งานเข้า"กก.สอบประวัติ ว่าที่กกต." หลัง5ใน7ถูกตั้งคำถามเยอะ
"เจตน์" รับ 5ชื่อเสนอเป็นกกต. รอบสอง ถูกตั้งคำถามเยอะ ชี้ "กก.สรรหาฯ" มีเวลาเลือกน้อย โยนเป็นงานหนัก ให้ "กก.สอบประวัติฯ" แพลมอาจโหวตผ่านแค่บางคน
6 พฤษภาคม 2561 -- นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวถึงการประชุม สนช. วันที่ 10 พฤษภาคม ว่า มีวาระพิจารณารายชื่อของบุคคลที่ได้รับการเสนอให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 7 คน
ตามที่คณะกรรมการสรรหา กกต. ที่มีนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการสรรหาฯ เสนอรายชื่อ 5 คนและจากตัวแทนของที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกา อีก 2 คน โดยในการพิจารณาดังกล่าวจะเป็นเพียงการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ขึ้นมาตรวจสอบประวัติเชิงลึก ของทั้ง 7 คน ก่อนที่จะนำเสนอรายงานเพื่อให้ที่ประชุมสนช. พิจารณาลงมติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นไม่เกินต้นเดือนสิงหาคม นี้
นพ.เจตน์ กล่าวว่า สำหรับรายชื่อที่มาจากการสรรหาบุคคลที่เข้าสมัครรอบล่าสุด ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีอย่างน้อย 2 คนใน5 คน ที่เข้าสมัครเข้ารับการสรรหาเป็น กกต. รอบแรก แต่ไม่ผ่านขั้นตอนตรวจสอบคุณสมบัติ นั้น เป็นประเด็นที่ สนช. สามารถตั้งคำถาม หรือมีข้อสงสัยได้ แต่ในวาระพิจารณา วันที่ 10 พฤษภาคมนั้น ไม่เหมาะสมที่จะอภิปราย หรือซักถามใดๆ เพราะคณะกรรมการสรรหาฯ ไม่ได้ร่วมประชุม แม้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ฐานะหนึ่งในกรรมการสรรหาจะอยู่ร่วมการประชุม แต่ถือเป็นดุลยพินิจที่ประธานสนช. จะปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานการประชุม ในช่วงวาระพิจารณาหรือไม่ก็ได้
"คำถามที่สมาชิกสงสัย อาจต้องนำไปสอบถามกันในชั้นตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ว่าเหตุใดที่ผู้ที่ไม่ผ่านการเลือกรอบแรก ทำไมถึงได้รับเลือกในรอบล่าสุดนี้ หากเป็นกรณีที่ผู้สมัครกลับไปแก้ไขคุณสมบัติตัวเอง เช่น กรณีถือครองหุ้น ที่เขาขายหรือมอบให้บุคคลอื่นครอบครองไปแล้ว อาจจะถือว่าผ่านคุณสมบัติก็ได้ ขณะที่ตำแหน่งทางราชการที่รอบแรกไม่สามารถเทียบเคียงได้กับตำแหน่งอธิบดีหรือเทียบเท่า แต่รอบนี้สามารถนำมาเทียบเคียงกัน เช่น ตำแหน่งเอกอัครราชทูต นั้นเป็นประเด็นที่คณะกรรมการสรรหาฯ ต้องชี้แจง อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าการตีความของคณะกรรมการสรรหาต้องเป็นไปภายใต้กรอบกฎหมาย" นพ.เจตน์ กล่าว
นพ.เจตน์ กล่าวตอบคำถามนั้นว่า ไม่คิดว่าเป็นไปตามกระแสข่าว เพราะการคัดเลือกบุคคลให้เป็น กกต. รอบล่าสุด ทางคณะกรรมการสรรหา ต้องใช้ความรอบคอบมากยิ่งขึ้น แต่ตนยอมรับว่าการทำงานของคณะกรรมการสรรหาฯ มีข้อจำกัดด้วยเงื่อนไขด้านเวลา ซึ่งการตรวจสอบด้านประวัติและพฤติกรรมเชิงลึก ถือเป็นภาระหนักที่ต้องทำให้รัดกุมขึ้น อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าการเลือก กกต. ครั้งนี้ อาจมีผลเป็นไปในทิศทางที่ลงมติเห็นชอบบางคนและบางคนไม่เห็นชอบ เพื่อให้บุคคลที่ผ่านการลงมติ เข้าไปเตรียมพร้อมและสร้างความคุ้นเคยต่อระบบการจัดการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น แต่กรณีที่ สนช. จะลงมติไปในทางใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบประวัติฯ และการนำรายงานการตรวจสอบให้ สนช. ได้ไตร่ตรองก่อนลงมติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับบุคคลที่คณะกรรมการสรรหาฯ คัดเลือกและเตรียมเข้าสู่วาระประชุม สนช. จำนวน 5 คน ประกอบด้วย 1.นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ นักวิชาการสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, 2.นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 3.นายอิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา และกรุงเฮก ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์, 4.นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด และ 5.นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)
ส่วนบุคคลที่ได้รับการเสนอให้แต่งตั้งเป็น กกต. อีก 2 คน ที่มาจากสายศาล นั้น มติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ยืนยันส่ง ชื่อ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และนายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา.