ข่าว

ครป.ประณามมือระเบิดยะลา-โต้เดือดกอ.รมน.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ครป.ประณามคนร้ายลอบวางระเบิดยะลา สวนกอ.รมน.หลงประเด็นบี้เอ็นจีโอแสดงจุดยืนต้านการใช้ความรุนแรง เย้ย 15 ปีแก้ปัญหาไม่ได้

 

23 สิงหาคม 2562 นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า จากกรณีคนร้ายลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้า เสาสัญญาณโทรศัพท์และตู้เอทีเอ็ม ในเขตพื้นที่ 4 อำเภอ จังหวัดยะลา นั้น 

 

 

ครป.ขอประณามการใช้ความรุนแรงดังกล่าวซึ่งทำให้ประชาชนทั่วไปได้รับผลกระทบจำนวนมาก การสร้างสถานการณ์ความรุนแรงไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้นอกจากการแก้ไขปัญหาด้วยทางออกทางการเมือง

 

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐใน กอ.รมน.ภาค 4 คงเข้าใจผิดที่ออกมาเรียกร้องให้นักสิทธิมนุษยชนออกมาเคลื่อนไหว เพราะพวกเขาคัดค้านความรุนแรงและรณรงค์เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว แต่หน้าที่รักษาความสงบเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง ในการใช้อำนาจนั้นแก้ปัญหาอาชญากรรมตามกฎหมายและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของทุกคน ส่วนองค์กรสิทธิมนุษยชนมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีอำนาจว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวโดยชอบหรือไม่ ใช้อำนาจเกินขอบเขตหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนหรือไม่|

 

รัฐบาลและ กอ.รมน.ภาค 4 ใช้อำนาจแก้ไขปัญหามากว่า 15 ปี ทำไมแก้ไขปัญหาความรุนแรงไม่ได้ ยิ่งปราบก็ยิ่งมากขึ้น ไม่รู้ทำงานกันอย่างไร ใครแนะนำทางออกในการแก้ไขก็ไม่ฟัง ฝ่ายความมั่นคงในชายแดนภาคใต้คงจะอับจนหนทางแก้ไขแล้วจึงออกมาโยนภาระให้คนอื่นเข้าไปแก้ไขปัญหา ทั้งที่รัฐบาลมีงบประมาณใช้แก้ไขปัญหาปีละนับหมื่นล้านบาท เอาไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ต้องมีการตรวจสอบ ทั้งกำลังคน กำลังอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมหาศาล มีกฎหมายให้อำนาจมากมายหลายฉบับ หากแก้ไขปัญหาความรุนแรงและอาชญากรรมไม่ได้ ก็ควรสั่งย้าย สั่งปลดผู้มีอำนาจที่รับผิดชอบให้หมด

 

สงสัยว่า ในความไม่สงบมีงบประมาณนับหมื่นล้านบาท ได้ใช้ทำอะไรบ้าง ยิ่งมีสถานการณ์ยิ่งได้ใช้งบประมาณหรือไม่ เพราะในสงครามความขัดแย้ง ย่อมมีผู้ได้รับประโยชน์อยู่เสมอจริงๆ แล้ว ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความซับซ้อนเชิงอำนาจ แนวคิดการแบ่งแยกดินแดนนั้นเป็นเพียงประเด็นที่บางกลุ่มคิดว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาพื้นฐานในพื้นที่นั่นได้ แต่เราก็ทราบกันดีว่า ถึงแม้อนาคตสมมุติว่าถึงจะมีการแยกตัวเป็นรัฐอิสระก็ไม่สามารถลดความขัดแย้งได้ เพราะหลังการแยกตัวมาเป็นรัฐอิสระก็จะแปรรูปมาเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มมุสลิมด้วยกันเอง

 

ด้วยเหตุที่มีชนชั้นปกครองที่เกิดใหม่แสวงประโยชน์และอำนาจให้แก่ตนและพวกของตน ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนคงต้องแก้ที่กลุ่มชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครองที่ครอบงำแสวงประโยชน์อยู่ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มมุสลิมด้วยกันหรือไม่ก็ตาม หลายคนเห็นว่าการก่อการร้ายหรือความไม่สงบระยะหลังส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ต้องการเบี่ยงเบนความสนใจจากการกระทำอาชญากรรมในลักษณะองค์กรจัดตั้งหรือการกระทำอาชญากรรมโดยองค์กรอาชญากรรมที่มีชนชั้นนำอยู่เบื้องหลังและมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเครือข่าย

 

เราเพิ่งประสบความสำเร็จเพียงน้อยนิดจากการปราบปรามการค้ามนุษย์ที่มีนายทหารระดับพลโทอยู่ในกลุ่มผู้กระทำผิด แม้กระนั้น พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าพนักงานสอบสวนต้องหนีตายโดยถูกข่มขู่จากการทำคดีค้ามนุษย์โรฮีนจาและถูกย้ายลงไปทำงานที่ภาคใต้ซึ่งคาดการณ์ว่าอาจต้องการใช้การก่อการร้ายในภาคใต้สวมรอยสังหารก็เป็นได้จนเขาต้องขอลี้ภัยไปต่างประเทศ

 

สำหรับเหตุการณ์ที่ยะลา กองทัพภาคที่ 4 และกอ.รมน. ควรตรวจสอบและหาผู้รับผิดชอบให้ได้ว่าใครทำและอยู่เบื้องหลัง ใช่ฝีมือของกลุ่มแยกดินแดนกลุ่มใดหรือไม่ หรือเป็น untouchable person ในพื้นที่หรือไม่ จึงได้แต่ออกมาในรูปการประณามเหตุการณ์เท่านั้น ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรในการแก้ไขปัญหานี้ ต้องจับคนร้ายและผู้บงการให้ได้

 

ปัญหาการสร้างเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ บางส่วนเป็นการใช้กลุ่มอุดมการณ์มาบังไพรให้ตน สิ่งที่ผู้มีอำนาจควรทบทวนในห้วงเวลานี้คือ

 

บรรดากฎหมายพิเศษที่มาแทนที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้นไม่สามารถลดหรือบรรเทาปัญหาได้จริง การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยมาซักถามได้ถึง 30 วัน โดยไม่ต้องตั้งข้อหา รวมทั้งไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าพวกเขากระทำความผิด หากพวกเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ จะเป็นการเพิ่มปัญหาให้ขยายวงกว้างออกไปมากขึ้น รวมทั้งการใช้บุคลากรที่ไม่ได้รับการฝึกเพื่อทำการสืบสวนสอบสวน ได้เพิ่มความขัดแย้งกับประชาชนผู้บริสุทธิ์มาโดยตลอด เมื่อขาดทักษะข้างต้น เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายภารกิจมักจะใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่ตนสงสัยเพื่อให้รับสารภาพ

 

มาตรการและการบริหารความขัดแย้งไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ได้ส่งข้าราชการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษไปปฏิบัติหน้าที่ในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ต้องใช้ทักษะอาชีพหรือความเชี่ยวชาญสูง รวมทั้งการสับเปลี่ยนผู้บริหารบ่อยๆ จนทำให้การบริหารจัดการในพื้นที่แปรเปลี่ยนตามตัวบุคคลบ่อยๆ จนเกิดผลกระทบทางลบ ทั้งสร้างความบาดหมางเพิ่มขึ้นและทำให้การแก้ไขปัญหาขาดเอกภาพและมีความสับสน

 

ไม่ได้ใช้มาตรการทางสังคมเพื่อแก้ไขที่มูลเหตุของปัญหาต่างๆ ได้แก่ ชาวไทยมุสลิมไม่สามารถเข้าเรียนตามการศึกษาขั้นพื้นฐานเพราะสถานศึกษาไม่ใช้ภาษาถิ่นเป็นภาษาหลักในการเรียน รวมทั้งมีนักเรียนจำนวนมากต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ทำให้พลเมืองกลุ่มนี้ต้องทำงานในฐานะแรงงานไร้ฝีมือเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่สถาบันครอบครัวที่ไม่ได้รับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีพอ การที่พลเมืองส่วนหนึ่งต้องแต่งงานตั้งแต่ยังอายุไม่ถึง 18 ปี ทำให้ความสามารถในการเลี้ยงดูครอบครัวต่ำมาก ขาดทักษะการดำเนินชีวิต ทักษะการจัดการปัญหาและทักษะพ่อแม่ เป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้พ่อแม่ไม่สามารถชี้แนะแนวทางชีวิตให้แก่ลูกและเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่นก็จะยิ่งเหินห่างถูกละเลยมากขึ้น เป็นเหตุให้ถูกครอบงำชักจูงในทางร้ายได้ง่าย โดยเฉพาะการข้ามพรมแดนไปยังรัฐตอนเหนือของมาเลเซียเพื่อแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า จึงสุ่มเสี่ยงที่จะถูกครอบงำชักจูงโดยผู้นำทางการเมืองและศาสนาบางกลุ่มที่แสวงประโยชน์การเมืองและอำนาจเศรษฐกิจ

 

ไม่ได้ใช้มาตรการทางการศึกษาเพื่อเป็นทางเลือกในการเข้าเรียนในระบบโรงเรียน เพื่อให้เยาวชนเกิดความเข้าใจคำว่า "บรรลุศาสนภาวะ" อย่างถ้องแท้และเข้าใจ เพราะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสมรสตามหลัก Shariah Law การเผยแพร่การฝึกทักษะการดำเนินชีวิต ทักษะการจัดการปัญหา ทักษะในการขอความช่วยเหลือและทักษะพ่อแม่ในการส่งเสริมสถาบันครอบครัวเพียงพอหรือไม่อย่างไรหรือไม่เลย

 

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่รัฐควรจำแนกกลุ่มก่อความไม่สงบที่กระทำเพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง ออกจากกลุ่มที่กระทำเพื่อคุ้มครองธุรกิจผิดกฎหมายต่างๆ ออกจากกัน โดยเฉพาะการสืบสวน-สอบสวนจับกุมข้าราชการที่เป็นเครือข่ายขององค์กรอาชญากรรมมาดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. ๒๕๕๖ และพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นต้น

 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ