ข่าว

เรืองไกร ยื่น ประธานรัฐสภา ยับยั้ง เสนอ 'พิธา' โหวตนายกรัฐมนตรี ฟันธงขัดรธน.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ความพยายามในการเสนอชื่อ "พิธา" เข้าสู่กระบวนการ " โหวตนายกรัฐมนตรี " รอบสอง เจอขวากหนามรอบด้าน เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ แห่ง พลังประชารัฐ ร้องประธานรัฐสภา ระบุการเสนอชื่อหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นครั้งที่สอง เสี่ยงขัดต่อรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ  เปิดเผยว่า ได้ยื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภา เพื่อพิจารณายับยั้งการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อพิจารณาเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2  หรือ   " โหวตนายกรัฐมนตรี " ในการประชุมรัฐสภา วันพุธที่ 19 ก.ค.  เนื่องจากนายพิธา ไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือถูกตีตกไปแล้ว   ในขณะที่ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล  ยังจะให้โอกาสนายพิธา เป็นครั้งที่ 2 จึงเห็นว่า อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา

 

 

 

ทราบว่าขณะนี้ฝ่ายกฎหมายของรัฐสภา อยู่ระหว่างการศึกษาว่า ญัตติที่ถูกรัฐสภาตีตกไปแล้ว รัฐสภาจะสามารถพิจารณาใหม่ในสมัยประชุมเดิม เว้นแต่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 ได้หรือไม่    โดยตามกระบวนการ จะต้องไปพิจารณาข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 36 ประกอบ 136 เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี   "โหวตนายกรัฐมนตรี"  สส.จะต้องเสนอรายชื่อบุคคล ที่มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

แต่กรณีของนายพิธานั้น ได้ถูก คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม จากการถือครองหุ้นสื่อมวลชนแล้ว ดังนั้น จึงไม่ควรเสนอชื่อนายพิธา ตั้งแต่การประชุมรัฐสภาครั้งแรก  คือ  13 ก.ค. ที่ผ่านมาแล้ว และในการประชุมวันพุธที่ 19 ก.ค.    สส. และ สว.  ควรระมัดระวังในการลงมติด้วย

 

 

เพราะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 89 ระบุไว้ว่า การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี จะต้องมีคุณสมบัติถูกต้อง แต่หาก นายพิธา ที่มีตำหนิแล้ว รัฐธรรมนูญให้ถือว่า ไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น ซึ่งหากกระบวนการรัฐสภา ยังจะรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะมีผลกระทบต่อการนำชื่อผู้ขาดคุณสมบัติขึ้นทูลเกล้าฯ ได้  ส่วนประธานรัฐสภา จะสามารถใช้อำนาจชี้ขาดให้ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เสนอชื่อนายพิธาซ้ำอีกครั้งได้หรือไม่นั้น   เห็นว่า ตามคำร้องที่ยื่นยับยั้งนั้น ประธานรัฐสภา ไม่สามารถใช้อำนาจได้ พร้อมขอให้ประธานรัฐสภา ฟังความเห็นทางกฎหมายจากนายพรเพชร วิชิชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา หรือฝ่ายกฎหมายของรัฐสภา เป็นหลักด้วย เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญทางกฎหมายมากกว่า 

 

 


 
นายเรืองไกร    กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ตนได้นำรายชื่อ สส. และ สว.ที่ลงมติสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ตรวจสอบแล้ว ซึ่งหากในวันที่ 19 ก.ค. นี้ ส.ส. และ ส.ว.คนใด จะยังลงมติสนับสนุน ตนก็จะยื่นรายชื่อเพิ่มเติมให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบการทำหน้าที่ต่อไป 

 

 

 

นายเรืองไกร   กล่าวด้วยว่า กรณีที่มีมวลชนกดดันกดให้สส. ที่ลงมติงดออกเสียง ให้กับนายพิธา รวมไปถึงผู้บัญชาการเหล่าทัพ ที่ไม่ได้เดินทางไปร่วมประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติ  ขอให้ลาออกจากตำแหน่ง  เห็นว่าการลงมติงดออกเสียงของสมาชิกวุฒิสภา เป็นไปตามเอกสิทธิ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงขอให้มวลชนที่เรียกร้องดังกล่าว ไปศึกษากฎหมายด้วย ไม่ใช่เพียงแสดงความคิดเห็นกล่าวหาผู้อื่นเท่านั้น เพราะอาจจะมีความผิดทางอาญาด้วย 

 

 

 


ส่วนกรณีที่มีการเรียกร้องให้นายเรืองไกร ตรวจสอบการถือครองทรัพย์สินของนายชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ที่พบเคยถือครองหุ้นบริษัทแห่งหนึ่ง ที่มีชื่อกิจการคล้ายกับการประกอบธุรกิจสื่อมวลชนนั้น   ตนเองได้ไปตรวจสอบการประกอบธุรกิจดังกล่าวของนายชาดาแล้ว แต่ไม่พบข้อมูลในกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงยังไม่สามารถตรวจสอบได้ พบเพียงบริษัทที่มีชื่อใกล้เคียงกัน ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงยังไม่เพียงพอ และต้องรอรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม และย้ำว่า จะติดตามตรวจสอบเรื่องดังกล่าวต่อ และการจะตรวจสอบใด ๆ นั้น จะตองพิจารณาถึงข้อเท็จจริง มีที่มาที่ไป 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ