กกต.เดินหน้า 'แบ่งเขตเลือกตั้ง' ไม่รอคำสั่ง 'ศาลรัฐธรรมนูญ'
ตุลาการ 'ศาลรัฐธรรมนูญ' จะพิจารณาคำร้องของกกต.วันพรุ่งนี้ แต่การ 'แบ่งเขตเลือกตั้ง' ยังคงดำเนินการไปตามแผนงานเดิม
การแบ่งเขตเลือกตั้งยังเป็นไปตามแผนงานตามเดิมของ กกต.ซึ่งจะเริ่มพิจารณาแบ่งเขตเลือกตั้งรายจังหวัดตามเดิมในวันนี้ และหากมีกรณีที่ต้องแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ กกต. ก็ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้วเช่นกัน โดยได้มีหนังสือสั่งการให้ทุกจังหวัดเตรียมการไว้แล้ว
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต.ยืนยันว่าการคำนวณราษฎรทั้งประเทศเพื่อกำหนดจำนวน สส. ที่แต่ละจังหวัดพึงมีเพื่อแบ่งเขตเลือกตั้งตามที่สำนักงาน กกต. เสนอมานั้น เป็นการปฏิบัติโดยชอบ ตามลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 และเป็นแนวทางที่ปฏิบัติมาโดยตลอด
แต่เมื่อสังคมสงสัยกับหน้าที่และอำนาจของ กกต. จึงส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ประกอบ พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 (2) มาตรา 41 (4) และมาตรา 44 ซึ่งมิใช่การส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่เป็นการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
มีรายงานว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคำร้องของกกต.ในการประชุม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญบอกคมชัดลึกว่า จะใช้เวลาในพิจารณาไม่นานนัก เว้นแต่จะมีประเด็นข้อสงสัยเพิ่มเติม แต่ก็จะดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ ภายในสัปดาห์นี้
สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้งชี้ว่าหากศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า กกต.คิดถูก ก็เป็นหลังพิงให้ กกต.ทำงานต่อโดยสะดวก ทุกฝ่ายไม่ต้องห่วงว่าจะมีคนไปร้องให้เลือกตั้งเป็นโมฆะภายหลัง
หากศาลบอกว่าผิด ก็ยังมีเวลาแก้ไข คำนวณจำนวน สส.ในแต่ละจังหวัดใหม่ได้ทัน และน่าจะกระทบอยู่แค่ 6 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ตาก เชียงราย ที่ต้องลด 1 คน และ อุดรธานี ลพบุรี และ ปัตตานี ที่ได้เพิ่มอีก 1 คน จังหวัดอีก 71 จังหวัดที่เหลือไม่กระทบ
หากศาลบอกว่า กกต.ผิด 6 จังหวัดนี้ก็ต้องแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ล่าช้าไปอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ แต่หาก กกต. ทำงานเชิงรุก สั่งการให้ทำล่วงหน้า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ก็หยิบรูปแบบใหม่มาประกาศได้ทันที และทุกอย่างยังอยู่ในตาราง ไม่คลาดเคลื่อนไปมาก
แม้จะช้าไปหน่อย แต่ดีกว่าเสียหายมากในอนาคต แต่หากไปทำลายแผนร้องเลือกตั้งเป็นโมฆะของใคร ก็ขออภัยด้วย