ข่าว

"โฆษกกรธ." รับ คำสั่งคสช.แก้ "พ.ร.ป.พรรค" เข้มกว่าเดิม

"โฆษกกรธ." รับ คำสั่งคสช.แก้ "พ.ร.ป.พรรค" เข้มกว่าเดิม

23 ธ.ค. 2560

"อุดม" ยอมรับ คำสั่ง คสช.แก้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง เขียนเข้ม เพื่อปฏิบัติชัดเจน เชื่อคลายกังวลนักการเมืองได้

          เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2560 -- นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เชื่อว่าคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560  เพื่อแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง  พ.ศ.2560 จะแก้ไขปัญหาตามข้อกังวลของพรรคการเมือง ที่ไม่สามารถทำกิจกรรมใดๆ ตามกฎหมายได้ระหว่างที่คสช. ยังคงมีคำสั่งห้ามทำกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวทางการเมือง ส่วนกรณีที่คำสั่งดังกล่าวระบุห้วงเวลาที่ให้พรรคดำเนินกิจกรรมได้ ซึ่งกำหนดไว้เป็นภายหลังวันที่  1 เม.ย. 61 นั้น ตนเข้าใจว่า คสช. คงพิจารณาถึงปัจจัยและเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อยู่ระหว่างพิจารณาในชั้นกรรมาธิการฯ ที่ในช่วงเดือนดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับ ส่วนเนื้อหาที่คสช. แก้ไขและถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการปรับที่เข้มข้นกว่า พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับที่กรธ.จัดทำ และ สนช. กลั่นกรองนั้น โดยเฉพาะประเด็น การคงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคเฉพาะบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 24 ส่วนบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามให้พ้นไปโดยไม่ต้องรอการสรรหาใหม่นั้น ยอมรับว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้ทุกคนทำตาม โดยไม่ต้องการให้คนที่ไม่มีคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามมีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง แม้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ก่อนการแก้ไขจะไม่ระบุถ้อยคำดังกล่าวแต่เป็นแนวทางปฏิบัติที่ตรงกัน

          นายอุดม กล่าวด้วยว่าส่วนรายละเอียดที่ให้ผู้ที่ต้องการยืนยันเป็นสมาชิกพรรคเดิมต้องส่งหนังสือพร้อมหลักฐานการมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม มายังพรรคการเมืองนั้น ไม่ใช่เพิ่มภาระเกินจำเป็นให้กับประชาชน เพราะพรรคการเมืองสามารถติดต่อไปยังสมาชิกพรรคการเมืองของตนเองได้ ทั้งนี้การยืนยันดังกล่าวต้องทำภายใต้แบบฟอร์มที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะกำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกันกับการลงทะเบียนของกกต.   ขณะที่ประเด็นทุนประเดิมจำนวน 1 ล้านบาทของพรรคการเมืองที่คำสั่ง คสช. ตัดสิทธิกันทรัยพ์สินหรือเงินของพรรคที่มีอยู่เดิมเป็นทุนประเดิมเริ่มต้นนั้น เข้าใจว่า เพื่อให้ทุนประเดิมของพรรคเป็นเงินที่ได้จากการบริหารของพรรคการเมืองที่ผ่านการลงขันของผู้ร่วมก่อตั้งพรรคการเมือง รายละ ไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท และไม่เกิน 50,000 บาท และเพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกันระหว่างพรรคเก่าและพรรคที่เตรียมจัดตั้งขึ้นใหม่.