คอลัมนิสต์

พลังประชารัฐ กับคำว่า พรรคทหาร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เริ่มเปิดตัวชัดเจนมากขึ้นเมื่อพล.อ. ประวิตร เดินทางเข้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ พร้อมไปกับคำว่าพรรคทหาร

    โอภาส บุญล้อม 

     เริ่มเปิดตัวชัดเจนมากขึ้น กับการที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ‘พีใหญ่’ อดีต คสช. เดินทางเข้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐโดยมี ส.ส. ของพรรคต้อนรับอย่างอบอุ่น 

    และ พล.อ. ประวิตร บอกว่าพรรคพลังประชารัฐไม่ใช่พรรคทหาร และไม่มีการชักชวน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาเป็นสมาชิกพรรค ปล่อยให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจเอง พร้อมยิ้มรับว่าตนเองเป็นนักการเมืองเต็มตัวแล้ว

     มีตอนหนึ่ง ที่ พล.อ. ประวิตร แซวนักข่าวว่า “อย่าบัง ส.ส. ของผม” แม้จะเป็นแค่การพูดเล่น แต่คำว่า “ส.ส.ของผม”ก็ทำให้คนนึกไปได้ว่า  คนที่่“บิ๊ก”ในพรรคพลังประชารัฐอย่างแท้จริง ก็คือ กลุ่มอดีตนายทหาร โดยมีอำนาจเหนือนักการเมืองกลุ่มก๊วนต่างๆในพรรคนี้

     และทันทีที่ พล.อ. ประวิตร เข้าพรรคพลังประชารัฐวันแรก ก็แสดงถึงพลังที่,มีให้เห็นกับข่าวที่ว่า พล.อ. ประวิตร บี้กลางที่ประชุมพรรค ให้ 5 รัฐมนตรีของพรรรคพลังประชารัฐ

     คือ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ,นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ลาออกจาก ส.ส. บัญชีรายชื่อ เพื่อทำหน้าที่รัฐมนตรีให้ดีที่สุด และแก้ปัญหาเสียงปริ่มน้ำในสภาที่ีรัฐมนตรีติดภารกิจไม่สามารถเข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้

   อย่างไรก็ตามสำหรับพรรคพลังประชารัฐ จะเป็น“พรรคทหาร ” อย่างที่มีการพูดถึงกันหรือไม่ ต้องดูก่อนว่าองค์ประกอบของ “พรรคทหาร” คืออะไร

    เมื่อกล่าวถึง“พรรคทหาร”  ก็ต้องนึกถึงพรรคต้นแบบอย่าง “พรรคเสรีมนังคศิลา” โดยพรรคเสรีมนังคศิลา  กรรมการบริหารพรรค เต็มไปด้วยทหาร และหัวหน้าพรรคก็คือ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม 

    พรรคเสรีมนังคศิลา  ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการเลือกตั้งในปี 2500  เป็นพรรคสืบทอดอำนาจของจอมพลแปลก นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และการเลือกตั้งปี 2500 ถือว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรกที่สุด โกงสารพัดวิธี ผลการเลือกตั้งออกมาพรรคเสรีมนังคศิลา ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. มากที่สุด  แต่ผลการเลือกตั้งไม่เป็นที่ยอมรับ ประชาชนออกมาประท้วง จนจอมพลแปลก ยอมให้มีีการจัดการเลือกตั้งใหม่

   ส่วน“พรรคทหาร” อีกแบบหนึ่งคือพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์สนับสนุนให้ทหารปกครองประเทศ  ยกตัวอย่างในอดีต คือพรรคสามัคคีธรรม กรรมการบริหารพรรคไม่ได้เป็นทหาร เป็นพลเรือน แต่พรรคสามัคคีธรรมมุ่งสนับสนุนทหารกลุ่มหนึ่งที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ในปี 2534 ซึ่งก็คือ คณะ รสช. ซึ่งทำการรัฐประหารโดยนายทหาร จปร.รุ่น 5 

     สำหรับพรรคพลังประชารัฐ หากจะเป็นพรรคทหาร เทียบเคียงก็คล้ายกับพรรคสามัคคีธรรมมากกว่าพรรคเสรีมนังคศิลา  เพราะไม่ได้มีทหารไปอยู่พรรคนี้เต็มไปหมด กรรมการบริหารพรรคก็เป็นพลเรือน อย่างพรรคสามัคคีธรรม หัวหน้าพรรค ก็คือนายณรงค์ วงศ์วรรณ ซึ่งเป็นอดีตนักการเมืองเก่า และกรรมการบริหารพรรคก็เป็นนักการเมืองทั้งนั้น เพียงแต่ว่ามีทหารไปอยู่กับพรรคบ้างเพื่อสนับสนุนนายทหารคนสำคัญ และมีทหารคอยกำกับนโยบายพรรค

    แม้ว่าปัจจุบัน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ไม่ได้เอาตัวเองเป็นเนื้อเดียว กับพรรคพลังประชารัฐ เพราะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค และไม่มีตำแหน่งใดๆในพรรค แต่ตอนนี้ก็มีการเริ่มเปิดตัวให้เห็นแล้ว คือ การที่ พล.อ.ประวิตร เข้าดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคพลังประชารัฐ

   แต่การเป็น พรรคทหาร ไม่ใช่เรื่องดี เพราะจากประวัติศาสตร์บอกว่า เมื่อถึงเวลาสำคัญ  กองทัพจะดีดตัวออกจากพรรคการเมืองที่เรียกว่า พรรคทหาร

  และ พรรคทหาร ในอดีต ไม่มีพรรคใดประสบผลสำเร็จทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคเสรีมนังคศิลา ,พรรคสหประชาไทย หรือพรรคสามัคคีธรรม สุดท้ายพรรคการเมืองเหล่านี้ก็เป็นเพียงพรรคการเมืองเฉพาะกิจและต้องยุติบทบาททางการเมืองไปในที่สุด

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ