ข่าว

ชาววังสมบูรณ์-วังน้ำเย็น ต้านโรงงาน-โรงไฟฟ้าชีวมวล

ชาววังสมบูรณ์-วังน้ำเย็น ต้านโรงงาน-โรงไฟฟ้าชีวมวล

21 ส.ค. 2559

ชาวบ้าน อ.วังสมบูรณ์-วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว ติดป้ายต้านโรงงานและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่สีเขียว นักวิชาการชี้ เป็นสารก่อมะเร็งตัวแทนโรงงานแจง ไม่มีน้ำเสียสู่ภายนอก

               เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านและประชาชนในพื้นที่ อ.วังสมบูรณ์ ,วังน้ำเย็น และคลองหาด จ.สระแก้ว ร่วมกันออกมาขึ้นป้ายเพื่อต่อต้านการก่อสร้างโรงงานและโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 60 เมกกะวัตต์ ในพื้นที่สีเขียว ภายหลังจากบริษัทน้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีโรงงานในพื้นที่ อ.วัฒนนคร เตรียมขยายโรงงานและโรงไฟฟ้าชีวมวล มาตั้งในพื้่นที่ดังกล่าว และกำหนดจัดให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในวันที่ 25 สิงหาคม 2559 เวลา 08.00-13.00 น. ที่สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น ต.วังใหม่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว 

ชาววังสมบูรณ์-วังน้ำเย็น ต้านโรงงาน-โรงไฟฟ้าชีวมวล

               โดยชาวบ้านและประชาชนจำนวนมาก ออกมาคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เนื่องจากเกรงว่า จะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาน้ำเสียในอนาคต และพื้นที่ต้นน้ำภาคตะวันออก เนื่องจากมีการร้องเรียนและเกิดปัญหาด้านมลพิษในพื้นที่เดิมของโรงงานในปัจจุบัน จึงรวมตัวกันขึ้นป้ายเพื่อคัดค้านทั่วพื้นที่ มีเนื้อหาใจความว่า "รวมพลัง...ปกป้องลูกหลาน ร่วมต้านโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงงานในพื้นที่สีเขียว" และ "รักลูก.. ห่วงหลาน ร่วมต้านโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงงานในพื้นที่สีเขียว"

ชาววังสมบูรณ์-วังน้ำเย็น ต้านโรงงาน-โรงไฟฟ้าชีวมวล

               ซึ่งนายสุทธิรักษ์ วันเพ็ญ ในฐานะตัวแทนและกลุ่มชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งโรงงานในพื้นที่สีเขียว กล่าวว่า ตนเองและชาวบ้านผู้ร่วมกันลงชื่อ ยื่นหนังสือกราบเรียน พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ กองอำนวยการร่วมรับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ทำเนียบรัฐบาล กรณีชาวบ้านอำเภอวังสมบูรณ์ และอำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว ขอคัดค้านการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล และไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 60 เมกกะวัตต์ ตั้งอยู่ในพื้นที่สีเขียว ซึ่งกฏหมายกำหนดห้ามไว้ ตาม พ.ร.บ.ผังเมือง เนื่องจากประชาชนเกรงว่า จะเกิดปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมตามมาในอนาคต ตามหนังสือร้องเรียนนั้น จนมีการยกเลิกการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวในพื้นที่เดิม และมีความพยายามยื่นเรื่องขอก่อสร้างในพื้นที่ใหม่อีกครั้ง

ชาววังสมบูรณ์-วังน้ำเย็น ต้านโรงงาน-โรงไฟฟ้าชีวมวล  

               ตัวแทนชาวบ้านและประชาชนในพื้นที่ ระบุว่า ขณะนี้ชาวบ้านยังไม่รู้ข้อมูีลผลกระทบมากนัก ภายหลังจากที่ได้กระจายข้อมูลและบอกต่อกัน ชาวบ้านจำนวนมากไม่ต้องการให้มีโรงงานในพื้่นที่ โดยเฉพาะเกษตรที่เลี้ยงโคนม ทำไร่ ทำสวนผัก และไม่ได้ทำอาชีพเกษตรกรรม โดยหลังจากนี้เราจะร่วมกันรณรงค์คัดค้านอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรงงานและอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพอากาศ หากปล่อยให้ทำแล้ว โอกาสที่จะแก้ไขทำได้ยาก มีตัวอย่างมาแล้วหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ฉะนั้นพื้นที่สีเขียวจะต้องคงอยู่ เพื่อคุณภาพชีวิตของลูกหลาน 

               "สถานที่สร้างโรงงานมีมากมายที่เขาจัดไว้ให้ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว มีระบบดูแลชัดเจน การนิคมฯ ควบคุมดูแล ควรไปสร้างตรงนั้น หากมาสร้างในพื้นที่ชุมชน ถ้าชุมชนไม่เข้มแข็ง มลพิษจากการลดต้นทุนจะค่อย ๆ โผล่ออกมาจนแก้ไขอะไรไม่ได้ ชาวบ้านเป็นฝ่ายรับกรรมในที่สุด มีตัวอย่างชัดเจนในพื้นที่ ต.ห้วยโจด และตำบลรอบ ๆ อีก 3-4 ตำบล ได้รับผลกระทบมานานจนอยู่กันไม่ได้ คนที่อยู่ได้คือต้องทนอยู่รับกรรม เราจะต้องไม่ปล่อยให้วังสมบูรณ์และวังน้ำเย็น อยู่ในสภาพนั้นเด็ดขาด" ตัวแทนชาวบ้านและประชาชนในพื้นที่ กล่าว

ชาววังสมบูรณ์-วังน้ำเย็น ต้านโรงงาน-โรงไฟฟ้าชีวมวล

               ด้านนายสมิทธิ์ เย็นสบาย คณะทำงานเครือข่ายสมัชชาองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม จังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า กรณีการสร้างโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ที่ตำบลวังสมบูรณ์ เป็นอุตสาหกรรมประเภทที่ 3 หมายถึงเป็นโรงงานประเภทที่มีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม จึงแปลกใจว่าเหตุใด นายทุนโรงงานนี้ จึงพยายามไปลงทุนในพื้นที่ต้นน้ำของภาคตะวันออก ทั้งๆ ที่สระแก้วมีการประกาศให้สิทธิประโยชน์มากมายในการส่งเสริมการลงทุน นอกจากนี้ ยังทราบว่า จะมีการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลใกล้ๆ กับโรงงานโคนมวังน้ำเย็น ที่แปรรูปนมโรงเรียนสำหรับเด็กเล็ก ซึ่งนับว่า เป็นเรื่องที่น่าห่วงใย และอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์-ชื่อเสียง หรือเสี่ยงต่อสารตกค้างในนมโรงเรียนได้

               นายสมิทธิ์ กล่าวอีกว่า จากการศึกษาของ ดร. ชัชวาลย์ จันทรวิจิตร อาจารย์จากภาควิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร พบว่า มลพิษและสิ่งคุกคามสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่สำคัญ คือ ฝุ่นละออง โรงไฟฟ้าชีวมวลจะทำให้เกิดฝุ่นขนาดเล็ก ที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ การลดลงของประสิทธิภาพการทำงานของปอด การเพิ่มอัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ด้วยโรคระบบทางเดินหายใจและโรคหัวใจ และการเพิ่มขึ้นของสถิติการเสียชีวิต ด้วยโรคปอดและหัวใจ 

               "โรงไฟฟ้าชีวมวล จะทำให้เกิดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) และก๊าซคาร์บอนมอนอคไซด์ (CO) รวมถึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนด้วย แต่ในกระบวนการปลูกพืชชีวมวล ได้มีส่วนช่วยดูดซับก๊าซนี้ในปริมาณที่ใกล้เคียงกับปริมาณที่เกิดขึ้นในระหว่างการเผา นอกจากฝุ่นและก๊าซพิษแล้ว ควันจากการเผาชีวมวล ยังมีสารอื่นอีกนับพันชนิด ซึ่งในจำนวนนี้หลายชนิดเป็นสารที่อยู่ในกลุ่มสารอันตรายต่อสุขภาพ และบางชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง" นายสมิทธิ์ กล่าวและว่า 

               โรงไฟฟ้าชีวมวล จำเป็นต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก สำหรับปรับลดอุณหภูมิของระบบผลิตกระแสไฟฟ้า จึงอาจทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำของชุมชน และสร้างผลกระทบต่อการเกษตรในพื้นที่ น้ำทิ้งจากโรงไฟฟ้า อาจมีอุณหภูมิสูงจนสร้างผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ และรบกวนระบบนิเวศน์ของแหล่งน้ำในพื้นที่ได้ ส่วนขี้เถ้าจากโรงไฟฟ้า อาจมีสารโลหะหนักปนเปื้อนอยู่ ถ้าจัดการไม่ดีอาจสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ได้ 

               นอกจากนี้ นายสมิทธิ์ ยังระบุอีกว่า ประชาชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าอาจได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากกลิ่นเหม็น ฝุ่นละอองที่ทำให้บ้านเรือนและสิ่งของเครื่องใช้สกปรก รวมถึงความเครียดจากความรู้สึกไม่ปลอดภัย และวิตกกังวลต่อผลกระทบต่อสุขภาพของตนเอง และครอบครัว สุดท้ายหากวัตถุดิบชีวมวลไม่เพียงพอ เจ้าของอาจจะนำถ่านหินมาใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกกำลังยกเลิกการใช้พลังงานที่สกปรก เหล่านี้ทั่วโลกแล้ว

               นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา กล่าวว่า ผลจากการส่งเสริมการปลูกอ้อย เพื่อใช้เป็นพืชพลังงานผลิตเอทานอล และการโฆษณาชวนเชื่อของโรงงานใน จ.สระแก้ว ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อยมากขึ้น จนมีผลผลิตอ้อยปีละถึง 4.5 ล้านตัน แต่โรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เพียงแห่งเดียว สามารถรองรับผลผลิตได้เพียง 3.5 ล้านตันต่อหนึ่งฤดูกาล จนเกิดการผูกขาด เกษตรกรจึงต้องขนอ้อยสดไปขายนอกพื้นที่ เช่น ชลบุรี บรีรัมย์ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น กระทบเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยทั้งใน จ.สระแก้ว และข้างเคียงมากกว่า 1,000 ราย ตนเห็นด้วยที่จะให้มีการขยายโรงงานเพื่อรองรับผลผลิต แต่ควรเปิดโอกาสให้บริษัทอื่น ๆ เข้ามาด้วย และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะก่อสร้างในพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ต้นน้ำ สระแก้วมีเขตเศรษฐกิจแล้ว ควรไปสร้างกันตรงนั้น เพื่อการควบคุมที่ดีและไม่เกิดปัญหามลพิษ มีหน่วยงานควบคุมดูแลชัดเจน 

               "ที่น่ากลัวที่สุดคือ ผลิตภัณฑ์นม ซึ่งมีสหกรณ์โคนมเพียงแห่งเดียวในพื้นที่ ซึ่งอยู่ใกล้ที่สุด และมีเกษตรกรจำนวนมาก ประกอบอาชีพเลี้ยงวัวนมในพื้นที่ อ.วังสมบูรณ์และวังน้ำเย็น จ.สระแก้ว มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อมทางอากาศที่เป็นพิษ และถูกต่อต้านจากแหล่งรับซื้อผลิตภัณฑ์นมจากทั่วประเทศ โดยเฉพาะนมโรงเรียน เพราะกลัวสารปนเปื้อน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก" นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา กล่าว

               ทางด้านนายกิตติ บุญจำนงค์ เจ้าหน้าที่โครงการ บริษัทน้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า โครงการก่อสร้างโรงงานในพื้นที่วังสมบูรณ์ เป็นการขยายโรงงานเพื่อรองรับผลผลิตของเกษตรให้ได้รับความสะดวกขึ้น โดยในช่วงแรกที่มีการเสนอพื้นที่ก่อสร้างจุดแรก และถูกชาวบ้านร้องคัดค้านว่า เป็นพื้นที่สีเขียว จึงย้ายจุดก่อสร้างมาเป็นจุดใหม่ ด้่านหลังสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น ซึ่งได้มีการตรวจสอบแล้วว่า เป็นพื้นที่สีม่วง ประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า ตามกฏกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหว้ัดสระแก้ว เมื่อ 26 ก.ค.2558 ซึ่งสามารถตั้งโรงงานได้ รวมทั้งได้จัดซื้อที่ดินไว้แล้ว

               นายกิตติ กล่าวอีกว่า หลังจากได้ทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ครั้่งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2559 แล้ว จึงมีการเตรียมจัดประชุมเพื่อทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งได้ให้บริษัทที่ปรึกษาฯดำเนินการ เพื่อให้ชาวบ้านพิจารณาในวันที่ 25 สิงหาคม 2559 นี้ว่า ชาวบ้านกังวล ห่วงใยหรือกลัวอะไร จะได้เข้าใจตรงกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการคัดค้านบ้าง แต่ส่วนมากอยากให้เรามา ชาวบ้านอยากให้สร้าง เพราะเกษตรกรสามารถลดต้นทุนด้านการขนส่ง ส่วนปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น เค้ากลัวฝุ่น ควันและน้ำเสีย ซึ่งระบบของเรามีการจัดการที่ดี โดยเฉพาะที่ห้วยโจด อ.วัฒนานคร มีการจัดการน้ำเสียด้วยระบบปิด ไม่มีน้ำเสียออกสู่ภายนอก ซึ่งเราอยากให้เข้าไปดู

               "สำหรับโครงการก่อสร้างขยายโรงงานแห่งใหม่นี้ หลังการจัดประชุมรับฟังความเห็นครั้งที่ 2 แล้ว ก็จะนำเรื่องเข้าคุยในคณะกรรมการ เพื่อเข้าชี้แจงตอบข้อซักถามกับสำนักนโยบายและแผน (สผ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตามระเบียบการจัดทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เพื่อตอบข้อซักถามต่าง ๆ เช่น ทิศทางน้ำ ข้อพิจารณาต่าง ๆ ทั้งหมด ซึ่งถ้าการจัดประชุมครั้งนี้ไม่เกิดปัญหา ก็สามารถสรุปส่งคณะ สผ.เข้าคิวเพื่อชี้แจง และตอบตามข้อเท็จจริงตรงกับรายงานการศึกษาและปฏิบัติตรงตามกฏหมายที่กำหนดหรือไม่ เมื่อผ่านการพิจารณาก็คาดว่า จะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2561 ซึ่งขึ้นกับผู้บริหารที่จะพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง " นายกิตติ กล่าวทิ้งท้าย