เปิด'พิมพ์เขียว'พล.ร.7รับศึกตะวันตก
แนวคิดการจัดตั้ง "กองพลทหารราบที่ 7" หรือ "พล.ร.7" ที่ จ.เชียงใหม่ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นการจัดตั้งกองกำลังเฉพาะกิจเพื่อหวังผลทางการเมือง
พูดง่ายๆ ก็คือ ถูกกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามมองว่าเป็น "หน่วยไล่ล่าเสื้อแดง" ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะ
ดังนั้น คณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ประธานกรรมาธิการ และส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย จึงให้ความสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ
แต่ พ.อ.ธงชัย สาระสุข ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผน กรมยุทธการทหารบก ในฐานะตัวแทนกองทัพบก ปฏิเสธว่า เป็นการกุข่าวกัน ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะทหารรู้ดีว่า แม้จะมี "กองกำลังพิเศษ" แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะประชาชนได้
สำหรับเหตุผลความจำเป็นในการจัดตั้งพล.ร.7 ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเสื้อแดง แต่มาจากการประเมินภัยคุกคามทางด้านทิศตะวันตก ตามเอกสารทบทวนยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหมเมื่อปี 2553
โดยเฉพาะข่าวสารที่ว่า ประเทศเพื่อนบ้านกำลังจัดตั้งเมืองหลวงแห่งใหม่ และการพัฒนาโครงการ "ปรมาณูเพื่อสันติ" โดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก "รัสเซีย" และ"เกาหลีเหนือ" ทั้งยังมีการสร้าง "อุโมงค์ลับ" กว่า 800 อุโมงค์ !!!
นอกจากนี้ ยังมีแนวความคิดที่จะจัดหา "เรือดำน้ำ" จากจีน และอินเดีย โดยได้ส่งกำลังพลไปศึกษาหลักสูตรเรือดำน้ำที่อินเดีย และมีแผนจัดส่งลูกเรือไปฝึกการบังคับการเรือดำน้ำที่จีนด้วย
ขณะเดียวกันยังเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารเป็นการใหญ่ เช่น มีการพิจารณาจัดหารถถังที 55 จากอินเดีย และที 72 จากรัสเซีย ประมาณ 300 คัน รวมทั้งการขอซื้อสิทธิบัตรการผลิตรถเกราะล้อยางบีทีอาร์ 3 จากยูเครนอีก 1,200 คัน
ที่สำคัญ ยังมีความพยายามจัดหา "จรวดสกั๊ด" ซึ่งสามารถยิงได้ในระยะตั้งแต่ 150-700 กิโลเมตร ขณะที่กองทัพอากาศ ก็มีการสั่งซื้อเครื่องบินรุ่น "มิก 29" ถึง 20 ลำ
เมื่อพิจารณาจากการทุ่มงบประมาณทางการทหารแล้วจะพบว่า เดิมมีการใช้งบประมาณคิดเป็นร้อยละ 3.5 ของจีดีพี แต่ในห้วง 4 ปีหลังที่ผ่านมา คาดว่าจะใช้งบประมาณทางการทหารมากกว่าร้อยละ 20 ของจีดีพี ซึ่งนับว่าสูงกว่าไทยมาก
เมื่ออีกฝ่ายเสริมสร้างกำลังรบอย่างขนานใหญ่จึงทำให้ "อำนาจการรบทางบกเปรียบเทียบ" ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 เปลี่ยนไป ซึ่งกำลังที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับความเสี่ยงในอนาคตได้
โดยหน่วยกองกำลังระดับ "กองพล" ในกองทัพภาคที่ 3 ปัจจุบันมีอยู่ 2 กองพล คือ 1.กองพลทหารม้าที่ 1 ซึ่งรับผิดชอบแนวชายแดนประมาณ 962 กม. และ 2.กองพลทหารราบที่ 4 (พล.ร.4) ซึ่งรับผิดชอบแนวชายแดนยาวประมาณ 1,056 กิโลเมตร
ที่สำคัญ กำลังบางส่วนยังต้องแบ่งลงไปปฏิบัติภารกิจใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จึงทำให้กำลังพลไม่เพียงพอต่อภารกิจ
ดังนั้น เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2553 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้จัดให้มีจัดการบรรยายสรุปเรื่องการพัฒนากองทัพของประเทศเพื่อนบ้าน และความจำเป็นในการพัฒนากองทัพไทย
โดยในการบรรยายดังกล่าวมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ร่วมรับฟังด้วย ซึ่งนายกฯ ก็เห็นชอบในหลักการจัดตั้งพล.ร.7 ส่วน รมว.กลาโหม ให้นโยบายการจัดตั้งกองบัญชาการพล.ร.7 ว่า ควรจัดตั้งในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน
นอกจากนี้ ยังให้กองทัพบกโอน "ปรับโอน" ระดับการบังคับบัญชาจาก พล.ร.4 (บางกรม)มาเป็นฐานในการจัดตั้ง พล.ร.7 เพื่อประหยัดงบประมาณ
พ.อ.ธงชัย ย้ำว่าการจัดตั้งพล.ร.7 เป็นแผนระยะยาว 10 ปี โดยมีความต้องการอัตรากำลังพลเมื่อครบโครงการประมาณ 1.6 หมื่นอัตรา และแบ่งแผนงานเป็น 4 ขั้นตอน
ขั้นที่ 1 (ในปี 2553) พิจารณาความเหมาะสม ศึกษากำหนดรูปแบบของภัยคุกคาม สถานภาพของพื้นที่ปฏิบัติการ เพื่อนำไปสู่การจัดตั้ง พล.ร.7
ขั้นที่ 2 (ในช่วงปี 2554-55) จัดตั้งบก.และร้อย.บก. พลร.7 และจัดตั้งบก. และร้อย.บก. "กรมทหารปืนใหญ่" ที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
ปรับการบังคับบัญชา "กรมทหารราบที่ 7" และ "กรมทหารราบที่ 17" ซึ่งเดิมเป็นของ พล.ร.4 มาเป็นหน่วยขึ้นตรงของ พล.ร.7 และปรับการบังคับบัญชา "กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 7" และ "กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 17" เป็นหน่วยในอัตราของกรมทหารปืนใหญ่ที่ 7
จัดตั้ง "กรมทหารราบที่ 14" เป็นกรมใหม่ ขึ้นตรงกับ พล.ร.4 เพื่อทดแทนหน่วยที่โอนไปให้กับ พล.ร.7 ในพื้นที่ อ.เมือง จ.ตาก
ขั้นที่ 3 (ในช่วงปี 2555-58) การจัดตั้ง "3 กองพันทหารราบ" ที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี และ อ.เมือง จ.ตาก และ "1 กองพันทหารปืนใหญ่" ที่ อ.เมือง จ.ตาก ทดแทนให้แก่ พล.ร.4
ขั้นที่ 4 (ในช่วงปี 2559-63) จัดตั้ง กรมทหารราบที่ 24 และ "1 กองพันทหารราบ" ที่ อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร ให้แก่ พล.ร.4
จัดตั้ง "1 กองพันทหารปืนใหญ่" ให้แก่ "กรมทหารปืนใหญ่ที่ 4" ที่ อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย จัดตั้ง "กรมทหารราบที่ 27" ที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และ "1 กองพันทหารราบ" ที่ อ.เมือง จ.พะเยา
จัดตั้ง "1 กองพันทหารราบ" ที่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน และ "1 กองพันทหารราบ" ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ให้แก่ พล.ร.7 และจัดตั้งกองร้อย และหน่วยต่างๆ ที่เหลือในส่วนฐานของกองพลที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
รวมทั้งอีก "1 กองพันทหารปืนใหญ่" ที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และ "1 กองพันทหารปืนใหญ่" ที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ให้แก่กรมทหารปืนใหญ่ที่ 7
เมื่อเป็นไปตามแผนจะทำให้ พล.ร.4 ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 3 กรม คือ กรมทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 7 และกรมทหารราบที่ 17 รวมทั้งหน่วยขึ้นตรง ต้องโอนมาให้ พล.ร.7 ถึง 2 กรม คือ กรมทหารราบที่ 7 และกรมทหารราบที่ 17 ดังนั้น จะต้องเสริมทดแทนให้พล.ร.4 อีก 2 กรม
ขณะที่ พล.ร.7 เมื่อจัดกำลังครบทั้ง 3 กรม จะรับผิดชอบพื้นที่ 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา และแม่ฮ่องสอน
ส่วน พล.ร.4 รับผิดชอบ 6 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ สุโขทัย ตาก พิษณุโลก กำแพงเพชร นครสวรรค์ และอุทัยธานี ขณะที่ พล.ม.1 จะรับผิดชอบจังหวัดที่เหลือ คือ น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์
นั่นคือ "พิมพ์เขียว" การจัดตั้ง พล.ร.7 ซึ่งกองทัพบกยืนยันว่า เป็นแผนรับมือภัยคุกคามจากรอบบ้าน ไม่ใช่กองกำลังไล่ล่าเสื้อแดง แต่จะจริงเท็จแค่ไหน จะลับ-ลวง-พราง เพื่อหวังผลในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่คาดกันว่าจะมีในต้นปี 2554 หรือไม่...อีกไม่นานคงได้รู้กัน
ทีมข่าวความมั่นคง