้อห้ามที่ผู้สมัครจะเลือกตัวเองก็ได้ ดังนั้นในระดับอำเภอจะมีตัวแทนที่ผ่านไปเลือกระดับจังหวัด กลุ่มละ 3 คน ส่วนกรณีที่อาจมีความเป็นไปได้ที่บางกลุ่มมีผู้สมัครไม่ครบ 5 คน จะได้สิทธิเข้ารอบถัดไปทันที
นายนรชิต กลาวอีกว่า ขณะที่ระดับจังหวัดและระดับประเทศจะใช้วิธีเลือกลักษณะดังกล่าวเช่นกัน ส่วนกรณีที่ผู้สมัครแต่ละกลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุดเท่ากัน จะใช้วิธีการจับฉลากเพื่อให้ตัวแทนของกลุ่มเข้ารอบต่อไป ทั้งนี้คาดว่าการเลือกกันเองของ ส.ว. จะได้ข้อสรุปและประกาศผลผู้ได้รับเลือก ภายใน 52 วันนับจากวันประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกส.ว.
"สำหรับครั้งแรกของการได้มาซึ่ง ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้คัดเลือก ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาที่คสช. แต่งตั้ง กรธ. กำหนดรายละเอียดไว้ในบทเฉพาะกาล โดยสาระสำคัญ คือ ต้องผ่านกระบวนการรับสมัคร และเลือกกันเองตามเนื้อหาที่ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.กำหนด ซึ่งเป็นบทบังคับให้ส.ว.ที่คสช.จะเลือกนั้นเป็นตัวแทนที่มาจาก 20 กลุ่มนั้นด้วย" นายนรชิต กล่าว.