"จรัญ" แจงเหตุ ศาลไฟเขียวต่ออายุ ป.ป.ช.
"จรัญ ภักดีธนากุล" แจงตีความ ป.ป.ช. ไม่รีเซ็ต ป.ป.ช. โบ้ย รธน. ให้อำนาจ สนช. และไม่เขียนห้ามให้ชัดเอง ต้องรับรองสิทธิที่เคยเข้ามาโดยถูกต้อง
นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์รายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์ ถึงการวินิจฉัยให้ ร่าง พ.ร.ป. ป.ป.ช. สามารถต่ออายุ ป.ป.ช. ได้ ซึ่งอาจจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญว่า เรื่องนี้ผ่านกระบวนการถกเถียงกันสามสี่รอบ และได้สืบค้นสอบถามถึงเหตุผลของฝ่ายต่างๆที่เห็นขัดแย้งและลงมติเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จะบอกว่าเอากฎหมายลูกไปฆ่ากฎหมายแม่ไม่ตรงทีเดียว เพราะรัฐธรรมนูญเองไปเขียนยกเว้นไว้ว่าการดำรงตำแหน่งของคนเดิม จะเป็นอย่างไรให้เป็นไปตามกฎหมายลูก จึงไม่ใช่การเอากฎหมายลูกไปฆ่ากฎหมายแม่ แต่ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้เท่านั้นที่มอบให้ สนช. ไปออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เขาไม่ได้กำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของคนเก่า แต่ไปกำหนดเพิ่มสำหรับคนที่จะเข้ามาใหม่ ส่วนคนที่เป็นมาก่อนก็ให้เป็นไปตามกฎหมายลูกที่สนช. จะพิจารณา
นายจรัญกล่าวต่อว่า คนเก่าเข้ามาโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว รัฐธรรมนูญใหม่ไปเพิ่มคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามและไม่เขียนให้ชัดว่าให้ใช้บังคับทันที ย้อนหลังกับคนที่เข้ามาตามรัฐธรรมนูญที่ถูกต้อง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเลยเห็นตรงกันว่าส่วนที่เป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ที่เคยมีมาแต่เดิม ต้องใช้บังคับเขา คนที่เป็นข้าราชการการเมือง ต้องหลุด แต่คนที่เคยเป็นมาในอดีต รธน. 2550 ไม่ได้ห้ามเขา และต้องการให้คนที่รู้เรื่องราวสันทัดกรณีเข้ามาเป็น พอ รธน. ใหม่มาเขียนเช่นนี้่ มันไปเขียนตัดสิทธิตัดสถานะของคนที่เคยมีอยู่โดยชอบของรธน. เดิม หากต้องการให้เกิดผลเช่นนั้นต้องเขียนใน รธน. ถ้าไม่เขียน เรื่องข้อห้ามคุณสมบัติใหม่ ไม่ได้เขียนให้ไปใช้ตัดสิทธิ และเปิดให้ไปเขียนในกม.ลูก ศาลรธน. ก็เคยวินิจฉัยว่าถ้ากฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้ใช้ให้ตัดสิทธิทันที กฎหมายก็ใช้ได้ ลักษณะต้องห้ามใหม่ๆก็เช่นกัน
นายจรัญระบุอีกว่า ปัญหาคดีนี้มีสองข้อ คือ ต้องไม่เป็นและไม่เคยเป็นข้าราชการการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระอื่น คำว่า "เป็น" มีแล้วตาม รธน. เดิม ยกเว้นเฉพาะกรณีที่เคยเป็นมาก่อน เขาไม่ได้ผิดอะไร พอวิเคราะห์จึงเห็นว่า ที่เคยเป็นและไปตัดสิทธิเขาส่วนนี้ไม่ขัด รธน. การเขียนยกเว้น ไปยกเว้นการบังคับใช้บางบทบัญญัติ เรายืนยันหลักการนี้ว่าการใช้ในช่วงเปลี่ยนผ่านจะไปทำลายรากฐานของประเทศไม่ได้ แต่ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยคือ การที่ไปเขียนว่าการไม่เอาลักษณะต้องห้ามที่สร้างขึ้นมาใหม่ ย้อนมาใช้ตัดสถานะที่ชอบธรรมที่เคยได้รับตาม รธน. 2550 ไม่ได้ย้อนแย้งหรือทำลายบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญใหม่ จึงไม่ควรเอาลักษณะต้องห้ามใหม่ๆไปตัดสิธิที่ได้รับโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญเดิม
"คุณจะเอาของใหม่ไปตัดสิทธิที่ได้มาโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เว้นแต่รัฐธรรมนูญใหม่ต้องเขียนเอง แต่นี่รัฐธรรมนูญใหม่ก็ไม่ได้เขียน และ สนช. ก็ไปเขียนรับรองให้" นายจรัญกล่าว
เมื่อถามถึงสององค์กรอย่าง กกต. และ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ถูกตัดสิทธิ เหตุใดจึงเขียนต่างกัน นายจรัญกล่าวว่า "น่าเสียดายที่ร่างกฎหมายสองฉบับนั้นไม่ได้เข้ามาสู่การพิจารณาของศาล"
นายจรัญกล่าวว่า คนเขียนท่านใช้บ๋อย ให้ สนช. ไปเขียนแทนท่าน เราจะไปตำหนิ สนช. ได้อย่างไร เราถึงอภิปรายว่าทำไมไม่เขียนไว้ในบทเฉพาะกาล มีทางเดียวที่จะบอกว่าขัด คือเขียนซะเกินเหตุเกินผล แต่ถ้าไปเขียนรับรองสถานะเดิม ไม่เอาของสร้างใหม่ไปตัดสิทธิเขาอย่างนี้ไม่ผิด แต่โดยเหตุผลควรรับรองสิทธิเขาด้วยซ้ำไป
--------