ไลฟ์สไตล์

พก. MOU บัตรประจำตัวประชาชน แบบอเนกประสงค์ ใช้แทนคนพิการ

พก. MOU บัตรประจำตัวประชาชน แบบอเนกประสงค์ ใช้แทนคนพิการ

26 ธ.ค. 2561

...

พก. MOU บัตรประจำตัวประชาชน แบบอเนกประสงค์ (Smart Card) ใช้แทนคนพิการ มอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2562 สำหรับคนพิการทั่วประเทศ

วันนี้ (25 ธ.ค. 61) เวลา 14.00 น. ณ ห้องภานุมาศ ชั้น 10 โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพมหานคร นางธนาภรณ์  พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อการใช้บัตรประจำตัวประชาชน แบบอเนกประสงค์ (Smart Card) แทนบัตรประจำตัวคนพิการ โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ร่วมกับกรมการปกครอง และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บูรณาการข้อมูลคนพิการของประเทศไทย 
เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2562 สำหรับคนพิการทั่วประเทศ โดยมี ผู้แทนกรมการปกครอง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ องค์กรคนพิการ คนพิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน

นางธนาภรณ์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้คนพิการทุกประเภทมีศักยภาพ ดำรงชีวิตอิสระ สู่สังคม อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ตามมาตรา 20 ว่าด้วยสิทธิและสวัสดิการด้าน
คนพิการ ทางด้านการแพทย์ การศึกษา อาชีพทางสังคม การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก บริการล่ามภาษามือ สัตว์นำทาง เบี้ยความพิการ ผู้ช่วยคนพิการ การปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย และคนพิการที่ไม่มีผู้ดูแล ให้มีสิทธิได้รับการจัดสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัยและการเลี้ยงดูจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งคนพิการจะได้รับสิทธิสวัสดิการต่างๆ ได้โดยการยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการต่อนายทะเบียน ทั้งนี้ พก. ได้พัฒนาระบบงานคอมพิวเตอร์เพื่อการให้บริการออกบัตรประจำตัวคนพิการแบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้คนพิการสามารถพกพาบัตรประจำตัวคนพิการ แทนสมุดประจำตัวได้อย่างสะดวก ซึ่งเริ่มใช้งานมาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน

นางธนาภรณ์ กล่าวต่อไปว่า จากนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นให้หน่วยงานราชการปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการปฏิบัติงาน เพื่อปรับรูปแบบของระบบราชการ ให้น่าเชื่อถือ ไว้วางใจได้ และเป็นที่พึ่งของประชาชน พก. จึงได้ร่วมกับ กรมการปกครอง และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บูรณาการข้อมูลคนพิการของประเทศไทยเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับคนพิการ ในวันนี้ จึงได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการใช้บัตรประจำตัวประชาชน แบบอเนกประสงค์ (Smart Card) แทนบัตรประจำตัวคนพิการ “ทุกสิทธิคนพิการ ผ่านบัตรประชาชนใบเดียว : One Card All Rights” ซึ่งบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการบูรณาการข้อมูลสู่ Big Data ด้วยการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงฐานข้อมูลของ 3 หน่วยงาน ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และนำข้อมูลมาใช้ปรับปรุงงานบริการภาครัฐ คนพิการสามารถใช้บัตรประจำตัวประชาชนใบเดียวในการติดต่อราชการและรับสิทธิสวัสดิการต่างๆ ของภาครัฐได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนพิการในการเข้าถึงบริการภาครัฐได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นและลดการใช้เอกสาร 

กรมการปกครอง ในฐานะหน่วยงานหลักในการพัฒนาระบบบูรณาการฐานข้อมูลประชาชน และการบริการภาครัฐ (Linkage Center) โดยใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เป็นดัชนีในการจัดเก็บข้อมูลและมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักบริหารการทะเบียน ทำระบบให้บริการตรวจสอบข้อมูล (Services) และปรับปรุงระบบการให้บริการทำบัตรประจำตัวคนพิการ รองรับการใช้บัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) และเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อทดแทนการใช้สำเนาเอกสาร พร้อมกับให้การสนับสนุนเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างฐานข้อมูลประชาชน ฐานข้อมูลสุขภาพ ฐานข้อมูลคนพิการ และสนับสนุนการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน ให้กับคนพิการที่ยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ด้านการรักษาพยาบาล การสนับสนุนการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้กับคนพิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อการใช้บัตร Smart Card ในการรับสิทธิสวัสดิการภาครัฐ ได้ทำการแลกเลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลกับ สปสช. เพื่อเปลี่ยนแปลงสิทธิประกันสุขภาพ และจัดส่งข้อมูลคนพิการให้กับสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง เพื่อบันทึกลงในบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Chip Smartcard) ทั้งนี้ สปสช. ได้เพิ่มช่องทางการตรวจสอบข้อมูลรายบุคคล ผ่าน Web services เพื่อลดผลกระทบการใช้สิทธิการรักษาพยาบาล ในกรณี ที่คนพิการต้องรับบริการฉุกเฉิน ณ โรงพยาบาล และหน่วยบริการของ สปสช. เพื่อให้การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างครอบคลุม ทั่วถึง คนพิการได้รับความสะดวกในการติดต่อราชการ ทั้งนี้ ในปี 2562 คนพิการสามารถใช้บัตรประชาชน ในการติดต่อลงทะเบียนคนพิการ เพื่อรับสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ ได้ที่ศูนย์บริการคนพิการทุกแห่งทั่วประเทศ โดยจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 25 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไป ซึ่ง พก. ได้พัฒนาระบบงานสำหรับให้หน่วยงานตรวจสอบข้อมูลคนพิการผ่านทาง www.dep.go.th  หรือ Web services ของ พก. ได้ตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน และผ่านทางระบบ Linkage Center ของกรมการปกครอง

“บันทึกข้อตกลงนี้ เพื่อให้คนพิการสามารถใช้บัตรประจำตัวประชาชนในการเข้ารับบริการกับหน่วยงานภาครัฐได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เป้าหมายเป็นคนพิการที่ขอมีบัตรประจำตัวคนพิการทั่วประเทศ จำนวน 1,740,000 คน รวมถึงจะเป็นกรอบสำคัญในการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนสิทธิการรักษาพยาบาลของคนพิการ ให้เข้าถึงสิทธิอย่างมีคุณภาพ ได้รับบริการด้านสุขภาพได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง โดยไม่ต้องกังวลเรื่องภาระค่าใช้จ่าย นับเป็นการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับคนพิการ โดยสามารถติดต่อขอรับ “บริการทางการแพทย์” ได้ที่สถานพยาบาลของรัฐ หรือสถานพยาบาลในกำกับของรัฐ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งจะได้รับสิทธิฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งในและนอกหน่วยบริการ” นางธนาภรณ์ กล่าวในตอนท้าย
//////////////////////////////////////////