วช.นำทัพสื่อลงพื้นที่จ.ราชบุรีโชว์ความสำเร็จงานวิจัย"ชุมชนต้นแบบหัตถกรรมสิ่งทอ"ในกลุ่มพื้นที่ภาคกลาง
วช.นำทัพสื่อลงพื้นที่จ.ราชบุรีโชว์ความสำเร็จงานวิจัย"ชุมชนต้นแบบหัตถกรรมสิ่งทอ"ในกลุ่มพื้นที่ภาคกลาง
เมื่อวันที่ 22 ก.ค.63 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำโดยนางสาวสุกัญญา ธีรกูรณ์เลิศ ที่ปรึกษาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผศ.ดร.อริศร์ เทียนประเสริฐ ที่ปรึกษาโครงการวิจัย “การพัฒนาชุมชนต้นแบบในพื้นที่ภาคกลาง: กลุ่มหัตถกรรมสิ่งทอ” ผศ.ดร.วิทวัน จันทร และผู้บริหารด้านประชาสัมพันธ์ วช. ฯพร้อมคณะสื่อมวลชนกว่า 30 ชีวิตลงพื้นที่ดูงานการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านผ้าไทยและศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยหนังใหญ่วัดขนอน ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี หวังผลักดันไปสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างเต็มรูปแบบเพื่อสนองนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐากรากด้านนวัตกรรมของประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยกลุ่มหัตถกรรมสิ่งทอแก่ ดร.พีรยา สระมาลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ศึกษาวิจัยและพัฒนาต่อยอดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำเพื่อพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าให้มีคุณภาพ สามารถเพิ่มมูลค่าและช่องการตลาดส่งผลให้เศรษฐกิจของชุมชนให้ดีขึ้น
ผศ.ดร.อริศร์ เทียนประเสริฐ ที่ปรึกษาโครงการวิจัย“การพัฒนาชุมชนต้นแบบในพื้นที่ภาคกลาง: กลุ่มหัตถกรรมสิ่งทอ” ซึ่งได้ดำเนินการในพื้นที่ภาคกลาง ที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์มีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรมและประเพณีอันเป็นลักษณะเด่นของจังหวัดที่สืบทอดมาแต่โบราณกาล โดยนำองค์ความรู้ด้านการทอ การย้อม การออกแบบลวดลายมาพัฒนาให้การทอผ้าขาวม้าในกลุ่มหัตถกรรมสิ่งทอให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นจากเดิม สร้างอัตลักษณ์ของท้องถิ่น โดยเฉพาะจังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผ้าขาวม้าในระดับหัตถกรรม และอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ให้ได้
“วัตถุประสงค์ของโครงการนี้เป็นการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาต่อยอดเพื่อสร้างนวัตกรรมส่งเสริมหัตถกรรมสิ่งทอ เหตุที่เราเลือกจ.ราชบุรีก็เพราะมีหัตกรรมสิ่งทอจำนวนมาก มีทั้งในระบบอุตสาหกรรมที่เป็นโรงงานผลิตและที่ชุมชนทำกันเองด้วยกี่ทอผ้าทั่วไป ทำไมต้องเป็นผ้าขาวม้า ผ้าขาวม้าเป็นผ้าทอที่ง่าย ๆ และเป็นผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่มีรากทางประวัติศาสตร์ยาวนาน แต่ถามว่าปัจจุบันผ้าขาวม้ามีการพัฒนาต่อยอดในมิติต่าง ๆ มากน้อยแค่ไหน นี่คือจุดที่เราอยากนำนัวตกรรมหรือองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับสิ่งทอมาช่วยส่งเสริมให้ผ้าขาวม้ามีคุณภาพมากยิ่งขึ้น”
ผศ.ดร.อริศร์ เผยต่อว่า คณะผู้วิจัย ได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านผ้าขาวม้า โดยมีผลงานวิจัย ผลิตภัณฑ์จากโครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยส่งเสริมงานสร้างสรรค์ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน สนับสนุนผ้าทอไทยและระบบองค์รวม อันนับเป็นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่มีขีดความสามารถสร้างรายได้ในระดับสูงให้แก่ชุมชนด้วยคุณค่าทางอัตลักษณ์ที่งดงาม รวมถึงการสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ชาวชุมชนทำให้มีกำลังใจในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าขาวม้าทอมือให้คงอยู่เป็นมรดก แล้วยังเป็นจุดขายในด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี เพื่อนำมาสู่การเพิ่มรายได้ให้กับประชากรในท้องถิ่น และเป็นเวทีของการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมรายได้ผ่านการท่องเที่ยว และขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม
ที่ปรึกษาโครงการฯกล่าวยอมรับว่า ผ้าขาวม้าถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความทันสมัย และสามารถเพิ่มช่องทางการตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ โดยเน้นการสร้างลวดลายและสีสัน เพื่อเป็นอัตลักษณ์ของจ.ราชบุรี และมีความร่วมสมัยแบบสากล โดยการร่วมมือกับเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศในการพัฒนาลวดลายและสีสัน เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำการตลาดทั้งในและต่างประเทศและพัฒนาโครงสร้างและคุณภาพของเนื้อผ้าผ่านกระบวนการคัดเลือกเส้นใยและเทคนิคการทอ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและมีคุณภาพระดับสากล และในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือการแปรรูปสินค้าจากผ้าขาวม้า จะต้องคำนึงถึงการใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่าให้มีวัสดุเหลือใช้ให้น้อยที่สุด และนำวัสดุเหลือใช้มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน
ทั้งนี้ องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในการถ่ายทอด เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาวิธีการทอ การเลือกประเภทของเส้นใย เพื่อให้คุณภาพของเนื้อผ้าหนา และนุ่มกว่าเดิม ตลอดจนมีความยืดหยุ่น และการย้อมสีให้เหมาะสมกับลวดลายและเส้นใย ตลอดจนการออกแบบลายโดยศึกษาอัตลักษณ์ของท้องถิ่น และเพิ่มลวดลายที่มีความทันสมัย เพื่อสามารถนำมาผลิตสินค้าได้หลากหลายรูปแบบ และเหมาะกับกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ องค์ความรู้ที่นำมาดำเนินการถ่ายทอด
“จากประสบการณ์การทำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ถึงขั้นสู่การพัฒนาเศรษฐกิจต้องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะการขยายผลในเชิงธุรกิจ เพื่อให้สามารถไปต่อได้ การพัฒนาสิ่งทอ เป็นเรื่องที่ง่ายที่สุดของชุมชน เพราะเป็นอาชีพที่สอง รองจากการเกษตร ผ้าขาวม้าเป็นผ้าทอที่ทำได้ง่ายที่สุดและเป็นวิถีชีวิตของแม่บ้านในชนบท ราชบุรีเป็นจังหวัดที่มีสารตั้งต้นชั้นดี อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่รักษาอัตลักษณ์ของตัวเองถึง 8 ชาติพันธุ์ งานวิจัยได้เข้าไปอบรมสิ่งทอผ้าขาวม้าทั้งในด้านสี ลายผ้า และการออกแบบ รวมถึงพัฒนาคุณภาพและสามารถต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน สร้างรายได้แก่ชุมชน ทั้งนี้องค์ความรู้ต่าง ๆ สามารถถ่ายทอดไปยังชุมชนอื่น ๆ ได้ในอนาคต”ที่ปรึกษาโครงการฯคนเดิมกล่าวกับสื่อมวลชนระหว่างลงพื้นที่
ดร.อุดม สมพร ผู้อำนวยการจิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดโขลงสุวรรณคีรี ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมผ้าขาวม้าตั้งแต่อดีตมากว่า 200 ปี ตั้งแต่ชาวชาวไท-ยวน ที่อพยพมาจากเชียงแสนมาตั้งรกร้างอยู่ที่ราชบุรี พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จึงเป็นที่เก็บรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ ทางประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของชาวไท-ยวนโบราณมาไว้ในที่นี่เพื่อให้คนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ และรำลึกถึงสมัยอดีตไปพร้อม ๆ กัน
“ที่นี่มีผ้าขาวม้าเก่าแก่ที่เก็บสะสมไว้ทั้งหมด 200 กว่าผืน บางผืนมีอายุ 200 กว่าปีตั้งแต่เริ่มตั้งชุมชนที่นี่ ถามว่าตีเป็นมูลค่าเท่าไหร่คงตอบไม่ได้ เพราะคุณค่าไม่ได้วัดกันที่มูลค่าเชิงธุรกิจ อย่างบางผืนเขาตีราคาให้ 1 ล้านบาทก็มี”ดร.อุดมเผย พร้อมชี้ให้ดูผ้าขาวม้าที่กระทรวงพาณิชย์นำไปจัดแสดงโชว์ที่กรุงเทพฯ พร้อมวางเงินประกันไว้ให้ 1 ล้านบาทสำหรับผ้าขาวม้าผืนนี้
นางสาวสุกัญญา ธีรกูรณ์เลิศ ที่ปรึกษาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการพาคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมผลงานวิจัยเด่นในพื้นที่จ.ราชบุรีครั้งนี้เพื่อให้ต้องการสื่อมวลชนได้มาเห็นกับตาถึงความสำเร็จของงานวิจัยที่เกิดขึ้นเพื่อนำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สู่สาธารณชนให้ได้รับทราบต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาทางวช.ได้จัดทริปสื่อมวลชนสัญจรเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งการเผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนได้รับรู้รับทราบผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ก็จะช่วยให้งานวิจัยเชิงพื้นที่ออกไปสู่ภายนอกได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
“การประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยไปสู่สาธารณชนเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง หากทำเสร็จแล้วรับรู้กันอยู่ในแค่ชุมชนหรือผู้วิจัยเองทำเสร็จแล้วก็เก็บไว้ในลิ้นชักไม่นำออกมาเผยแพร่ก็จะไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยไปสู่ในวงกว้างโดยผ่านสื่อต่าง ๆ ก็จะทำให้ชุมชนอื่น ๆ มีโอกาสได้เห็น ได้รับรู้และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันในพื้นที่องตัวเองได้”ที่ปรึกษาวช.ย้ำทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นดังกล่าวจะมีพิธีส่งมอบผลงานโครงการ “การพัฒนาชุมชนต้นแบบในพื้นที่ภาคกลาง: กลุ่มหัตถกรรมสิ่งทอ” ระหว่าง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ จังหวัดราชบุรี พร้อมนำเสนอในนิทรรศการหัตถกรรมสิ่งทอจังหวัดราชบุรี ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020) ในวันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เวลา 15.00 น. ณ เวทีกลางชั้น 22 ศูนย์ประชุมและนิทรรศการ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร