ประชุมรัฐสภาล่มอีก ร่างกฎหมาย 'จริยธรรมสื่อ' ติดดอย ไม่ได้ลงมติ
ที่ประชุมรัฐสภา ใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมง พิจารณา ร่างกฎหมาย 'จริยธรรมสื่อ' ไม่สามารถลงมติวาระแรกได้ สภาล่มเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ
การประชุมรัฐสภา ซึ่งมีวาระพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน นาย ตวง อัณฑะไชย สมาชิกรัฐสภา เสนอญัตติให้นำร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ขึ้นมาพิจารณาก่อนตามระเบียบวาระ
โดยให้เหตุผลว่าพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ รอแค่มติที่ประชุมเพื่อนำไปสู่การบังคับใช้ ต่างจากร่างกฎหมายอีกสองฉบับ ที่เพิ่งเข้าสู่วาระรับหลักการ ร่างกฎหมายการปฏิรูปการศึกษา กรรมาธิการทำงานมากว่าหนึ่งปี จำเป็นมากกว่าเพราะมีแผนงานที่เกี่ยวข้องกับผู้เรียนใหม่ การผลิตครูใหม่ และรูปแบบโรงเรียนแบบใหม่ ไม่ได้พูดถึงใครได้ใครเสียอำนาจ เป็นการเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน
การที่ที่ประชุมเปลี่ยนวาระตามอำเภอใจจะเป็นปัญหาในอนาคต ขอให้พิจารณาเรียงตามลำดับการประชุมเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา
นาย สมชาย แสวงการ วิปวุฒิสภา ระบุว่า ร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯยังค้างการพิจารณาอยู่ แม้จะผ่านไปเพียง 14 มาตรา แต่ก็ถือว่าใกล้สำเร็จแล้ว ถ้าพิจารณากันจริงจัง น่าจะเสร็จทันในสมัยประชุมนี้ แล้วตามด้วยการพิจารณาร่างกฎหมายจริยธรรมสื่อ และ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญเมื่อไปดูในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ปรากฏว่าไม่สามารถจัดระเบียบวาระการประชุมพิเศษ เช่นการประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้
การประชุมรัฐสภาต้องดำเนินไปตามวาระที่ค้างพิจารณา เป็นวาระต่อเนื่อง ขณะที่ ชินวรณ์ บุญเกียรติ รองประธานวิปรัฐบาล สนับสนุนให้พิจารณากฎหมายตามระเบียบวาระ อยากเห็นการปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จในสมัยประชุมนี้
นาย จิรายุ ห่วงทรัพย์ สส.เพื่อไทยในฐานะสมาชิกรัฐสภา อภิปรายสนับสนุนว่า หลักการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นวาระพิเศษ ต้องเป็นกรณีที่มีความสำคัญเร่งด่วน มีคำถามว่า ร่างกฎหมายจริยธรรมสื่อ มีความจำเป็นเร่งด่วนพอที่จะต้องนำมาพิจารณาวาระแรกเลยหรือไม่
จากนั้นมีผู้อภิปรายอีกหลายคน จนกระทั่ง นาย ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กลับมาทำหน้าที่ในที่ประชุม ระบุว่าไม่สามารถดำเนินการตามที่ นาย ตวง อัณฑะไชย ต้องการให้พิจารณาระเบียบวาระร่างพ.ร.บ.การศึกษา กลับมาพิจารณาได้ ต้องดำเนินการไปตามที่บรรจุวาระการประชุมนัดพิเศษไว้แล้ว เป็นการใช้อำนาจประธานเพื่อให้การประชุมพิจารณากฎหมายมีประสิทธิภาพในช่วงเวลารัฐสภาที่เหลืออยู่ที่ประชุมจึงเริ่มต้นการพิจารณาวาระแรก ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน โดยมี นาย ธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ชี้แจงหลักการและเหตุผลร่างกฎหมาย ครั้งแรกในรัฐสภา
ที่ประชุมรัฐสภา ใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมง พิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ.... สมาชิกรัฐสภา ส่วนใหญ่อภิปรายไปในทางที่ไม่เห็นด้วยกับการมีกฎหมายฉบับนี้ ก่อนลงมติว่าที่ประชุมรัฐสภา จะรับหรือไม่รับหลักหลักการ วาระแรก ต้องตรวจสอบองค์ประชุมก่อน ใช้เวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงในการรอสมาชิกรัฐสภา ในที่สุดก็ไม่สามารถลงมติได้ เนื่องจากสมาชิกไม่ครบองค์ประชุม 334 คน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จึงสั่งปิดประชุม ทำให้ต้องเลื่อนวาระการลงมติ ไปบรรจุในวาระปกติ ต่อไป