ข่าว

จับตา 28 ก.ย. "บิ๊กตู่" จ่อถก ศบค. เปิดประเทศรับนทท.แบบพิเศษ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กระทรวงท่องเที่ยว-สาธารณสุข พร้อมแล้ว เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบพิเศษ ย้ำ มาตรการรัดกุม ไม่เสี่ยงโควิด-19 ระบาดระลอก 2

หลังจากที่ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย  แนวทางมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลาย ในการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV)  ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว คาดว่าเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ก็จะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ โดยมีมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรัดกุม มีข้อปฏิบัติก่อนการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง ,ทำประกันสุขภาพประกันโควิด-19 ตามข้อกำหนดของรัฐบาล ,แจ้งข้อมูลกับบริษัทผู้ประสานงานก่อนการเดินทาง ทั้งโปรแกรมการเดินทางและกำหนดการที่อยู่ในประเทศไทย ผลการตรวจว่าไม่พบเชื้อ ตั๋วเครื่องบินทั้งมาและกลับ ลงนามในหนังสือยินยอมยืนยันการปฏิบัติตามระเบียบที่รัฐบาลไทยกำหนด ฯลฯ โดยเมื่อเดินทางถึงไทยแล้ว จะต้องมีการกักตัว 14 วัน

ด้าน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยงและกีฬา มีแนวคิดจะให้นักท่องเที่ยวกักตัว 7 วันนั้น ขณะนี้ยังไม่เริ่ม โดยจะเริ่มจากการกักตัว 14 วันก่อน แล้วค่อยพิจารณาคลายมาตรการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ คาดว่าแนวทางเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) จะเข้ามีการหารือในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 อีกครั้งในวันที่ 28 ก.ย.นี้ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานด้วย

จับตา 28 ก.ย. "บิ๊กตู่" จ่อถก ศบค. เปิดประเทศรับนทท.แบบพิเศษ

สำหรับรูปแบบการเดินทาง นักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV)  จะเดินทางด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำขนาดเล็ก หรือ เครื่องบินส่วนตัว ทุกเที่ยวบินจะต้องผ่านความเห็นชอบจาก ศปก.กต. หรือ ศปก.ศบค. ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประมาณการรายได้จากจำนวนนักท่องเที่ยว คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 1,200 คนต่อเดือน รายได้อยู่ที่ 1,030,732,800 บาท และคาดว่า 1 ปี จะมีนักท่องเที่ยว 14,400 คน โดยประมาณการรายได้ 12,368,793,600 บาท

 

ท่ามกลางความกังวลของการแพร่ระบาดของโรค เพราะนานาชาติ ก็พบข้อมูลการแพร่ระบาดเพิ่มปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ประเทศไทยเรายัง ป้องกันและคุมเข้ม ประชาชนมั่นใจในระบบป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของไทย ว่าไม่เสี่ยงต่อการระบาดระลอก 2  ที่ผ่านมารัฐบาลสามารถป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยเป็นอันดับต้นๆของโลก  ดังนั้น ไทยจึงจะใช้โอกาสนี้ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากได้ผลกระทบตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

จับตา 28 ก.ย. "บิ๊กตู่" จ่อถก ศบค. เปิดประเทศรับนทท.แบบพิเศษ

ขณะที่ รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยและคณะที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า การลดเวลากักโรคโควิด-19 จาก 14 วันเหลือ 7 วันนั้น ยังไม่มีประเทศไหนเริ่มแนวคิดนี้แต่มีบางประเทศทางยุโรปเริ่มลดการกักตัวเหลือ 10 วัน

ส่วนเอเชียก็มีประเทศเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ส่วนไทยก็เริ่มศึกษาเรื่องนี้เช่นกัน เพราะจากการระบาดของโควิด-19 กว่า 10 เดือนที่ผ่านมา ทางการแพทย์พบข้อมูลว่าในผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการจะสามารถแพร่เชื้อเฉลี่ยอยู่ที่ 7-8 วัน หลังจากนั้น โดยเฉพาะวันที่ 10 เป็นต้นไป ยังไม่พบว่ามีการแพรเชื้อ อย่างไรก็ตาม การจะกักกันโรคน้อยกว่า 14 วันนั้นจะต้องมีตรวจหาเชื้อในช่องคอ (Swab) ว่ามีผลเป็นลบ และตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกัน (Anti body) หากพบว่ามีภูมิคุ้มกันก็จะหมายความว่าเคยติดเชื้อมาก่อน จนร่างกายสร้างภูมิได้ จึงเท่ากับว่า คนนั้นมีความปลอดภัยแล้ว

นพ.ทวี ยังกล่าวอีกว่า ถ้าจะมีการลดระยะเวลากักกันโรคจริงๆ ก็จะต้องเป็นโครงการนำร่อง เก็บข้อมูล อย่างจริงจัง โดยจะต้องเป็นลำดับ คือ กักตัวแค่ 10 วัน แล้วศึกษาข้อมูล ก่อนจะตัดสินใจได้ว่าจะลดเหลือ 7วันได้หรือไม่ มีความปลอดภัยอย่างไร เช่น เริ่ม 1 กลุ่ม ในการนำนักท่องเที่ยวเข้ามา 100 คน กักกันโรคในพื้นที่ปิดที่เป็นลักษณะเหมือนการมาเที่ยวพักผ่อนเป็นเวลา 10 วัน หลังจากนั้นศึกษาว่า มีการติดเชื้อหรือไม่หากไม่มีการติดเชื้อก็ถือว่าปลอดภัย แต่คงไม่ใช่ 100% เพราะในโลกไม่มีอะไรที่เต็มร้อย แต่หากเป็น 99.95% ตนคิดว่ามีความเป็นไปได้

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ